อยู่กับคน ‘ขี้โมโห’ อย่างไรให้ไปรอด
การที่จู่ๆโดนหัวหน้าทุ่มระเบิดใส่อย่างไม่ทราบสาเหตุ
หรือแย่หน่อยหากคุณต้องเตรียมใจอยู่กับคนขี้โมโหอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเวลาอีกนาน…
หลายคนเล่าความรู้สึกเมื่อต้องอยู่กับคนเจ้าอารมณ์ว่า ไม่ต่างจากการปลูกกระท่อมฟางไว้บนปล่องภูเขาไฟที่ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดเมื่อไหร่ ต่อให้มันไม่ปะทุตอนนี้ ลำพังไอร้อนๆ ก็ทำให้ฟางลุกไหม้ได้อยู่ดี
แม้การผูกมิตรกับคนขี้โมโหไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่น่าจะราบรื่นนัก แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรพวกเราจะไม่กลายเป็นคนที่ขี้โมโหเสียเอง หากอารมณ์ฉุนเฉียวแพร่ระบาดได้ไม่ต่างจากโรค เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ติดเชื้อทางอารมณ์ การมีภูมิคุ้มกันก่อนเนิ่นๆ อาจทำให้คุณสร้างมิตรภาพได้โดยไม่โดนไฟลวกมือเสียก่อน
ธรรมชาติของความโมโห
ความโกรธ เป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานที่ธรรมชาติให้ติดตัวคุณมาตั้งแต่เกิด มันเป็นกลไกที่จะส่งแรงฮึดเพื่อปกป้องอะไรก็ตามที่คุณควรได้รับ หากมีอะไรจะมาพรากมันไป คุณจึงมีแรงพอที่จะต่อต้าน ‘อะดรีนาลีน’ ฮอร์โมนในต่อมหมวกไต จะถูกปั๊มไปทั่วร่างกาย หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูบฉีด แม้คนที่เคย ‘เชื่องเหมือนแมวนอนหวด’ ก็ยังแยกเขี้ยวกางเล็บได้คมอย่างน่าตกใจ
หลายปีที่ผ่านมานักวิจัยพยายามหามุมมองใหม่ๆ ของความโกรธ เมื่อคุณปลดปล่อยมันอย่างพอเหมาะ สัญชาตญาณอันวิเศษกระตุ้นให้คุณไม่ตกในสถานะเป็นรองตลอดเวลา
วารสาร Journal of Experimental Social Psychology ตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ที่ชวนให้เราทำความเข้าใจความโกรธในอีกมุมมองหนึ่งว่า บางครั้งการปลดปล่อยความโกรธก็สามารถขับเคลื่อนความก้าวหน้าได้
การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน หรือสร้างวาระการทำงานร่วมกันอย่างแน่นอน เช่น คุณเองพยายามสร้าง Start Up ใหม่กับเพื่อนๆ ที่มีความคิดต่างกัน หรือการวางแผนธุรกิจที่ขับเคี่ยวสูง การใช้ความโกรธอย่างปรานีปราศรัย (และให้เกียรติกัน) ทำให้เป้าหมายที่วางไว้ไม่เฉไฉออกนอกเส้นทาง
แม้ความโกรธจะมีประโยชน์ในตัวของมันเอง แต่การใช้มันอย่างบ่อยครั้งเป็นใบเบิกทาง ก็เป็นเรื่องเป็นไปได้ที่คุณจะโดนไฟลวกเอาสักครั้ง
เมื่ออารมณ์ทำงานแทน
คนขี้โมโหมักรู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่แฟร์สำหรับเขา และมักตั้งแง่ว่าตัวเองกำลังถูกละเมิดอะไรต่อมิอะไรอย่างเกินกว่าเหตุ บางครั้งการตั้งมาตรฐานของตัวเองไว้สูงจนคนอื่นๆ ตามไม่ทัน กลับกลายเป็นการดูหมิ่นคนรอบๆ ข้างว่าไม่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางคนที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย การเหวี่ยงอารมณ์ใส่สักครั้งอาจกระตุ้นเตือนคนเหล่านี้ได้
ยิ่งเมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายหรือความกดดัน พวกเรามักใช้ทางออกที่ง่ายกว่าในการรับมือกับสถานการณ์ คือการยืมพลังความโกรธมาใช้แบบทันทีทันใด อะดรีนาลีนจากความฉุนเฉียวทำให้เลือดสูบฉีด หัวใจเต้นระรัว
จริงๆ แล้วความโกรธก็มีฤทธิ์คล้ายแอมแฟตามีน คุณจะรู้สึกได้ทันทีว่า เมื่อใช้ความโกรธจะมีพลังงานฉุกเฉินแผ่ซ่านทั่วร่าง และระงับอาการเจ็บปวดได้ระยะสั้นๆ ทำให้หลายคนรู้สึกมั่นใจขึ้นและรู้สึกกำลังคุมเกมอยู่
อย่างไรก็ตามคนขี้โมโหก็ยังเป็นมนุษย์ที่เราพอมีเหตุผลได้ด้วยอยู่ อย่างน้อยเราก็มีกระบวนการรับมือ
ไม่จำเป็นต้องกลัว
การเผชิญหน้ากับความโกรธไม่ได้หมายความว่าเราต้องกลัวอำนาจแห่งความโกรธ เพราะแท้จริงแล้วต้นตอของความโกรธเกิดจากความที่พวกเขาไร้พลังอย่างแท้จริง หรือเป็นไปได้ว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ มันเหมือนเด็กร้องไห้งอแงมากกว่าสิงโตคำราม ใครบอกว่าการแสดงอำนาจด้วยท่าที่โกรธเกรี้ยวคือวิถีแห่งผู้นำ เราว่าเอาคัมภีร์เล่มนั้นใส่ช่องเก็บรองเท้าจะดีกว่า
คุณเป็นส่วนหนึ่งของการเติมเชื้อไฟหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม มันก็ดีกว่าหากคุณมองตัวเองอยู่ร่วมในวงจรนี้ด้วย อย่าเข้าข้างตัวเองนัก หากคุณเป็นคนแรกๆ ที่ตีซะผึ้งแตกรังแต่ทำไม่รู้ไม่ชี้ คุณเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครเขาโกรธหรือเปล่า ความปั่นป่วนมักทุเลาลง หากคุณยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความไม่สบอารมณ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การขอโทษก็ไม่ใช่เรื่องเสียฟอร์มนัก
แต่หากคุณยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง อาจจะถึงเวลาที่ทำให้เขารู้ตัวเสียบ้าง ว่าคุณไม่ใช่ผู้รับอยู่ฝ่ายเดียว (แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้นะ)
ความโกรธเป็นนิสัยที่เคยชิน
เป็นเรื่องปกติที่การฟิวส์ขาดครั้งแรก จะมีครั้งที่สองตามมา หากในกรณีนี้มันไม่ใช่ความผิดของคุณแล้ว แม้เขาจะพยายามปั่นหัวคุณว่าเป็นต้นเหตุก็ตาม อย่ายอมรับว่ามันคือความผิดของคุณ เดินหนีไปเสียหากมีโอกาส อย่าพยายามชิงบัลลังก์แห่งอารมณ์ การต่อกรความโกรธด้วยความโกรธ ก็ไม่ต่างจากการเอาทีม Suicide Squad ไปไล่เตะก้นวายร้าย ถึงมันจะดูเร้าใจดีในตอนแรก แต่มันกลับให้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ (ซึ่งหนังก็ดันไม่สนุกจริงๆ)
รอให้เย็นลง
เมื่อร่างกายอยู่ภายใต้ความโกรธ มันแทบจะไม่รับฟังคำสั่งอะไรจากเราเลย มันเผาพลาญพลังงานซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว มักกินระยะเวลา 20 นาที หลังจากนั้นอะดรีนาลีนในกระแสเลือดจะลดความเข้มข้นลง การสร้างระยะห่างกับคนขี้โมโหเพื่อให้คุณมีที่ U Turn บ้างกันฉุกเฉิน ความเห็นอกเห็นใจเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างพลังได้ดีกว่าคำพูดเป็นร้อยๆ ถึงเวลาที่แสดงให้เห็นว่า คุณสมควรได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่า และไม่ได้มองเขาว่าเป็นศัตรูทางความรู้สึก
โลกที่ไม่มีความโกรธ ไม่น่าอยู่หรอก
แม้การจุดประเด็นทางการเมืองและศาสนา อาจจะไปกระตุ้นความรู้สึกโกรธเคืองของพวกเราบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะจบลงอย่างไร้ความหมาย การปะทะทางความคิดด้วยอารมณ์หลายครั้งกลายผลลัพธ์ที่ยกระดับชีวิตมนุษย์และตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์อันแท้จริงของพวกเราได้อย่างน่าสนใจ
ความโกรธเคืองของประชาชนต่อพลังอำนาจที่ไม่เป็นธรรม เราแสดงจุดยืนที่บางครั้งมักเคลือบไปด้วยอารมณ์ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ลองคิดว่าหากประชาชนไม่ใช้ความโกรธในการต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราก็คงอยู่ในระบบทาสกันอยู่ ผู้หญิงก็คงไม่มีสิทธิทางสังคมที่เท่าเทียมผู้ชาย ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่เห็นความสำคัญของระบบการศึกษา
ดังนั้นการที่เรียนรู้ว่า ‘คุณโกรธ ฉันก็โกรธ’ และยอมรับความโกรธซึ่งกันและกัน โดยที่มันไม่ผันตัวเองเป็นความรุนแรงเสียก่อน
ถึงเวลานั้นพวกเราจะขอบคุณความโกรธ เพราะมันทำให้เรารู้จักตัวเองในมุมที่เราไม่เคยมอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Deal With an Angry: What drives them, and how you can bring them back.
Posted Apr 04, 2009 Steven Stosny, Ph.D.