5 กลยุทธ์ในการสกัดกั้นอารมณ์โกรธ
เราทุกคนล้วนรู้ดีว่าความโกรธคืออะไร ไม่ว่าใครก็ต้องเคยรู้สึกโกรธกันทั้งนั้น เมื่อความโกรธพลุ่งพล่านจนเกินควบคุมและกลายเป็นหายนะ มันก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน ความสัมพันธ์ส่วนตัว และคุณภาพโดยรวมในชีวิตด้วย นอกจากนี้ความโกรธยังบ่อนทำลายสุขภาพของคนเรา เช่น เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เป็นต้น ดังนั้นการทำความเข้าใจและหาวิธีจัดการกับอารมณ์โกรธจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และนี่คือบุคลิกภาพ 4 ประเภทกับวิธีรับมือกับความโกรธ
- โกรธง่ายหายเร็ว
- โกรธยากหายช้า
- โกรธง่ายหายช้า (บุคลิกภาพในเชิงลบ)
- โกรธยากหายเร็ว (บุคลิกภาพในเชิงบวก)
โปรดสังเกตว่าทำไมประเภท 3 กับ 4 จึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นบุคลิกภาพในเชิงลบกับบุคลิกภาพในเชิงบวกทั้งที่ดูเหมือนว่านั่นคือพฤติกรรมโดยธรรมชาติ ขณะที่ประเภทที่ 1 กับ 2 กลับได้รับการพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติ
- บุคลิกภาพประเภทที่ 1 มีลักษณะเจ้าอารมณ์และอ่อนไหวง่ายดังนั้นเขาจึงโกรธง่ายแต่ก็หายเร็วด้วยเช่นกัน ส่วนประเภทที่ 2 ปัจจัยภายนอกจะไม่ค่อยส่งผลกระทบต่ออารมณ์มากนัก ดังนั้นเขาจึงโกรธยากแต่ก็หายโกรธช้าเนื่องจากอารมณ์ที่ค่อนข้างมั่นคง
- แต่ประเภทที่ 3 กับ 4 นั้นไม่ใช่พฤติกรรมโดยธรรมชาติ เนื่องจากประเภทที่ 3 ควรจะมีพฤติกรรมหายโกรธเร็วเนื่องจากรู้สึกโกรธง่าย ขณะที่ประเภทที่ 4 หายโกรธเร็วทั้งที่แนวโน้มโดยธรรมชาตินั้นโกรธยาก
- บุคลิกภาพประเภทที่ 4 เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรมีมากที่สุด อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาส่วนใหญ่กล่าวว่าการสะกดกั้นอารมณ์ของตัวเองนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีเนื่องจากต้องใช้พลังงานมหาศาลและอาจลุกลามบานปลายต่อไปได้ในอนาคต
เอาละเมื่อเราทำความเข้าใจความโกรธและการแสดงออกของมันแล้ว เคล็ดลับ 5 ข้อดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้
เมื่อคุณรู้สึกโกรธก็จงให้โอกาสตัวเองในการทำจิตใจให้สงบ เช่น เดินไปเดินมาอย่างน้อยสัก 1-2 นาทีเพราะ ณ วินาทีนี้การพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คุณควรรีบหาต้นตอของปัญหาพร้อมกับเตือนตัวเองว่าโกรธไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรเว้นแต่ว่าจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปกว่าเดิม
2. ใช้สรรพนาม “ฉัน” และต้องตรงประเด็น
เมื่ออารมณ์ของคุณสงบลงก็ให้พูดถึงปัญหาของตัวเองอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ทำร้ายจิตใจหรือพยายามโยนความผิดใส่ผู้อื่น ทางที่ดีควรใช้สรรพนาม “ฉัน” ในการอธิบายถึงปัญหา ยกตัวอย่างเช่น “ฉันโกรธที่เธอไม่ยอมอวยพรในวันเกิดฉัน” แทนที่จะเป็น “เธอไม่เคยจำวันสำคัญอะไรได้เลย”
3. หาเวลาพักผ่อนนอนหลับ
ความเหนื่อยล้าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความเครียด ความโกรธ และปฏิกิริยารุนแรงอื่นๆ หากคุณรู้สึกเหนื่อยมากเกินไปก็มีแนวโน้มว่าจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้
4. ผ่อนคลายจิตใจ
เมื่อคุณเริ่มรู้สึกโกรธ ลองพยายามหายใจเข้าออกเป็นจังหวะหรือท่องคำพูดซ้ำๆ เช่น “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” หรือไม่ก็ฟังเพลง เขียนหนังสือ หรือแค่หลับตาสัก 1-2 นาทีเพื่อสงบอารมณ์
5. ออกกำลังกายเรียกเหงื่อ
การออกกำลังกายจะช่วยคลายเครียดและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือทำให้คุณควบคุมอารมณ์โกรธได้ ดังนั้นเมื่อคุณเริ่มอารมณ์ไม่ดีก็ควรหาเวลาออกไปเดินเล่นหรือวิ่งรอบๆหมู่บ้านบ้าง หากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ในไม่ช้าคุณก็จะมีบุคลิกภาพประเภทที่ 4 (โกรธยากหายเร็ว) ได้ไม่ยาก
Blogger : David Zulberg
Source : mindbodygreen.com