รถไฟฟ้า 70 บาท แพงเพราะอะไร?
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
หาสาเหตุค่ารถไฟฟ้าแพง 70 บาท นักวิชาการชี้เพราะค่าโดยสารถูกคิดแยกระบบ ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำ หวั่นแพงขึ้นอีกเมื่อทุกสายเปิดใช้ แนะคิดภาพรวม-ใช้โครงสร้างการเงินเดียว-เพิ่มตัวเลือการเดินทางอื่นๆ ลดค่าโดยสารไม่ใช่ทางออก เอาเงินภาษีหนุนคนกรุง เพิ่มเหลื่อมล้ำ
(ที่มาภาพ https://th2-cdn.pgimgs.com/cms/news/2016/06/Trin-1.original.jpg)
ภาพผู้คนจำนวนมากรอรถเมล์ฟรีเพื่อไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีบางซื่อปรากฏในเฟซบุ๊กและถูกสื่อหยิบมานำเสนอ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กว่า Karenin Ausana โพสต์ว่า
“7.40 น. MRT สายสีม่วง รับมือผู้โดยสารวันจันทร์แบบผิดพลาด ไม่มีรถเมล์ฟรีรอผู้โดยสารเลยสักคันในชั่วโมงเร่งด่วน ค่าโดยสารก็ไม่สามารถใช้ตั๋วเดือน MRT ร่วมได้ ทางเลือกที่ตั๋วต่อของสีม่วงสามารถใช้ร่วมกับใต้ดิน แบบราคาเหมา 70 บาท ต่อเที่ยว ย้ำ! ต่อเที่ยว ไม่ใช่ขาไป-กลับ ขนาดนั่งสายสีม่วงจากแยกติวานนท์-เตาปูน 23 บาท และนั่งจากบางซื่อ-ลุมพินี 42 บาท นั่งจะข้ามเมืองแล้ว อีก 3 สถานี สุดสาย ทั้งหมดนั้นยังค่าโดยสารอยู่ที่ 65 บาท
“ถามจริงๆ ใครได้ประโยชน์จากการลดราคาปลอมๆ ของ MRT เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ประเทศไทยมีค่าโดยสารขนส่งสาธารณะที่เอาเปรียบผู้บริโภคที่สุดแล้ว”
นอกจากการเชื่อมต่อที่ขาดช่วงระหว่างสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน และสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-หัวลำโพงแล้ว ค่าโดยสารที่เรียกได้ว่าค่อนข้างสูงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดคำถามในใจคนกรุงเทพฯ เพราะกลายเป็นว่าความสะดวกสบายในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะต้องแลกด้วยราคาแสนแพง
ความเหลื่อมล้ำด้านการคมนาคม คนจนจ่ายแพงกว่า
หากเราตัดภาพอภิมหาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ริเริ่มในสมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไปก่อน นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมาพบว่า กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ โดยหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดคือกรมทางหลวง สิ่งที่ปรากฏคือ ประเทศไทยใช้งบก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนสูงถึงร้อยละ 70 ของงบประมาณด้านคมนาคมขนส่งทั้งหมดของประเทศ ซึ่งงานศึกษา ‘ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านคมนาคมขนส่ง’ ระบุว่า นโยบายด้านคมนาคมและขนส่งของไทย เน้นไปที่การสร้างถนน มากกว่าการคิดเรื่องการบริการสาธารณะอย่างการขนส่งผู้โดยสารโดยบริการขนส่งสาธารณะ
ผลประโยชน์จากรายจ่ายของรัฐจึงตกกับผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่าผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะชนิดเทียบกันไม่ได้ เมื่อเทียบรายจ่ายภาครัฐทั้งหมดพบว่า ผลประโยชน์ร้อยละ 88.84 ตกอยู่กับผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล มีเพียง 11.16 เท่านั้นที่ตกกับผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ
ในขณะที่ เพจ CSI LA ได้เปรียบเทียบค่าโดยสายรถไฟฟ้ากับค่าครองชีพของต่างประเทศ เมื่อเทียบกับของประเทศไทยว่า..