ระวัง! นาฬิกาชีวิตรวน ตกเป็นเหยื่อของไวรัส
ระวัง! นาฬิกาชีวิตรวน ตกเป็นเหยื่อของไวรัส
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเชิงลึก เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนาฬิกาชีวิตและโอกาสการติดเชื้อไวรัสในร่างกายมนุษย์ ซึ่งผลการวิจัยออกมาว่า ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัสแตกต่างกัน และที่สำคัญไปกว่านั้นคือนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) หรือช่วงเวลาที่อวัยวะภายในร่างกายทำงาน ก็ส่งผลต่อการติดเชื้อและการแพร่กระจายของไวรัสอีกด้วย
ผลวิจัยรายงานว่า เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย มันจะเข้าไปรบกวนกลไกการทำงานและการใช้ทรัพยากรภายในเซลล์ และเกิดการแพร่พันธุ์และกระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งในร่างกายของมนุษย์จะมีนาฬิกาชีวิต หรือ นาฬิกาชีวภาพที่ควบคุมระบบต่างๆ ทางสรีรวิทยา เช่น รูปแบบการนอน อุณหภูมิของร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน และการหลั่งฮอร์โมน เป็นต้น หากระบบเหล่านี้ถูกรบกวนโดยเชื้อไวรัส จะทำให้ร่างกายค่อยๆ อ่อนแอลง
เพื่อเป็นการยืนยันว่าทฤษฎีนี้ถูกต้อง ทีมนักวิจัยได้สังเกตปฏิกิริยาของหนูทดลองที่ติดเชื้อไวรัสเริมในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน พบว่าหนูที่ติดเชื้อไวรัสในตอนเช้า เชื้อจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากกว่าช่วงเวลาอื่นเป็น 10 เท่า ทำให้สรุปผลได้ว่า ช่วงเวลาที่หนูติดเชื้อไวรัสมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของเชื้อ
ศาสตราจารย์ Aki Leche • Reddy จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวว่า ช่วงเวลาในการติดเชื้อไวรัสของมนุษย์ที่แตกต่างกันนั้น ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานของร่างกาย
นอกจากนี้ Rachel • Edgar นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยังกล่าวว่า เซลล์แต่ละชนิดในร่างกายของมนุษย์ต่างก็มีนาฬิกาชีวิตของมันเอง คนที่ทำงานทั้งวันทั้งคืน จะทำให้นาฬิกาชีวิตของตนเองแปรปรวน และส่งผลให้ภูมิต้านทานไวรัสของพวกเขาทำงานได้แย่กว่าคนอื่น ๆ