ประมวลภาพนํ้าท่วมประเทศไทย เมื่อปี 2554
- ประมวลภาพนํ้าท่วมประเทศไทย เมื่อปี 2554 -
เรายังจำเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนั้นกันได้หรือเปล่า
ถึงแม้ว่าพวกเราต้องสูญเสียอะไรๆไปหลายอย่าง
แต่นํ้าใจคนไทยไม่เคยเลือยจางหาย
อุทกภัยนํ้าท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย พ.ศ. 2554 หรือที่นิยมเรียกกันว่า มหาอุทกภัย เป็นอุทกภัยรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมและสิ้นสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2554 และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก
มหาอุทกภัยดังกล่าวทำให้พื้นดินกว่า 150 ล้านไร่ (6 ล้านเฮกตาร์) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน 65 จังหวัด 684 อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,086,138 ครัวเรือน 13,595,192 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 2,329 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 96,833 หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 11.20 ล้านไร่ ถนน 13,961 สาย ท่อระบายน้ำ 777 แห่ง ฝาย 982 แห่ง ทำนบ 142 แห่ง สะพาน คอสะพาน 724 แห่ง บ่อปลา บ่อกุ้ง หอย 231,919 ไร่ ปศุสัตว์ 13.41 ล้านตัว มีผู้เสียชีวิต 813 ราย (44 จังหวัด) สูญหาย 3 คน มหาอุทกภัยครั้งนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็น "มหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ"
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ศปฉ.ปภ.) และศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.) รายงานตรงกันเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยประเทศไทยตอนบน 10 จังหวัด 83 อำเภอ 579 ตำบล 3,851 หมู่บ้าน เฉพาะกรุงเทพมหานคร 36 เขต ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,658,981 ครัวเรือน 4,425,047 ราย ฟื้นฟู 55 จังหวัด ประสบอุทกภัยรวม 65 จังหวัด และอ่างเก็บน้ำไม่สามารถรับน้ำเพิ่มได้อีกจำนวน 8 อ่างจาก 33 อ่างทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รายงานเสียชีวิตรวม 680 ราย สูญหาย 3 ราย มากที่สุดจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 139 ราย
ในภาคใต้พื้นที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 มี 8 จังหวัด 65 อำเภอ 362 ตำบล 2,057 หมู่บ้านได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรรธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสุราษฏร์ธานี พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 118,358 ไร่ วัด/มัสยิด 7 แห่ง โรงเรียน 30 แห่ง สถานที่ราชการ 10 แห่ง ถนน 783 แห่ง สะพานและคอสะพาน 113 แห่ง ฝาย 19 แห่ง ปศุสัตว์ 5,777 ตัว ประมง 1,086 บ่อ เสียชีวิต นับจากวันดังกล่าว 9 ราย
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554 นาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานศึกษาทั่วประเทศถูกน้ำท่วมกว่า 2,000 แห่ง มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ จนถึงวันที่ 19 กันยายน มีโรงเรียน 1,053 แห่งถูกบังคับให้ต้องปิดภาคเรียนก่อนกำหนด โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้เลื่อนสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และแบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ (PAT) จากเดิมที่สอบเดือนตุลาคม ไปสอบเดือนธันวาคม เพราะนักเรียนในพื้นที่น้ำท่วมอาจไม่สามารถมาสอบได้ และโรงเรียนสนามสอบกว่าสองร้อยแห่งถูกน้ำท่วม
วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนได้เห็นชอบให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนชดเชยตามที่สำนักการศึกษาเสนอเพื่อความ ปลอดภัยของนักเรียนและลดปัญหาการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งเกิดความพร้อมในการเรียนการสอนของโรงเรียน โดยในพื้นที่ที่ยังมีระดับน้ำท่วมสูง ใน 7 เขต
เกษตรกรรม
ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้าข้าวในระดับโลกประมาณ 30% และธัญพืชหลัก 25% ซึ่งไม่คาดว่าจะรอดพ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ เหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบต่อราคาข้าวในระดับโลกโดยรวม ในประเทศ ชาวนาข้าวโดยปกติแล้วไม่มีทุนสำรอง ผลกระทบต่อชาวนานั้นจะเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะพวกเขาสูญเสียทั้งการลงทุนในพืชผลการเกษตร และต้องรอทำเงินเมื่อน้ำอุทกภัยลดลงก่อนปลูกพืชใหม่
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ร่วมกับธนาคารโลกและหน่วยงานในพื้นที่ในการสำรวจผลกระทบจากภัยพิบัติ อุทกภัย ด้านการเกษตร ปี 2554 ในพื้นที่ศึกษา จ.นครสวรรค์และลพบุรี พบว่าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ และเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554 รายงานสรุปของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมบรรเทาและป้องกันสาธารภัย (ศปฉ.ปภ.) แจ้งว่า ด้านพืช เกษตรกร 1,284,106 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 12.60 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 9.98 ล้านไร่พืชไร่ 1.87 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 0.75 ล้านไร่ ด้านประมง เกษตรกร 130,041 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อปลา 215,531 ไร่ บ่อกุ้ง/ปู/หอย 53,557 ไร่ กระชัง/บ่อซีเมนต์ 288,387ตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 254,670 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 30.32 ล้านตัว แปลงหญ้า 17,776 ไร่
อุตสาหกรรม
วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กำแพงกั้นน้ำสูง 10 เมตรในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานการผลิตหลายแห่ง พังลง กระแสน้ำที่ไหลแรงได้ขัดขวางความพยายามสร้างกำแพงกั้นน้ำใหม่ และส่งผลให้ทั้งพื้นที่ไม่สามารถใช้การได้ หนึ่งในโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ ฮอนด้า ถูกทิ้งไว้โดยเข้าถึงไม่ได้อย่างแท้จริง ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการผลิตของโลกอย่างน้อย 25% หลายโรงงานที่ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ถูกน้ำท่วม ทำให้นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมบางคนพยากรณ์ว่าฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะขาดแคลนทั่วโลกในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างสำคัญจาก อุทกภัยด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลหนักที่สุดนั้นคือ ญี่ปุ่น ธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทย มีทั้งโตโยต้า ฮิตาชิ และแคนอน นักวิเคราะห์รายหนึ่งพยากรณ์ว่ากำไรของบริษัทโตโยตาอาจถูกตัดลง 200,000 ล้านเยน และตัวเลขนี้เป็นเพียงการสูญเสียกำไรเท่านั้น รายได้ลูกจ้างในไทยและญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
สำหรับบางบริษัทและประเทศ ผลกระทบนั้นอาจไม่มีแต่ในทางลบ ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ และประเทศอย่างอินเดียจะมีบริษัทที่ได้กำไรเมื่อก้าวเข้ามาเติมเต็มปัจจัย ที่ขาดแคลนนั้น
วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ เลขาธิการสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน ระบุว่า จากเหตุน้ำท่วมส่งผลต่อการส่งออกด้วย เพราะว่าผู้ประกอบการสินค้าของขวัญ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย 3,000 รายได้รับผลกระทบ โดยร้อยละ 20 ต้องหยุดการผลิต ขณะที่ร้อยละ 80 ขาดวัตถุดิบในการผลิต ทำให้คาดว่ายอดการส่งออกของปีนี้ จะเหลือเพียง 95,000 ล้าน ขยายตัวเพียงร้อยละ 5 จากเดิมที่คาดไว้ว่าอยู่ที่ร้อยละ 8
หนังสือพิมพ์รายงานว่า วัตถุดิบในการผลิตฮาร์ดดิสก์เสีย หายและโรงงานหยุดผลิตอาจทำให้ราคาสินค้าเทคโนโลยีสูงขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการจัดส่งที่ลำบากจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและอาจส่ง ผลกระทบทั่วโลก เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลกในปัจจุบัน
กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหาสินค้าแพงด้วยการจับกุมผู้ค้าสุกร และผู้ค้าทรายที่ขึ้นราคาเกินกำหนด วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 กระทรวงพาณิชย์ประกาศนำเข้าไข่ไก่ 7 ล้านฟอง ปลากระป๋อง 4 แสนกระป๋อง และน้ำดื่ม 1 ล้านขวดจากประเทศมาเลเซียและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอย่างเร่งด่วน ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน พบว่า เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ราคาไข่ไก่และไข่เป็ดเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 สูงสุดในปีนี้ ทั้งราคาขายปลีกและส่ง และได้มีการลดราคาสินค้าจำนวนมากโดยอ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การหยุดขายสินค้ายังมีอยู่แม้ในบางพื้นที่ซึ่งอุทกภัยผ่านพ้นไปแล้ว โดยร้านค้าต่างอ้างเหตุอุทกภัยทำให้โรงงานไม่สามารถส่งวัตถุดิบไปผลิตได้
จากการอพยพผู้คนในนิคมอุตสาหกรรม ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย หุ้นในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงราคาหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มยานยนต์ นิคมอุตสาหรรมในประเทศ 7 แห่ง ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้
ทั้งนี้ปัญหาขยะราวสี่หมื่นตันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ทำให้รัฐต้องลงทุนในการทำลายขยะในปริมาณมากกว่าที่จะรับได้ในยามปกติ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมิน มูลค่าความเสียหายไว้ที่ 156,700 ล้านบาท ความเสียหายส่วนใหญ่มาจากผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยมีโรงงาน 930 แห่งใน 28 จังหวัดได้รับผลกระทบ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ยังมีการประเมินว่าอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ร้อยละ 0.6 ถึง 0.9 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 แอนเน็ต ดิกซอน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า พบความเสียหายรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายจากทรัพย์สินคงที่ เช่น บ้าน โรงงาน มูลค่าประมาณ 6.6 แสนล้านบาท และความสูญเสียจากค่าเสียโอกาส เช่น การผลิต อีกประมาณ 7 แสนล้านบาท ธนาคารโลกได้ประเมินเป็นผลกระทบต่อจีดีพีของไทยให้ลดลงประมาณ 1.2% เหลือ 2.4% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6%
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยเฉพาะความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร แต่คาดว่า มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมา จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ใน พ.ศ. 2555 โดยจะขยายตัวได้ร้อยละ 5
ด้านคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยใน พ.ศ. 2554 ขยายตัวเพียง 0.1% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยออกมายอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายที่จีดีพีติดลบถึง 9%
การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวได้รับความเสียหายในรูปแบบของค่าเสียโอกาสใน การนำรายได้เข้าสู่ประเทศรวมถึงชื่อเสียงของประเทศเนื่องจากหลายประเทศได้ ออกเตือนภัยให้นักท่องเที่ยวระวัดระวังในการเข้าประเทศไทย รวมถึงไม่ควรเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศไทยและเมืองใหญ่สำคัญเช่นจังหวัด เชียงใหม่โดย
ในหลายประเทศ อาทิ ประเทศจีน ฮ่องกง และประเทศสิงคโปร์ ได้ออกคำเตือนในการเข้าประเทศไทย ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายสุรพล เศวตเศรนี เสนอว่าความเสียหายรวมอาจสูงถึง 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและภายในประเทศลดลง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่านักท่องเที่ยวระหว่าง 220,000 ถึง 300,000 คนจะยกเลิกการเดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นสูงกว่าใน พ.ศ. 2553 มาโดยตลอด กระทั่งปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 การเดินทางมาท่าอากาศยานกรุงเทพเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 การเดินทางมายังภูเก็ตเพิ่มขึ้น 28.5%
วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554 สุรพล เศวตเศรนี เปิดเผยอีกว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำลดภายในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยว ต่างชาติ ลดลงราว 200,000 คน สูญรายได้จากการท่องเที่ยวไป 8,500 ล้านบาท แต่เมื่อสถานการณ์มีแนวโน้ม สิ้นสุดภายในเดือนธันวาคม คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงราว 300,000 คน และสูญเสียรายได้กว่า 25,580 ล้านบาท
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554 สุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับสุรพล เศวตเศรนี แถลงข่าวสรุปสถานการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 11 เดือนแรกของ พ.ศ. 2554 พบว่าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวลดลง 17.92% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือจาก 1,478,856 คนเมื่อปี 2553 เหลือ 1,213,826 คนในปีนี้
การสาธารณสุข
ปัญหายาขาดแคลนและปัญหาโรคที่มากับน้ำ รวมถึงสุขภาพจิตของประชาชนมีเพิ่มขึ้นในช่วงอุทกภัย เช่น ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษประสบ ปัญหาการขาดยาและเวชภัณฑ์ หลังโรงงานในเขตจังหวัดปริมณฑลถูกน้ำท่วม ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยเรื้อรัง จากครั้งละ 3 เดือน เป็น 1 เดือน และหมุนเวียนยาร่วมกับโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อช่วยกระจายยาให้คนไข้ คณะกรรมการอาหารและยาอำนวยความสะดวกเป็นผู้สั่งยาโดยตรงกับบริษัทในต่างประเทศ หากเกิดกรณีที่ผู้ประกอบการหรือเภสัชกรต้องการยานั้น ๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ประสบอุทกภัยเจ็บป่วยแล้ว 1.6 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคัน ไข้หวัดใหญ่
วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตือนอันตรายจากสัตว์มีพิษในช่วงน้ำท่วม พร้อมกับแนะนำวิธีป้องกันสัตว์มีพิษเข้ามาในบ้าน
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ผู้ถูกไฟฟ้าดูดจากภาวะน้ำท่วมล่าสุดว่า ขณะนี้ตัวเลขที่รายงานอย่างเป็นทางการของผู้ถูกไฟฟ้าดูดอยู่ที่ 45 รายแล้ว ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการ อาจจะเพิ่มขึ้นเกือบถึง 100 รายได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศใดมีผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดในช่วงอุทกภัยมาก เท่านี้มาก่อน
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ "ผนึกกำลัง ร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม" กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีจำนวนผู้ประสบภัยที่เข้ารับการคัดกรองสะสม 119,237 ราย ในจำนวนนี้มีความเครียดสูง 6,704 ราย ซึมเศร้า 8,317 ราย และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1,441 รายแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย โดยเป็นข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มียอดผู้เสียชีวิต 728 รายแล้ว เป็นการเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูด 102 ราย จมน้ำเสียชีวิตและอื่น ๆ 626 ราย สูญหาย 2 ราย
วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยอดรวมของผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตและดูดเสียชีวิต จากสถานการณ์น้ำท่วมนั้นอยู่ที่ 102 ราย พบว่า 73% ของผู้เสียชีวิตถูกไฟดูดไฟฟ้าช็อตในที่พักอาศัยของตน พื้นที่ที่มีเกิดเหตุมากที่สุด คือ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยุธยาตามลำดับ
วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554 รายงานสรุปของศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมบรรเทาและป้องกันสาธารภัยแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าช็อตทั้งหมดทั่ว ประเทศ 48 ราย น้ำพัด 26 ราย เรือล่ม 22 ราย จมน้ำ 568 ราย
โฆษกยูนิเซฟแนะนำให้ทุกคนอยู่ห่างจากแหล่งน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การขนส่งคมนาคม
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ปิดการจราจรเพราะน้ำท่วมจนรถไม่สามารถสัญจรได้
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554 กรมทางหลวงรายงานว่า น้ำท่วมถนน 117 สายทาง ในพื้นที่ 21 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ผ่านได้ 49 สายทาง ผ่านไม่ได้ 88 สายทาง
การบินไทยได้จัดเที่ยวบินพิเศษจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานพิษณุโลกเมื่อ กลางเดือนตุลาคม เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และผู้ประสบอุกภัยในพื้นที่ในราคาต้นทุน ได้แก่ เที่ยวบิน TG8706 และ TG8707 เบื้องต้นจะสิ้นสุดทำการบินวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ขอให้การบินไทยเพิ่มเที่ยวบินลงภาคใต้และพิจารณาราคาเป็นพิเศษ เพราะเป็นห่วงว่าหากน้ำท่วมเส้นทางพระราม 2 แล้วจะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปภาคใต้ไม่สะดวก วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทย ประกาศลดราคาตั๋วโดยสารทางเครื่องบิน 47-58% จากราคาปกติ เปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ในเส้นทางกรุงเทพมหานครสู่ทุกจุดบินของการบินไทยในภาคใต้
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเปลี่ยนเส้นทางรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีบริการรถสาธารณะบนทางด่วน ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือไม่ให้ใช้ทางด่วนเป็นที่จอดรถ แต่ประชาชนยังจอดรถบนทางด่วน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม รวมทั้งทำให้ทางด่วนยกระดับหลายเส้นทางมีการจราจรแออัด เพราะรถจอดซ้อนคันหรือจอดบริเวณทางขึ้นและลงทางด่วน
วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ศูนย์ควบคุมและสั่งการการจราจร บชน. (บก.02) สั่งปิดถนน 29 สายรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงแนะนำเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเมื่อวัน ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 มีเส้นทางที่สั่งปิดทั้งหมด 50 เส้นทาง แบ่งเป็นปิดตลอดเส้นทาง 17 เส้นทาง ปิดไม่ตลอดเส้นทาง 21 เส้นทาง ควรหลีกเลี่ยง 21 เส้นทาง วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ถนนเศรษฐกิจในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งปิดการจราจร
วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงเทพมหานครได้สั่งขยายการปิดจราจรใน 5 เส้นทางเดิมโดยปิดการจราจรในถนนเหล่านี้มากขึ้นและเพิ่มการปิดจราจรไม่ตลอด สาย 1 เส้นทางและแนะนำให้หลีกเลี่ยงอีก 5 เส้นทาง วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจรถนนเพชรเกษมบริเวณปากซอยวัดเทียนดัดและซอยหมอศรี ฝั่งขาเข้ากรุงเทพมหานครในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในขณะที่จังหวัดนนทบุรีปิด 7 เส้นทางรวมถึงการทางพิเศษตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554 โดยปิดเป็นบางช่วง
วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปิยะวัฒน์ มหาเปารยะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้สำนักงานไปรษณีย์ถูกน้ำท่วม 38 แห่ง จากทั้งหมด 1,200 แห่ง มีไปรษณีย์ภัณฑ์ธรรมดาตกค้างประมาณ 1.5 ล้านชิ้น จากปกติซึ่งจะมีไปรษณียภัณฑ์หมุนเวียนวันละ 5 ล้านชิ้น ทำให้มียอดจดหมายตกค้างเฉลี่ย 1 ใน 3 ของปริมาณงานที่ต้องนำจ่าย แต่บริษัทฯ ยังเปิดทำงานตามปกติ ส่วนพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ได้เจ้าหน้าที่จะเปิดถุง เมล์เพื่อนำจดหมายไปคัดแยกตามเขตพื้นที่แล้วเรียงลำดับตามหน้าซองที่จ่าไว้ และเมื่อระดับน้ำลดจะให้บุรุษไปรษณีย์รีบนำส่งจดหมายให้ถึงมือผู้รับทันที
ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเครื่อง บินของกองทัพอากาศและการบินไทยที่อยู่ในช่วงซ่อมบำรุงมีปัญหาในการขนย้าย เนื่องจากไม่สามารถขึ้นบินได้จึงเสียหายจากเหตุกาณ์น้ำท่วมท่าอากาศยาน
วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554 นางฮิลลารี คลินตันได้ แถลงผ่านทางเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แสดงความเสียใจและห่วงใยต่อเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนามของประธานาธิบดีและประชาชนชาวสหรัฐ
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน (CVN-73) เช่นเดียวกับเรือแห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาอีกหลายลำถูกส่งมายังประเทศไทย เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัย แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ารัฐบาลไทยได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือไม่ จากท่าทีอันหลากหลายของรัฐบาลไทย จนถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกายังไม่ได้รับการร้องขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 นายกวาน มู เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย มอบเครื่องสูบน้ำจำนวน 500 เครื่อง เรือติดรถยนต์ 685 ลำ ส่วนการสั่งซื้อเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมของรัฐบาลไทยนั้น เป็นการสั่งซื้อกับเอกชน ไม่ผ่านรัฐบาลจีน