ศาลฎีกาฯจำคุก 1 ปีหมอเลี้ยบส่งเข้าเรือนจำทันทีเป็นอดีตรมว.ICT ยุคทักษิณแปลงสัญญาดาวเทียมช่วยชินคอร์ป
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อายุ 59 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 1 ปีไม่รอลงอาญา ส่งเข้าเรือนจำทันที เผยเป็นรัฐมนตรีไอซีทีรัฐบาลทักษิณ แปลงสัญญาดาวเทียมไทยคมเอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ป ส่วนอดีตปลัดกระทรวง 2 รายรอลงโทษคนละ 5 ปี
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 25 สิงหาคม 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาใน คดีหมายเลขดำ อม.66/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อายุ 59 ปี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, นาย ไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3
ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงิน ทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ศาลได้ไต่สวนพยานคู่ความทั้งสองเสร็จสิ้นนัดสุดท้าย พร้อมให้คู่ความส่งคำแถลงปิดคดีในวันที่ 18 สิงหาคม ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม
ศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพิพากษา จำคุก นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปีไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยอีก 2 คนนายไกรสร พรสุธี และ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ จำคุก 1 ปี แต่โทษจำให้รอลงอาญาเป็นเวลา 5 ปี
ภายหลังจากศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว นพ.สุรพงษ์ เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที
ศาลรอลงอาญาไว้ 1 ปีวันที่ 4 สิงหาคม 2559
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 สิงหาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.39/2558 ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
กรณีเมื่อปี 2551 นพ.สุรพงษ์ รมว.คลัง แต่งตั้ง ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ หรือบอร์ด ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)โดยมิชอบ โดยมี การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ภายหลังวินิจฉัยว่า การคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในบอร์ด ธปท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ บางคน มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่4) พ.ศ.2551 มาตรา 28/1และ ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการระงับการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท. และให้ รมว.คลัง ดำเนินการยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท.
นพ.สุรพงษ์ จำเลยให้การปฏิเสธ และยื่นหลักทรัพย์บัญชีเงินฝากและเงินสด 10 ล้านบาทขอประกันตัวระหว่างสู้คดี ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
องคณะผู้พิพากาษาเสียข้างมาก พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วว่า การที่จำเลย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เป็นกรรมการคัดเลือกผู้ทรง คุณวุฒิในบอร์ด ธปท.แต่ตาม พรบ.ธนาคาร แห่งประเทศไทย กำหนดคุณสมบัติห้ามไม้ให้บุคคลที่มาเป็นกรรมการคัดเลือก เป็นข้าราชการประจำ ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกับเสนอรายชื่อบุคคล 7 รายชื่อใน 3 รายชื่อนั้น เป็นผู้บริหารธ.ทหารไทย ธ.กรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพานิชย์ ภายใต้การกำกับของ ธปท. เพื่อให้มาเสนอเป็นกรรมการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของบอร์ด ธปท. จึงเป็นการแต่งตั้งผู้มีประโยชน์ได้เสียฝ่าฝืนต่อกฏหมายกระทบต่อความเป็นอิสระและเสถียรภาพของ ธปท. ที่จะเป็นธนาคารกลางของประเทศ
การกระทำของจำเลยเป็นการแทรกแซงทำให้ ธปท. เสียหายจึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่ภายหลังที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าวแล้วต่อมามีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง
จากนั้นกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี
ดังนั้นเมื่อศาลฯมีคำพิพากษาวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ให้จำคุก 1 ปี นพ.สุรพงษ์จึงต้องเข้าไปรับโทษเพราะโทษคดีแรกที่จะพ้นการรอลงอาญาก็ต่อเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560