การเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆนั้นทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
คงไม่มีใครอยากจะคิดว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่ไม่สนใจสิ่งต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่าในบางครั้ง การไม่สนใจต่อสิ่งต่างๆนั้นก็อาจจะมีประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นการอ้างอิงจากงานวิจัยใหม่ชิ้นหนึ่ง
นักวิจัยในสหรัฐฯได้พบว่าเวลาที่คนนั้นที่ถูกขอให้เพิกเฉยหรือไม่สนใจข้อมูลบางอย่างนั้นช่วยทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำงานบางอย่างที่ต้องใช้การมองเห็น ซึ่งเช่นเดียวกับการที่เรารู้ว่าเราต้องการจะหาอะไรนั้นช่วยให้เราหาของเจอได้เร็วขึ้น ในทางกลับกัน การรู้ว่าอะไรที่ไม่ต้องให้ความสนใจก็ช่วยให้เกิดผลเช่นเดียวกัน
“ผู้ที่สามารถเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ทำให้สับสนนั้นจะมีประสิทธิภาพในการค้นหาทางด้านสายตาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นความสามารถที่สำคัญสำหรับนักค้นหามืออาชีพเช่นแพทย์รังสีวิทยาและผู้ตรวจค้นกระเป๋าเดินทางที่สนามบิน” Corbin A. Cunningham ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยจาก Johns Hopkins University กล่าว “งานชิ้นนี้นั้นมีความสามารถที่จะช่วยอาชีพที่อาศัยการค้นหาด้วยสายตาด้วยโปรแกรมการฝึกฝนต่างๆในอนาคต”
ในขณะที่งานวิจัยในอดีตนั้นพบว่าการป้อนข้อมูลที่ไม่จำเป็นนั้นทำให้การค้นหาช้าลง งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ชี้ว่าเวลาเมื่อเรามีเวลาเพียงพอที่จะเรียนรู้ว่าเราควรเพิกเฉยต่ออะไรบ้างแล้วล่ะก็ มันจะช่วยให้เราค้นหาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในที่สุด
เพื่อที่จะทดสอบทฤษฎีดังกล่าว นักวิจัยได้ขอให้ผู้เข้าร่วมนั้นหาตัวหนังสือบางตัวจากกองตัวหนังสือที่ฉายอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งในการทดสอบบางครั้งนั้นก็มีการบอกใบ้ผู้เข้าร่วมเช่นสีที่พวกเขาไม่ควรให้ความสนใจ แต่ในบางครั้งก็ไม่มีการบอกใบ้ใดๆเลย
การค้นพบครั้งนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Psychological Science ได้แสดงให้เห็นว่าเวลาที่ผู้เข้าร่วมถูกบอกใบ้สีที่ไม่ต้องสนใจแล้วล่ะก็จะส่งผลให้พวกเขาค้นหาได้ช้าลงในช่วงแรก แต่หลังจากถูกบอกให้ไม่สนใจสีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอดการทดสอบหลายๆครั้ง (ประมาณ 100 ครั้ง) พวกเขาเริ่มที่จะระบุตัวอักษรเป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่าผู้ที่ไม่ได้ถูกบอกว่าต้องมองข้ามสีอะไรบ้างระหว่างการค้นหาเป็นอย่างมาก
“ความสนใจนั้นมักถูกมองว่าเป็นอะไรที่เพิ่มคุณภาพการประมวลผลวัตถุต่างๆที่สำคัญในโลก” Howard Egeth ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาในทีมกล่าว “การวิจัยครั้งนี้ได้เน้นความสำคัญของการจำกัดสิ่งเร้าต่างๆที่แข่งกันแย่งความสนใจของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นด้านมืดของความสนใจ”
อีกความหมายหนึ่งก็คือ ความสามารถในการเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆนั้นมีส่วนสำคัญของความสามารถของเราในการให้ความสนใจกับสิ่งที่สำคัญจริงๆได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยได้สนใจด้านดังกล่าวของวิทยาศาสตร์สมอง ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ค้นพบว่าสมองของเรานั้นสามารถปล่อยปละละเลยได้อย่าง “มีประสิทธิภาพที่สุด” เวลาที่เราสามารถเพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆเช่นความรู้สึกเจ็บปวด “นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลไกที่สมองเลือกใช้เพื่อกีดกันสิ่งก่อกวนต่างๆในสิ่งแวดล้อม” นักวิจัยกล่าว
นักวิทยาศาสตร์นั้นคิดว่าความสามารถในการกีดกันข้อมูลส่วนเกินนั้นสำคัญต่อวิธีการที่เราประมวลผลข้อมูลต่างๆ โดยงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโดยนักวิจัยที่ US National Institute of Neurological Disorders and Stroke เมื่อปีที่แล้วได้ทำแผนที่วงจรต่างๆในสมองของหนูซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนรับผิดชอบต่อการเพิกเฉยต่อสิ่งก่อกวนต่างๆที่มีมากเกินไป
ซึ่งถ้าวงจรเหล่านี้หยุดทำงานไปล่ะก็ นักวิทยาศาสตร์คิดว่าเราก็จะไม่รู้ว่าเราควรเพิกเฉยกับอะไร และเราก็จะไม่รู้ว่าเราควรจะให้ความสนใจกับอะไรด้วย
“เรามักใช้สิ่งเร้าทางประสาทที่เข้ามาหาเราเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์จากทั้งหมดเพื่อชี้นำพฤติกรรมของเรา แต่ในอาการผิดปกติทางระบบประสาทหลายอย่างนั้นสมองต้องแบกรับภาระมากเกินไป” หนึ่งในนักวิจัยกล่าว “สมองได้รับข้อมูลที่ไม่ได้ถูกควบคุมเป็นอย่างดีเพราะหน้าที่การกรองของสมองนี้อาจมีข้อผิดพลาดก็เป็นได้”
ดังนั้น ครั้งต่อไปที่มีใครบอกว่าคุณกำลังไม่ได้ใส่ใจนั้นก็ลองคิดว่ามันเป็นคำชมดูก็เป็นได้
ที่มา : www.sciencealert.com/getting-better-at-ignoring-things-makes-you-more-efficient-study-finds