จักรวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire)
หนึ่งในจักรวรรดิที่ทรงอำนาจในประวัติศาสตร์ที่รวบรวมชนชาติต่าง ๆ จากหลายอารยธรรมให้อยู่ใต้ร่มธงเดียวกันกับความรุ่งเรืองที่นำไปสู่ความล่มสลายและรอยอารยธรรมที่เหลือไว้
ชาวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นชาวอินโดอารยันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในดินแดนที่ ปัจจุบันนี้คือ ประเทศอิหร่าน ซึ่งได้ก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นเป็นอาณาจักร โดยมีปฐมกษัตริย์ทรงพระนามว่า “อาเคมีเนส” (Achaemenes) แห่งราชวงศ์อาเคเมนิค(Achaemenid)
ต่อมาในสมัยของพระเจ้าไซรัส อาณาจักรเปอร์เซียได้ทำสงครามกับอาณาจักรลิเดียของพระเจ้าคริซุส ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่ง เข้มแข็ง และสามารถพิชิตอาณาจักรลิเดียลงได้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของความยิ่งใหญ่ โดยหลังจากพิชิตลิเดียแล้ว พระเจ้าไซรัสได้ทรงแผ่ขยายแสนยานุภาพเข้าครอบครองดินแดนใกล้เคียง จนสามารถยึดครองกรุงบาบิโลนได้ในปีที่ 539 ก่อนคริสตกาล ทำให้ครอบครองดินแดนแถบเมโสโปเตเมียได้สำเร็จ ก่อนจะเข้ายึดครองดินแดนอียิปต์ได้ในเวลาต่อมา ทำให้อาณาจักรเปอร์เซียขึ้นสู่จุดสูงสุดและกลายเป็นจักรวรรดิในที่สุดและพระเจ้าไซรัสทรงได้รับพระนามเป็น มหาราช
ศูนย์กลางของจักรวรรดิเปอร์เซียโบราณ ตั้งอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันคือ ประเทศอิหร่าน โดยแต่เดิมเมืองหลวงของอาณาจักร คือ กรุง เอคบาทานา (Ecbatana) ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าไซรัสมหาราช ช่วงที่กลายเป็นจักรวรรดิ ได้ทรงสร้างเมืองใหม่ที่ เปอร์ซีโปลิส (persepolis) และกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่จนล่วงเข้าถึงรัชกาลของพระเจ้าดาริอุสที่หนึ่ง พระองค์ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ ที่ นครสุสา(Susa)
ภาพสฟิงส์ ศิลปะเปอร์เซีย
ชาวเปอร์เซียนับถือ ศาสนาโซโรอัสเตอร์(Zoroaster) และเป็นศาสนาประจำอาณาจักร โดยยึดถือคัมภีร์อาเวสตา (Avesta) ซึ่งมีความเชื่อว่าจักรวาลแบ่งเป็นฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว โดยมี เทพเจ้าแห่งความดี เป็นเทพผู้สูงสุด ชื่ออหุรมัสดา (Ormazd) โดยเทพองค์นี้มีพวกอัครเทวทูตและเทวทูตทั้งหลายเป็นบริวาร ส่วนฝ่ายชั่วนั้น มีเทพแห่งความชั่วองค์หนึ่งชื่อ อาห์ริมาน (Ahriman) มีภูตผีปีศาจเป็นบริวาร ศาสนาโซโรแอสเตอร์ได้สั่งสอนว่า มนุษย์ควรจะปรนนิบัติรับใช้เทพแห่งความดี
จักรวรรดิเปอร์เซียมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเกษตรกรรมโดยมีการนำระบบชลประทานทั้งการสร้างเขื่อนและฝาย รวมทั้งรางส่งน้ำ เพื่อนำน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้ยังมีระบบชลประทานใต้ดิน ที่เรียกว่า ”คานัต”(Qanat)มาใช้ในการทำระบบส่งน้ำเข้าสู่เขตชุมชนเมืองด้วย
กองทัพเปอร์เซีย
ผู้นำที่สำคัญ ของจักรววรดิเปอร์เซีย ได้แก่
กษัตริย์ไซรัสมหาราช(Cyrus The Great) พระองค์เป็นผู้สถาปนาจักรวรรดิจักรเปอร์เซีย โดยทรงเป็นกษัตริย์ที่ตีบาบิโลนได้ ใน ก่อน ค.ศ. 539 เป็นผู้ที่ปลดปล่อยชาวยิวจากการถูกกดขี่เป็นทาสที่กรุงบาบิโลน ให้ได้กลับดินแดนปาเลสไตน์หลังจากที่กองทัพเปอร์เซียเข้ายึดครองกรุงบาบิโลนได้ โดยเป็นกษัตริย์ที่ถูกกล่าวไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ หรือ ไบเบิล
พระเจ้าไซรัสเป็นกษัตริย์ที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ดีมีขันติธรรม โดยพระองค์ทรงอนุญาต ให้ดินแดนที่พระองค์เข้ายึดครองสามารถรักษาประเพณีของตนเองได้ โดยไม่ต้องจ่ายส่วย และไม่จับพลเมืองมาเป็นเชลย ไม่กดขี่ข่มเหงประชาชนในรัฐบริวาร ทั้งนี้พระองค์ทรงจ่ายค่าแรงงานให้แก่คนงานที่สร้างเมืองและวัง ทั้งทรงมีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันทำให้ประชาชนในดินแดนที่ถูกยึดครองซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม เกิดความยอมรับในตัวผู้นำและไม่ต่อต้าน
แผนที่จักรวรรดิเปอร์เซีย
ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงคุณธรรม ทำให้พระเจ้าไซรัสได้รับสมัญญานามเป็นมหาราช ต่อมา พระองค์ได้เสด็จไปทำศึกที่เมืองเปอซากาดิ และสิ้นพระชนม์ในการรบ โดยพระโอรส พระนาม แคมไบซิส (Cambyeses)ทรงขึ้นครองราชย์ต่อ ทว่า แคมไบซิสทรงปกครองด้วยความรุนแรง ไม่เหมือนรัชสมัยของกษัตริย์ไซรัส(ผู้เป็นพ่อ)ทำให้ผู้คนต่อต้านและเกิดการกบฏขึ้นหลายครั้ง
เปอร์เซโปลิส
พระเจ้าดาริอัสที่ 1 (Darius The Great) ทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง สามารถรวบรวมดินแดนและปราบปรามผู้ต่อต้านที่เริ่มแข็งข้อมาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าแคมไบซิสลงได้ โดยในยุคนี้ เป็นสมัยที่จักรวรรดิเปอร์เซียมีความเจริญและเรืองอำนาจมากที่สุด โดยมีอาณาเขตกว้างขวางมาก โดยขยายดินแดนไปจรดอินเดีย ปาเลสไตน์ เอเชียไมเนอร์(ตุรกี) และ อียีปต์ จนกลายเป็นจักรวรรดิมีอาณาเขตกว้างขวางมากที่สุดในโลก ในยุคสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็น ยุคทองของอารยธรรมเปอร์เซีย
พระเจ้าดาริอัสที่หนึ่งทรงเป็นนักรบและนักปกครองชั้นเยี่ยม ทรงวางระเบียบการปกครองจักรวรรดิเปอร์เซีย และประกาศพระองค์เป็นผู้ปกครองอียิปต์และบาบิโลนโดยศูนย์กลางการปกครองสมัยนี้คือ กรุงสุสา(Susa) โดยย้ายมาจากนครเดิมที่เปอร์เซโปลิส
นอกจากนี้ยังทรงสร้างเงินตราขึ้นใช้แลกเปลี่ยนในดินแดนประเทศตะวันออก(บาบิโลน อียิปต์และเปอร์เซีย) โดยเงินตราที่สร้างขึ้นใช้ ทำมาจากทองคำ ทรงขุดคลองลัดตรงคาบสมุทรสุเอช(Suez)มีชื่อว่า คลองดาริอัส(Darius’ canal) ให้สามารถเดินเรือจากทะเลแดงเข้าสู่แม่น้ำไนล์ไปออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้
พระองค์ยังทรงโปรดฯให้สร้างถนนเชื่อมโยงกับหัวเมืองต่างๆทั่วจักรวรรดิเพื่อประโยชน์ในการคมนาคมขนส่งสื่อสาร ถนนทุกสายมีศูนย์กลางที่กรุงสุสา ถนนที่มีความยาวถึง 2700 กิโลเมตร จากเมืองสุสา มายัง เมือง ซาร์ดิส(Sardis) เรียกถนนนี้ว่า ถนนหลวงRoyal Road
ในสมัยของพระเจ้าดาริอุสที่ 1 มีการใช้ม้าเร็วสื่อสารและจัดให้มีสถานที่พักม้าระหว่างราชสำนักกับหัวเมืองทุกแห่ง ทำให้เปอร์เซีย ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาติแรกที่ให้กำเนิดระบบไปรษณีย์
พระเจ้าดาริอัสทรงสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ โดยใช้ชาวฟินิเซียน(ปัจจุบันคือดินแดนที่เป็นประเทศเลบานอน)เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อคุมอำนาจทางทะเล เนื่องจากชาวฟินีเซียนเป็นชนที่มีความชำนาญในการค้าและการเดินเรือทางทะเล ตลอดจนการต่อเรือ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัด โดยส่งขุนนางไปปกครอง ทั้งมีการจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค(ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาติแรกที่ริเริ่มการปกครองรูปแบบนี้)
ทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม มีความโดดเด่นในการสร้างพระราชวัง ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะได้มีการผสมผสานนำเอาของชนชาติอื่นมาประยุกต์สร้างสรรค์
ทหารม้าเปอร์เซีย
ในด้านการทหาร จักรวรรดิเปอร์เซียได้พัฒนาเทคโนโลยีการทหารจนก้าวหน้า โดยมีทหารแม่นธนูและกองทัพม้าที่ดีที่สุดในแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ โดยในรัชสมัยกษัตริย์ดาริอัสที่ 1 พระองค์ทรงขยายอำนาจไปถึงกรีกและเริ่มทำสงครามกับชาวกรีก ที่เรียกว่าสงครามเปอร์เซีย- กรีก ซึ่งสงครามดังกล่าว สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยกษัตริย์เซอร์ซิส ที่ 1 (Xerxes the Great) ผู้เป็นพระราชโอรส โดยพระองค์ทรงสืบต่อภารกิจจากดาริอัสที่ 1 ผู้เป็นพ่อในการทำสงครามกับกรีก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนสุดท้าย เปอร์เซียก็หมดความพยายามที่จะยึดครองดินแดนกรีก
ส่วนทางกรีกนั้น หลังจากได้รับชัยชนะจากสงครามเปอร์เซียแล้ว ก็เกิดสงครามภายในระหว่างรัฐของกรีกอีกหลายครั้ง จนในที่สุดกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย(359– 336 ปีก่อนคริสตกาล)(คนนี้เป็นพ่อของอเล็กซานเดอร์มหาราช)ซึ่งเป็นอาณาจักรทางภาคเหนือของกรีก ได้ใช้กำลังผสมระหว่างทหารม้าของขุนนางกับทหารราบฟาลังห์ (เป็นทหารที่ใช้โล่กับหอกยาวเวลารบจะเรียงแถวหน้ากระดาน)เข้ามาแทรกแซงและครอบครองดินแดนกรีกทั้งหมด
สมรภุมิกัวกาเมลา
ต่อมาพระราชโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (356-323 ปีก่อนคริสตกาล) ได้ทรงนำทัพมาสิโดเนียและกรีกเข้าทำสงครามกับพระเจ้าดาริอุสที่สามแห่งเปอร์เซีย แม้จะมีไพร่พลมากกว่าหลายเท่า ทว่ากองทัพเปอร์เซียกลับตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หลายครั้งและเสียดินแดนให้กับมาสิโดเนีย จนในที่สุด หลังพ่ายสงครามครั้งใหญ่ที่กัวกาเมลา พระเจ้าดาริอุสที่สามเสด็จหนีจากสนามรบและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้กวาดล้างเชื้อพระวงศ์และขุนนางเปอร์เซียที่แข็งข้อจนราบคาบพร้อมกับทำลายนครหลวงของเปอร์เซียจนเป็นเถ้าถ่าน และจักรวรรดิเปอร์เซียโบราณก็ล่มสลายลง
อย่างไรก็ตาม ได้มีชนเผ่าปาร์เธียนที่สืบทอดอารยธรรมจากเปอร์เซียโบราณและก่อตั้งเป็นอาณาจักรสืบต่อมาในชื่อจักรวรรดิปาเธียนซึ่งกลายเป็นหนึ่งในศัตรูสำคัญของจักรวรรดิโรมัน ก่อนที่ชาวมุสลิมจะเข้ามายึดครองและเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิเปอร์เซียของมุสลิมและประเทศอิหร่านในเวลาต่อมา