เลอค่า! ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรกระท่อมทั่วโลก
ได้รับทราบมานานแล้ว ญี่ปุ่นกว้านซื้อตำราแพทย์แผนไทยแถววัดโพธิ์ไปเป็นจำนวนมาก แล้วไปทำเป็นสูตรยาของตนเอง แล้วยังกว้านซื้อสมุนไพรไทยจำนวนมากไปจดสิทธิบัตรของตนเองด้วย
"กระท่อม" เป็นรายการล่าสุด
บริษัทญี่ปุ่นยื่นเสนอจดสิทธิบัตรกระท่อมเพิ่มทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยแล้ว หลังจากได้จดสิทธิบัตรสารสกัดจากกระท่อมในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาจำนวน 3 สิทธิบัตรก่อนหน้านี้ การละเลยของรัฐบาลไทยและการปล่อยปละเลยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำให้ความฝันสร้างประเทศไทย 4.0 จากการได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมกลายเป็นความฝันที่ว่างเปล่า ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee
เมื่อสองปีที่แล้วเอ็ดเวิร์ด แฮมมอนด์ ได้เผยแพร่บทความเปิดเผยกรณีบริษัทของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยชิบะ (National University Corporation Chiba University) และมหาวิทยาลัยโจไซ ( Josai University Corporation) จดสิทธิบัตรสารและอนุพันธ์ซึ่งได้จากใบกระท่อมพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่ใน TWN Info Service on Intellectual Property Issues การจดสิทธิบัตรดังกล่าวเป็นข่าวเล็กๆในสื่อมวลชนบางฉบับในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา และข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้เงียบหายไปโดยปราศจากความใส่ใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สถานะของสิทธิบัตร
ไบโอไทยพบว่านอกจากญี่ปุ่นได้รับสิทธิบัตรจำนวน 3 สิทธิบัตร คือ สิทธิบัตรสหรัฐ US patent 8247428 เมื่อปี 2012 สิทธิบัตรญี่ปุ่น patent 5308352 เมื่อปี 2013 และสิทธิบัตรสหรัฐ US patent 8648090 เมื่อปี 2014 แล้ว ขณะนี้มหาวิทยาลัยชิบะยังได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT เพื่อให้มีผลในประเทศต่างๆซึ่งเป็นภาคีในสนธิสัญญาดังกล่าว 117 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย คำขอสิทธิบัตรดังกล่าวได้ยื่นต่อ WIPO (องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2014 ซึ่งภายใน 2 ปีครึ่งหรือ เมษายน 2017 คำขอสิทธิบัตรซึ่งองค์กรตรวจสอบระหว่างประเทศได้ตรวจสอบแล้วจะถูกจัดส่งมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติสิทธิบัตรของไทยต่อไป
เบื้องหลังการวิจัยสมุนไพรกระท่อมร่วมกับนักวิจัยไทย
เบื้องหลังการจดสิทธิบัตรของญี่ปุ่นเกิดขึ้นจากงานศึกษาวิจัยของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิบะ และมหาวิทยาลัยโจไซของญี่ปุ่นซึ่งร่วมทำโครงการวิจัยสารกลุ่มอัลคาลอยด์ในพืชกระท่อมของไทยร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น
- งานวิจัยเรื่อง Studies on the synthesis and opioid agonistic activities of mitragynine-related indole alkaloids: discovery of opioid agonists structurally different from other opioid ligands. ตีพิมพ์ในวารสาร J. Med. Chem. ปี 2002
- งานวิจัยเรื่อง Involvement of mu-opioid receptors in antinociception and inhibition of gastrointestinal transit induced by 7-hydroxymitragynine, isolated from Thai herbal medicine Mitragyna speciosa. ตีพิมพ์ในวารสาร Eur. J. Pharmacol เมื่อปี 2006
- งานวิจัยเรื่อง MGM-9 [(E)-methyl 2-(3-ethyl-7a,12a-(epoxyethanoxy)-9-fluoro-1,2,3,4,6,7,12,12b-octahydro-8-methoxyindolo[2,3-a]quinolizin-2-yl)-3-methoxyacrylate], a derivative of the indole alkaloid mitragynine: a novel dual-acting mu- and kappa-opioid agonist with potent antinociceptive and weak rewarding effects in mice. ตีพิมพ์ในวารสาร Neuropharmacology เมื่อปี 2008
ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านี้คือ คณะวิจัยจากต่างประเทศกลุ่มนี้ยังคงมี “ความร่วมมือทางวิชาการ” ร่วมกับนักวิจัยในประเทศไทยในมหาวิทยาลัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการวิจัยสมุนไพรไทยจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 10 สถาบัน รวมเป็น 11 สถาบัน โดยนอกเหนือจากกระท่อมแล้ว ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิดที่อยู่ในความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวด้วย
การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย
การจดสิทธิบัตรดังกล่าวข้างต้นโดยกลุ่มนักวิจัยญี่ปุ่นโดยปราศจากการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรมกับประเทศไทย ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดให้พืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏในดินแดนประเทศไทยอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของประเทศไทย การเข้ามาทำวิจัยโดยมีหลักฐานความร่วมมืออย่างแจ้งชัดดังกรณีนี้แล้วนำผลจากการวิจัยไปจดสิทธิบัตรจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน การวิจัยของนักวิจัยต่างชาติและนักวิจัยไทยซึ่งเกิดขึ้นหลังพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เกี่ยวกับพันธุ์พืชป่าหรือพันธุ์พืชทั่วไปของไทย ต้องแจ้งและขออนุญาตตามกฎหมาย และในกรณีที่มีการจดสิทธิบัตรซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการค้าจะต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์กับคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช
รัฐบาลไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการมอบหมายให้ประสานงานและดูแลเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งดูแล พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีภารกิจในการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาสมุนไพรไทย และรวมทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ต้องหยิบยกกรณีการจดสิทธิบัตรดังกล่าว ขึ้นมาหารือกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อหาทางออกในกรณีนี้ร่วมกัน
ประเทศไทย 4.0 ล้มเหลวเพราะเพิกเฉยต่อการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ประเทศไทยประกาศเดินหน้าวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย 4.0” โดยอาศัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบจากการมีฐานความหลากหลายทางชีวภาพและฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม พัฒนาประเทศจากนวัตกรรม โดยอาศัยบทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศและสถาบันต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน แต่วิสัยทัศน์ที่ว่าอาจเป็นเพียงความฝันที่ว่างเปล่าเมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มิได้ปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรของไทยให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพแต่ประการใด ทั้งๆที่ขณะนี้แม้แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยและมิได้เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพเช่น นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ รวมทั้งประเทศในสมาชิกอียูหลายประเทศกลับปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกเหนือจากต้องรับมือกับสิทธิบัตรกระท่อมซึ่งได้รับการอนุมัติแล้ว และถูกยื่นจดสิทธิบัตรเพิ่มดังที่ได้กล่าวแล้ว รัฐมนตรีช่วยการกระทรวงพาณิชย์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศไทย 4.0 ควรรีบดำเนินการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรไทยโดยเร็ว โดยอาจดูตัวอย่างกฎหมายของประเทศนอรเวย์ (Patent Act of Norway, Act No. 9 of1967 on patents, as amended in 2015) หรือกฎหมายสิทธิบัตรของสวิตเซอร์แลนด์ (Patent Act of Switzerland, as amended in 2012) โดยอาจขอปรึกษารายละเอียดและแนวทางการปรับปรุงกฎหมายได้จาก รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งมีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในการการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญามาอย่างยาวนาน
บทสรุป
นอกจากความล้าหลังเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว กฎหมายของประเทศนี้ยังล้าหลังที่ประกาศให้สมุนไพรไทยกระท่อมเป็นพืชเสพติดที่ผู้ครอบครองมีโทษทางอาญา ทั้งๆที่ควรส่งเสริมให้มีการวิจัย การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป