ข่มขืน เท่ากับ ประหาร ?
กระแสเรียกร้องของคนในโลกออนไลน์ ปลุกเร้าคนในสังคมด้วยข้อความ "ข่มขืน = ประหาร " จุดประเด็นให้มีการ "ประหารชีวิต" ผู้ต้องหาคดีข่มขืน " มีจุดเริ่มมาจากคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงวัย 13 ปี บนขบวนรถไฟ 174 สายล่องใต้ ที่เกิดขึ้น เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ปี 2557
และเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา คดีสลดใจก็เกิดขึ้นซ้ำอีก กับเหตุการณ์คนร้ายฆ่าปาดคอครูสาว อย่างเหี้ยมโหด ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ป้าย “ ขอเป็นอีก 1 เสียง ให้ประหารชีวิต ฆาตกร” ถูกปลุกเร้าขึ้นอีกครั้งระหว่างที่ชาวบ้านมารอดูโฉมหน้าฆาตกรระหว่างการทำ แผนประกอบคำรับสารภาพ คู่นานไปกับกระแสในสังคมออนไลน์ ที่มีการแสดงตัวตนของคนทุกสาขาอาชีพ ออกมาเรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิตกับคดีข่มขืน
"ข่มขืน เท่า กับประหาร ?? " กลายเป็นคำถามที่สังคมไทยทวงถามไปยังผู้เกี่ยวข้องในบ้านเมืองอีกครั้ง ..เพื่อต้องการให้มีการขีดเส้นตายในคดีข่มขืน หวังเป็นยาแรง ..ป้องกันไม่ให้คดีลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ตามมาด้วยเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวาง
หากชีวิตต้องแลกด้วยชีวิต ..ตามข้อเรียกร้องของคนในสังคมที่เห็นว่า คดีข่มขืน ต้องรับโทษประหารสถานเดียว ในมุมมองอีกด้านของนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กลับเห็นว่า "ข่มขืนเท่ากับประหาร" ไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้ผู้ร้ายคดีข่มขืนทุกราย จะต้องเป็นฆาตกรฆ่าปิดปากเหยื่อเพื่อปกปิดความผิด
แต่มุมมองหนึ่งที่สังคมเห็นตรงกัน คือคดีข่มขืน นับเป็นภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิงอย่างมาก เห็นได้จากข้อมูลของมูลนิธิปวีณาฯ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องราวร้องทุกข์ กว่า 92,000 เรื่อง เป็นการร้องทุกข์เกี่ยวกับข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 5,400 ครั้ง เฉพาะปีที่แล้ว เพียงปีเดียว มีราวร้องทุกข์ทั้งสิ้นกว่าหมื่นเรื่อง ในจำนวนนี้เกือบ 700 ราย เป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศ
แม้หลายคดีที่ผ่านมาจะสร้างความตื่นกลัวและความสลดใจให้สังคมไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมก็ยังคงคาดหวัง คือมาตรการป้องกัน และบทลงโทษที่เด็ดขาด ตัวเราเองจึงก็ต้องไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะความ เสี่ยงเช่นกัน เพื่อไม่เป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายได้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศได้..