บริษัทร่วมทุน "เตี้ยอุ้มค่อม"
ควันหลงจากการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับมีชัย” ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น แม้นักวิชาการและการเมืองจะพยายามถอดรหัส ควานหาสาเหตุที่ประชาชนออกไปลงประชามติกันท่วมท้นกว่า 15 ล้านเสียง แต่จะอย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลการลงประชามติที่ออกมานั้น ได้ “ปลดล็อค” ความอึมครึมทางการเมืองไปได้อักโข ดึงความเชื่อมั่นในการลงทุนไปได้
แต่ที่ยังคงหาบทสรุปไม่ลงตัว เห็นจะเป็นทิศทางการฟื้นฟู 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของประเทศ บมจ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หลังจากคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” มีมติให้สองรัฐวิสาหกิจ แยกหน่วยธุรกิจและสินทรัพย์ออกไปร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารทรัพย์สินรวม 3 บริษัท ที่นัยว่าจะเป็นหนทางรอดขององค์กร
แต่ก็เจอแรงต้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งสององค์กรที่ออกมา “ดับเครื่องชน” นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจดังกล่าวด้วยเห็นว่ายังไม่มีหลักประกันว่าหลังแยกหน่วยธุรกิจออกมาร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแล้ว บริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาจะไปแข่งขันกับบริษัทเอกชนได้อย่างไรบ้าง ทำเอาแผนฟื้นฟูกิจการ ทีโอที และ กสท.ที่ “ซูเปอร์บอร์ด” หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นโมเดลต้นแบบของการแก้ไขปัญหากลัดหนองของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายจ่อเผชิญทางตัน
และทำเอาเจ้ากระทรวงไอซีทีและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทั้งสององค์กรถึง “นั่งไม่ติด” เพราะประกาศิตของ “บิ๊กตู่” ที่ขีดเส้นและสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจใช้ผลงานการแก้ไขปัญหาองค์กรเป็นตัวชี้วัดการทำงาน (KPI) ของทั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจและฝ่ายบริหารรวมไปถึงกระทรวงต้นสังกัด หากทำไม่สำเร็จก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
วันวานจึงได้เห็นข่าว พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที พร้อมนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเวทีชี้แจงพนักงานและสหภาพแรงงานทีโอทีเพื่อขอให้พนักงานได้ยอมรับแนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกร่วมทุนกับ กสท.ที่ว่านี้ โดยยืนยันว่า การแยกหน่วยธุรกิจออกไปจัดตั้งบริษัทลูกร่วมกับ กสท.นั้น ไม่กระทบต่อสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจแต่อย่างใด พนักงานทีโอทียังคงมีหนทางเลือกที่จะทำงานอยู่กับบริษัทแม่ทีโอที หรือจะสมัครไปทำงาน ใน 3 บริษัทที่ตั้งใหม่ก็สามารถทำได้ แต่หากรายใดไม่ต้องการทำงานก็สามารถเข้าโครงการลาออกก่อนเกษียณ ซึ่งปีนี้ทีโอทีได้ตั้งเป้าไว้ 1,000 คนภายใต้งบประมาณดำเนินการ 3,000 ล้านบาท
ฟังแล้วก็น่าใจหายกับความยิ่งใหญ่ของทีโอทีและ กสท หรือ แคทในอดีต แต่วันนี้กลับต้องตกอยู่ในสภาพไม่ต่างไปจาก “สิงโตแก่ที่กำลังไร้เรี่ยวแรง” จ่อจะต้องโละพนักงานกว่า 1,000 คนตามมา โดยนัยว่าผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.59) ทีโอทีมีรายได้รวม 12,452 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 18,133 ล้านบาท และคาดว่ารายได้ทั้งปีคงจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายแน่และคงประสบกับการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้าน “ดังนั้นทางเลือกในการปฏิรูปองค์กรเพื่อความยั่งยืน จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ซึ่งแนวทางที่ คนร.กำหนดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้องค์กรรอดได้”
ก็ให้น่าแปลกกับท่าทีของผู้บริหารทีโอทีที่ก่อนหน้านี้เคยยืนยันมาโดยตลอดว่า หนทางรอดขององค์กรทีโอทีนั้นคือการผลักดันยุทธศาสตร์การฟื้นฟูองค์กร และโดยเฉพาะการแสวงหาพันธมิตรธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาและบริหารทรัพย์สินองค์กรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะในส่วนของ โครงข่ายโทรคมนาคม 3 จี 2100 MHz หรือ 2 จี 900 ที่จะให้บริษัทเอไอเอสเช่าใช้ที่นัยว่าจะทำให้องค์กรมีรายได้ทันทีปีละร่วม 10,000 ล้านบาท หรือกว่าครึ่งของค่าสัมปทานที่เคยได้รับ
แต่ไหงวันนี้กลับจะไปเออออห่อหมกกับแผนแยกทรัพย์สิน แยกหน่วยธุรกิจออกไปจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ กสท ที่เป็นเพียงการ “หวังน้ำบ่อหน้า” ที่ไม่รู้ว่า เมื่อจัดตั้งขึ้นมาแล้วจะช่วยให้องค์กรทีโอทีที่เป็นบริษัทแม่ หรือบริษัทลูกดังกล่าวมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดีกว่าเดิมตรงไหน อย่างไร
ก็ต้องเตือนคนทีโอทีไว้ตรงนี้ หากยังคงดำเนินนโยบายเป็นสนต้องลม โล้ไปตามใบสั่งใครต่อใครเช่นนี้ก็ให้ระวังจะต้องล้มทั้งยืนขึ้นมาจริงๆ ครับ รายได้จากการบริหารทรัพย์สินตามแผนยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการศึกษาไว้ดิบดีไม่เอา กลับไปหวังลมๆ แล้งๆ กับบริษัทร่วมทุน "เตี้ยอุ้มค่อม" เช่นนี้