อากาศในเอเชียไม่สะอาด ต้นเหตุมาจากตะวันตก?
อากาศในเอเชียไม่สะอาด ต้นเหตุมาจากตะวันตก
ทีมวิจัยที่นำทีมโดยนักวิจัยชาวจีนได้ลงบทความเกี่ยวกับปรากฏการที่ละอองมลพิษ ส่งผลต่อสภาพอากาศของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในวารสาร Nature Geoscience ของอังกฤษ โดยกล่าวว่ามีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะการค้าระหว่างประเทศนั้นทำให้ผลกระทบเหล่านี้โอนถ่ายจากประเทศที่เป็นผู้บริโภคมายังประเทศที่เป็นผู้ผลิต
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน และมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ของแคนาดาได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของละอองมลพิษจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ พบว่าความจำเป็นในการขนส่งและความต้องการในการผลิต รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคส่งผลให้เกิดมลพิษจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
มลพิษเหล่านี้มักเป็นเหตุของการกระจายตัวและแพร่ไปในอากาศของอนุภาคของแข็งหรือละอองน้ำขนาดเล็ก อนุภาคเหล่านี้ถูกเรียกว่าละอองลอย หรือ แอโรซอล (aerosol) โดยละอองลอยที่อยู่ในมลพิษนั้นจะเปลี่ยนแปลงสมดุลของระบบสภาพภูมิอากาศและทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปผ่านกระบวนการดูดซึมและการกระเจิงรังสีรวมไปถึงการทำปฏิกริยากับเมฆและน้ำฝน หรือที่เรียกกันว่า องค์ประกอบของแรงปล่อยรังสี (radiative forcing) นั่นเอง
ทีมวิจัยได้ทำการวิจัย 11 ภูมิภาคทั่วโลกที่การปล่อยมลพิษมีความเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและบริการ โดยได้เปรียบเทียบผลกระทบของการปล่อยมลพิษที่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตกับการปล่อยมลพิษที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ และพบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศจีนเป็นพื้นที่สำคัญของผู้ส่งออกสินค้าประเภทที่ก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมาก
จึงเห็นได้ว่าองค์ประกอบของแรงปล่อยรังสี ที่เกิดมาจากการผลิตนั้นสูงมากกว่าที่เกิดมาจากการบริโภค ในขณะที่ภูมิภาคที่นำเข้าสินค้าประเภทที่ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษอย่างเช่นยุโรปตะวันตกอเมริกาเหนือและ บางประเทศในเอเชียแปซิฟิกเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลับมีผลตรงกันข้าม
นักวิจัยกล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบของแรงปล่อยรังสี กำลังถ่ายโอนจากภูมิภาคของประเทศที่พัฒนาแล้วมายังภูมิภาคของประเทศที่กำลังพัฒนา
ทีมวิจัยเชื่อว่าการถ่ายโอนของมลพิษทางอากาศในทั่วโลกรวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตทางเศรษฐกิจแต่ยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งทีมวิจัยหวังว่า ทุกฝ่ายจะเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือด้านการค้าและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น