ตามไปดูรถไฟตู้นอนใหม่เอี่ยมของไทย
ตามไปดูรถไฟตู้นอนใหม่เอี่ยมของไทย
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินข่าวใหญ่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยสั่งซื้อรถไฟตู้ นอนล็อตใหม่และล็อตใหญ่มาจากประเทศจีน นี่เป็นการซื้อรถไฟตู้นอนแบบใหม่เอี่ยมครั้งแรกในรอบ 20 ปีของไทย รถไฟชุดนี้จึงเต็มไปด้วยสิ่งพิเศษที่รถไฟไทยไม่เคยมีมาก่อน จนหลายคนต้องขยี้ตาดูว่า นี่มันคือรถไฟไทยจริงๆ หรือ ?
ไม่ว่ารถไฟชุดนี้จะอยู่ที่ไหน ไม่ว่ารถไฟชุดนี้จะเป็นของใคร ถ้าหากเรารู้ เราจะตามไปดู
มันคือรถอะไร
ปัจจุบันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรถไฟตู้นอนให้บริการอยู่แล้ว แต่เมื่อด้วยอายุอานามที่มากขึ้นจึงได้เวลาหาของใหม่มาใช้แทนของเก่า การสั่งซื้อคราวนี้มีทั้งหมด 115 คัน (เรียกแบบที่คุ้นๆ กันก็คือ 115 ตู้) แบ่งได้เป็น 4 ประเภท
1. ตู้นอนชั้นหนึ่ง (เรียกเต็มยศว่า รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1) 9 คัน
2. ตู้นอนชั้นสอง (รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2) 88 คัน ในจำนวนนี้ 9 คันมีระบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเข็นและผู้สูงอายุ
3. ตู้เสบียง (รถปรับอากาศขายอาหาร) 9 คัน
4. รถผลิตกระแสไฟฟ้า (รถปรับอากาศไฟฟ้ากำลัง) 9 คัน
รถเหล่านี้จะถูกนำมาเรียงต่อกันเป็นขบวน ซึ่งแต่ละขบวนจะมีทั้งหมด 13 คัน (ไม่รวมหัวจักรที่ใช้ลาก) ประกอบด้วย ตู้นอนชั้นหนึ่ง 1 คัน ตู้นอนชั้นสอง 9 คัน ตู้นอนชั้นสองที่มีระบบรองรับรถเข็น 1 คัน ตู้เสบียง 1 คัน ตู้ไฟฟ้ากำลัง1 คัน รวมเป็น 13 คัน รองรับผู้โดยสารได้ 420 ที่นั่ง รถทั้ง 115 คัน จะนำมาจัดเรียงเป็น ขบวนรถชุด ทั้งหมด 8 ขบวน และสำรอง 1 ขบวน
วิ่งเส้นไหน
รถชุดทั้ง 8 ขบวน จะนำไปวิ่งเป็นรถด่วนพิเศษใน 4 เส้นทางหลัก เส้นทางละ 2 ขบวนต่อวัน อีกขบวนเก็บไว้เป็นรถสำรอง เส้นทางที่วิ่งมีดังนี้ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่, กรุงเทพฯ - อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ - หนองคาย และ กรุงเทพฯ - หาดใหญ่
รถไฟชุดนี้เรียกว่าอะไร
ตอนนี้ชาวรฟท. เรียกมันตามชื่อโครงการที่เสนอขออนุมัติงบประมาณว่า 'ชุดรถโดยสารใหม่ 115 คัน' ซึ่งต่อไปจะมีการตั้งชื่อให้รถไฟแต่ละขบวน แบบเดียวกับรถด่วนพิเศษนครพิงค์ รถด่วนพิเศษทักษิณ ซึ่งจะเป็นชื่อที่ฟังแล้วรู้เลยว่าจะวิ่งในเส้นทางไหน
รถไฟชุดนี้มีอะไรให้น่าตื่นเต้นบ้าง
1. จอ LCD สุดล้ำ
ทุกที่นั่งบนรถไฟตู้นอนชั้น 1 จะมีหน้าจอ LCD ส่วนตัว ระบบสัมผัส ขนาด 14 นิ้ว ให้บริการ Passenger Information System ให้ข้อมูลของขบวนรถแบบเดียวกับเครื่องบิน แสดงสถานะว่าตอนนี้รถไฟถึงสถานีไหนแล้ว แสดงภาพถ่ายดาวเทียมบอกตำแหน่งขบวนรถ และระบบมัลติมีเดียเพื่อความบันเทิง แล้วก็ยังมีระบบนาฬิกาปลุก ที่ตั้งปลุกได้ทั้งตามเวลาและตามสถานี รวมถึงยังใช้หน้าจอนี้กดสั่งอาหารจากตู้เสบียงได้โดยตรง จากนั้นจะมีพนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้ถึงที่ ส่วนในตู้นอนชั้นสอง จะมีจอ LCD ติดไว้ 4 จุด เพื่อแจ้งตำแหน่งสถานี สถานีต่อไป ตำแหน่งรถ และวิดีโอต่างๆ ฉายๆ วนไป แบบจอรวมในเครื่องบิน
2. มีน้ำอุ่นให้อาบ
ตู้นอนชั้นหนึ่งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกน่าอิจฉาอีกอย่างก็คือ ห้องอาบน้ำที่ไม่ได้มีแค่ฝักบัวธรรมดาๆ แต่มาพร้อมน้ำอุ่นเลยทีเดียว
3. ระบบอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็น
รถไฟทุกขบวนจะมีหนึ่งตู้ที่มีระบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเข็นตามมาตรฐาน สากล ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำขนาดใหญ่ที่เอารถเข็นเข้าไปได้ ทางเดินกว้างขวาง และลิฟต์บริเวณประตูที่ยกรถเข็นขึ้นลงพื้นชานชาลาได้ทุกแบบ
4. มีกล้องวงจรปิดทุกตู้
ทุกตู้มีระบบกล้องวงจรปิดช่วยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร
5. พนักงานชุดใหม่
พนักงานที่จะให้บริการในรถชุดใหม่นี้จะเป็นพนักงานกลุ่มใหม่ ซึ่งได้รับการอบรมมาเป็นพิเศษ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ และสวมเครื่องแบบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษด้วย
6. สุขาระบบปิด
รถไฟชุดปัจจุบันที่ใช้กันอยู่เป็นสุขาระบบเปิด คือของเสียจากสุขาจะถูกปล่อยลงบนทางรถไฟ แต่รถไฟชุดนี้จะมีระบบเก็บของเสียที่มิดชิด ระบบสุญญากาศแบบเครื่องบินทำให้สามารถใช้บริการสุขาได้แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ รถจอดที่สถานี
7. บริการอาหารแบบใหม่
ตู้เสบียงในรถชุดนี้จะดูโมเดิร์นขึ้น และไม่มีครัวที่ประกอบอาหารเหมือนรถไฟที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงไม่มีการประกอบอาหารบนรถ แต่ใช้วิธีอุ่นอาหารแทน แล้วทางเดินภายในรถไฟรวมถึงทางเชื่อมระหว่างตู้ที่สะดวกสบายขึ้น ก็จะทำให้พนักงานสามารถเข็นรถบริการอาหารและเครื่องดื่มไปทั่วรถไฟแบบเดียว กับในเครื่องบินด้วย
8. มีปลั๊กไฟทุกที่นั่ง
ถ้าใครชอบนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือระหว่างทาง หรือเปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กทำงาน ก็ไม่ต้องกลัวแบตหมด เพราะทุกที่นั่งมีปลั๊กให้เสียบสายชาร์ตได้สบายเลย
9. เทคโนโลยีใหม่
รถไฟชุดนี้มีเทคโนโลยีใหม่หลายอย่าง เช่น ระบบการผลิตไฟฟ้าจาก Power Car แล้วจ่ายไฟฟ้าให้ทั้งขบวน รวมทั้งระบบแอร์ที่เชื่อมทั้งขบวนเข้าด้วยกัน จึงทำให้ประหยัดพลังงานและเงียบกว่ารถแบบเดิม ส่วนระบบเบรกก็เปลี่ยนมาใช้ระบบดิสก์เบรกแบบเดียวกับรถไฟความเร็วสูงและ รถไฟฟ้าจึงมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
10. เร็วกว่าเดิม
รถไฟชุดนี้ตัวโบกี้ (ชุดล้อ) ของรถโดยสารรองรับการทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จะวิ่งอยู่ที่ 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในการให้บริการ ซึ่งความเร็วนี้รวมถึงการจอดที่น้อยลงกว่าเดิมจะทำให้ถึงที่หมายปลายทางเร็ว กว่าเดิม อย่างเส้นกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ก็จะลดระยะเวลาเดินทางจาก 13 ชั่วโมง เหลือ 12 ชั่วโมง
จะใช้ได้เมื่อไหร่
ตอนนี้รถไฟเดินทางจากจีนมาถึงท่าเรือแหลมฉบังแล้ว 3 ชุด (ชุดละ 13 คัน) และกำลังอยู่ในช่วงการวิ่งทดสอบระบบ จะพร้อมให้บริการในเดือนตุลาคม 2559 เริ่มต้นที่เส้นทาง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ - อุบล
อยากขึ้นต้องทำยังไง
เนื่องจากรถไฟเหล่านี้เป็นรถไฟที่วิ่งประจำทางปกติ ก็สามารถซื้อตั๋วได้ตามปกติ โดยช่วง 3 เดือนแรก จะมีราคาเท่ารถไฟตู้นอนที่ให้บริการในปัจจุบัน หลังจากนั้นจะปรับราคาขึ้น ใครที่ห่างเหินการขึ้นรถไฟมานาน ก็น่าลองกลับมาใช้บริการรถรุ่นนี้ดูอีกสักครั้ง เผื่อจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งใจมอบให้ผู้โดยสารทุกคน