ทางเลียบบนเจ้าพระยา 14,000ล้าน ที่ต้องแลกด้วยรากเหง้าประวัติศาสตร์ไทย
เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
“14,000 ล้านบาท อาจจะเป็นเงินภาษีของเราที่ถูกนำไปใช้ทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาโดยที่เรายุติไม่ได้” คุณยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าว
“ทางเลียบบนเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย?” นี่คือคำถามที่ประชาชนกำลังรอคำตอบที่ชัดเจนจากภาครัฐ ก่อนที่โครงการทางเลียบบนแม่น้ำเจ้าพระยาจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมกราคม 2560 นี้ ที่น่ากังวลที่สุด คือ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าโครงการนี้ทำไปเพื่ออะไร จะส่งผลกระทบเช่นไรบ้าง แม้แต่ชุมชนริมแม่น้ำกว่า 30 ชุมชนเองก็ยังไม่รู้รายละเอียดดีพอ ในเวลาที่เหลือเพียงไม่กี่เดือนกับการเดินหน้าก่อสร้างโครงการนี้
#RiverNotRoad #หยุดทางเลียบบนเจ้าพระยา
ช่วงสายของวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 สองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวและผู้คนต่าง ๆ มาเที่ยวและสัญจร เมื่อคิดถึงเจ้าพระยาสิ่งที่เรานึกถึงคงไม่ใช่ถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 5-7 เมตร บนตอหม้อขนาบสองฝั่งแม่น้ำ แต่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำอย่างเรือ และชุมชนเก่าริมน้ำที่สืบทอดอัตลักษณ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ท่ามกลางเรือที่สัญจรขวักไขว่ กลุ่มสมัชชาแม่น้ำและตัวแทนของกลุ่มคนรักแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 200 คน ได้มารวมตัวกันบนเรือเพื่อพูดคุยกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพฯ ที่เราไม่อยากสูญเสียไป และเปล่งเสียงบอกภาครัฐให้ “หยุดทางเลียบบนเจ้าพระยา” ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นโครงการที่ทำลาย มากกว่าพัฒนาสองฝั่งน้ำ
"ทุกคนใช้แม่น้ำไม่ว่าแง่ใดก็แง่หนึ่ง การชมแม่น้ำ คือการยืนชมริมแม่น้ำไม่ใช่มีการปิดกันด้วยเขื่อน กำแพง หรือถนน มันฆ่าหมดในแง่ความรู้สึก ท้องน้ำและวิถีชีวิตไทยเดิมจะถูกทำลาย การที่บอกว่าชุมชนยึดครองแม่น้ำนั้นไม่ถูก เพราะเขาเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำมายาวนาน เป็นบรรยากาศสาธารณะ แม่น้ำถูกใช้อยู่แล้วโดยกลุ่มธุรกิจ ชุมชน และประชาชนทั่วไป แต่การจะให้มหาชนมาใช้ต้องมีการให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนเลือกตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นการตัดสินของภาครัฐ อย่าทำเลย โอกาสปรับปรุงเจ้าพระยายังมีอีกเยอะแยะ" อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม กล่าว
ไม่ใช่เพียงการทำลายชุมชน แต่คือการทำลายรากเหง้าประวัติศาสตร์ไทย
โครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยามีระยะทางรวมทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร โดยในระยะแรกจะเริ่มต้นด้วยระยะทางนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และมีกรอบระยะการทำงานให้แล้วเสร็จพร้อมส่งแบบก่อสร้างภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในระยะ 14 กิโลเมตรมีชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจำนวน 33 ชุมชน โดยมี 9 ชุมชนที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ โดยจากข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่โครงการระบุไว้นั้น ภาพของเจ้าพระยาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างถาวร
1. เปลี่ยนเมืองเวนิสตะวันออก เป็นเมืองถนนลอยน้ำ
ทางเลียบบนแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้าง 5-7 เมตร ปลูกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ มีเสาตอหม้อปักลงในลำน้ำกว่า 400 ต้น ชุมชนเล็งเห็นว่ามีการแฝงเจตนารมณ์เพื่อเป็นถนนรองรับการสัญจรด้วยรถยนต์มากกว่าเป็นทางเดินหรือทางจักรยาน อีกทั้งการลงตอหม้อขนาดใหญ่จำนวนมากนั้นจะยิ่งทำให้แม่น้ำแคบลง และแผ่นดินริมฝั่งแม่น้ำอาจทรุดลง เร่งให้ผลกระทบจากอุทกภัยทวีคูณ
2. เปลี่ยนชุมชนริมน้ำ เป็นชุมชนริมกำแพง
หากมองสองฝั่งเจ้าพระยาจะพบว่าปัจจุบันมีกำแพงเขื่อนสูง 2.85 เมตร อันมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บดบังทิวทัศน์ระหว่างชุมชนและการเข้าถึงสายน้ำเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาน้ำขังให้กับชุมชน ในอนาคตหากต้องตอบโจทย์โครงการนี้จะต้องสร้างกำแพงสูงขึ้นอีก 45 เซนติเมตร บดบังเอกลักษณ์ของเมือง วัด และพระราชวังเก่าไปจนสิ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางอุทกภัยต่อชุมชนในจังหวัดอื่นที่อยู่รอบเจ้าพระยาตอนบนทั้งหมด แม่น้ำเจ้าพระยาจะคับแคบลง ปิดกั้นระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ ไม่ต่างอะไรกับคลอง หรือท่อระบายน้ำเส้นหนึ่ง
3. อัตลักษณ์ของชุมชนริมน้ำจะกลายเป็นสิ่งใด หากถูกตัดขาดจากแม่น้ำ
ถนนลอยน้ำขนาดใหญ่ และกำแพงสูง สองสิ่งนี้ก็เพียงพอที่จะปิดกั้นการเข้าถึงแม่น้ำของชุมชน หรือแม้แต่การสัญจรทางน้ำของประชาชน ยังไม่มีใครสามารถจินตนาการการใช้เจ้าพระยาผ่านกำแพงและตอหม้อได้ เรือเล็กจะสัญจรได้ดังเดิมหรือไม่ โป๊ะเรือสำหรับขึ้นลงเรือประจำทางจะอยู่ตรงไหน แล้วประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนที่ผูกพันมากับสายน้ำตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นจะต้องยุติลง กลายเป็นอื่นไป วัฒนธรรม วิถีชีวิตอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์จะสามารถหาจากที่ใดมาทดแทนได้
“เมื่อทราบข่าว 33 ชุมชนของเรากินไม่ได้นอนไม่หลับมาสามเดือน เราไม่รู้ไม่ได้ข้อมูลว่าโครงการนี้คืออะไร วันหนึ่งบอกเป็นทางคนเดินเป็นทางจักรยาน วันหนึ่งเป็นทางเลียบขนาดใหญ่ แล้วทำไปเพื่ออะไร ถามชุมชนก่อนไหม ช่วงปิ่นเกล้าถึงพระรามเจ็ดเป็นช่วงที่นักลงทุนจับจ้อง หากเร่งด่วนจำเป็นจริงทำไมไม่ทำช่วงที่เป็นบริเวณของโรงแรมก่อน แต่เริ่มที่บริเวณชุมชน ต่อไปสองฝั่งจะกลายเป็นสัมปทานของนายทุนใหญ่แน่นอน” คุณสรเทพ โรจน์พจนารัช – ตัวแทนเครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 33 ชุมชน กล่าว
“สถาพของชุมชนเจ้าพระยาจะเหลืออะไรถ้ามีถนนคอนกรีตขนาดยักษ์ ต้นทุนของเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ คือความหลากหลายของชุมชน นี่คือสิ่งที่ประเทศที่มีแม่น้ำในเมืองหลวงพยายามอนุรักษ์และรักษา ในอนาคตข้างหน้าถ้าสูญเสียไปแล้ว กี่หมื่นกี่แสนล้านก็เอาคืนไม่ได้ ถ้าเราทุกคนร่วมกันแสดงออกเราจะมีพลังมากพอที่จะทำให้ภาครัฐรับฟัง ประชาชนมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องส่งเสียงให้รัฐบาลได้ทราบ มติประชาชนยิ่งใหญ่กว่ามติครม.” อ.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ขณะนี้ 33 ชุมชนริมน้ำกำลังรวมตัวกันติดป้ายคัดค้านทางเลียบแม่น้ำที่กำแพงของบริเวณชุมชน เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำนั้นไม่ใช่การถามความคิดเห็นหรือแจ้งผลกระทบ แต่เพียงแค่ประชาสัมพันธ์โครงการ
“หลายโครงการของภาครัฐเข้ามาทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบตรึกตรองอะไร หากจุดประสงค์คือการทำทางให้เหมือนกับแม่น้ำเเซนของฝรั่งเศส หรือ แม่น้ำเทมส์ของอังกฤษ แต่เส้นทางริมแม่น้ำในเมืองใหญ่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐที่ไม่มีชุมชน ไม่มีการก่อสร้างโครงการใหญ่ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่ภาครัฐอยากจะสร้างประวัติศาตร์ความสวยงาม แต่หารู้ไม่ว่าจะกระทบกับชุมชน วัดวาอาราม โบราณสถาน ซึ่งมีกฎหมายที่ระบุไว้ว่าต้องอนุรักษ์” อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน
“การมีแม่น้ำหลายสายในประเทศคือสรวงสวรรค์ เมื่อเจ้าพระยาเปลี่ยนไปเราจะโหยหาในสิ่งที่สาบสูญไปแล้ว สังคมไทยไม่เคยถามชุมชนสักคำ เราอ้างว่าทำเพื่อประเทศ เพื่อส่วนรวม เพื่อการเดินทาง คนที่จะมาตัดสินอนาคตแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างผู้กำหนดนโยบายเคยอยู่กับแม่น้ำมาหรือเปล่า คิดว่าเราควรมีการถามพูดคุยแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ หาความจริงว่าวิถีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเจ้าพระยาคืออะไร คุณค่าของชุมชนวิถีชีวิตแบบเก่าแท้จริงมีมูลค่า ในเมื่อการท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ราคามันสูงมากถ้าปล่อยให้เปลี่ยนแปลงจะน่าเสียดายมาก เพียงแค่ปรับปรุงเจ้าพระยานิดหน่อยก็สามารถสร้างมูลค่า โดยที่วิถีชีวิตยังคงอยู่ แต่เรามักไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้สูญหาย ได้มาแต่เศษไม่ได้หัวใจที่ถูกทำลายไป” คุณมาโนช พุฒตาล ศิลปินนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าว
ถือเป็นการรวมพลังของกลุ่มคนอันหลากหลายที่มาร่วมกันปกป้องเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักคิดนักเขียน ศิลปิน สถาปนิก และประชาชนทั่วไป รวมถึงตัวแทนจากจังหวัดอื่นที่กังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มีตัวแทนจากคุ้งน้ำบางกระเจ้าและบางประกงมาร่วมให้คำมั่นว่าจะนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ให้ได้มากที่สุด หรือแม้แต่ตัวแทนจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่ตระหนักดีว่าหากผลกระทบเกิดขึ้นจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขฟื้นฟูนาน หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ กลุ่มคนเหล่านี้คือสมัชชาแม่น้ำที่ร่วมกันปกป้องเจ้าพระยาด้วยใจรักและหวงแหน ประกาศเจตนารมณ์ไว้ให้ภาครัฐทบทวนโครงการ พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา หากการพัฒนานั้นสามารถอยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชน ไม่เช่นนั้นแล้วเจ้าพระยาจะกลายเป็นอื่น หรือกลายเป็นเพียงสายน้ำที่ไร้ชีวิต เพราะอัตลักษณ์วัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์ไทย จะเอาโครงการมูลค่ากี่หมื่นล้านมาแลกก็ไม่มีทางคุ้ม
ที่มา: Greenpeace Thailand