ผลศึกษาชี้ โปรตีนจากพืช ยิ่งทาน ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิต
ผลศึกษาชี้ โปรตีนจากพืช ยิ่งทาน ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิต
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.ค.) ผลการศึกษาของสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า การรับประทานโปรตีนจากพืชในปริมาณที่มากขึ้น มีส่วนเชื่อมโยงกับการลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ขณะที่การรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง กลับมีส่วนเชื่อมโยงกับการเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
"โดยรวมแล้ว ผลการวิจัยของเราสนับสนุนความสำคัญของแหล่งโปรตีนที่ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว" Mingyang Song นักวิจัยในโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ และผู้เขียนรายงานกล่าว
"การค้นพบของเรายังช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับคำแนะนำเรื่องการบริโภคอาหารในปัจจุบันได้ว่า สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงในการรับประทานโปรตีน ไม่ใช่เพียงปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของโปรตีนอีกด้วย”
Song และเพื่อนร่วมงานของเขาได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลผลการศึกษาทางระบาดวิทยาในระยะยาว ขององค์กร Nurses' Health Study (NHS) และ Health Professionals Follow-up Study (HPFS) ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพอันครอบคลุมของผู้เข้าร่วมมากกว่า 170,000 คน มาตั้งแต่ปี 1980
กลุ่มผู้เข้าร่วมทุกคนต้องกรอกแบบสอบถามด้านสุขภาพโดยรวมทุกสองปี ทั้งยังต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของพวกเขา โดยเฉพาะความถี่บ่อยในการรับประทานอาหารบางประเภททุกสี่ปี
นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลขององค์กร NHS มานานกว่า 30 ปี และข้อมูลของ HPFS มากว่า 26 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ พบผู้เสียชีวิตกว่า 36,000 คน ที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 9,000 คน โรคมะเร็งประมาณ 13,000 คน และโรคอื่นๆ อีกประมาณ 14,000 คน
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากรูปแบบการใช้ชีวิต และปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการรับประทานอาหารแล้วพบว่า อาหารที่มีโปรตีนสูงจากเนื้อสัตว์ ไข่ หรือ นม มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงจากพืช ขนมปัง ธัญพืช พาสต้า ถั่ว และพืชตระกูลถั่ว กลับมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียด ก็พบความจริงที่ว่า โปรตีนที่บุคคลหนึ่งได้รับจากการบริโภคเนื้อสัตว์ จะส่งผลให้เกิดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่ส่งผลเสียสุขภาพอย่างน้อยหนึ่งข้อดังต่อไปนี้ เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก มีประวัติการสูบบุหรี่ หรือไม่ออกกำลังกาย