เพจอนุรักษ์เตือน พ่อค้า-แม่ค้าจับปลาซัคเกอร์ ตั้งชื่อเป็น ‘ปลาดำราหู’ หลอกคนอยากทำบุญ
เพจ Big Trees โพสต์เตือนหยุดปล่อยปลาซัคเกอร์ลงแม่น้ำ หลอกคนอยากทำบุญ ชี้ไม่ใช่ปลาท้องถิ่นในไทย หากปล่อยไปแล้วจะทำลายระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำ จับปลาซัคเกอร์ ตั้งชื่อเป็น ‘ปลาดำราหู’
เพจ Big Trees มีการโพสต์เตือนว่า "นอกเรื่อง Big Trees หน่อย แต่โคตรด่วน!!!! อยู่ๆก็มีกระแสปล่อยปลาซัคเกอร์ โดยเอามาตั้งชื่อขลังๆชื่อปลาดำราหู หลอกพวกอยากทำบุญสำเร็จรูป คือปลาซัคเกอร์นี่มันไม่ใช่ปลาท้องถิ่นในไทย ศัตรูทางธรรมชาติจึงแทบไม่มีเลย ประเด็นคือเมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะแล้วจะแพร่พันธุ์เร็ว แถมจะไปดูดไข่ (อาจรวมลูกปลาตัวเล็กๆมากๆๆๆๆ) ที่ปลาท้องถิ่นในไทยวางไว้ขยายพันธุ์ พอซักพักปลาท้องถิ่นแบบไทยๆ อย่างปลากระดี่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวายก็จะสูญพันธุ์ไปหมด กระแสหลอกกันทำบุญ แต่กลับเป็นบาปหนักมาแรงมาก เจอแล้วต้องช่วยกันรีบแจ้งจับด่วน"
ขณะที่เพจ Thon Thamrongnawasawat ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ได้โพสต์ถึงปัญหาปลาซัคเกอร์
"เรื่องปลาซักเกอร์กำลังมาแรง มีนักข่าวขอสัมภาษณ์ ก็เลยนำมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังไว้เป็นความรู้ครับ
Alien Species คือสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกมนุษย์นำเข้ามาในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิม ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
เอเลี่ยนสปีชีส์มีมานานหลายพันปี เช่น ชาวโรมันนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาเพื่อสู้กันในโคลอสเซี่ยม
เอเลี่ยนสปีชีส์มีมากขึ้นในช่วงที่ชาวยุโรปเริ่มสร้างอาณานิคม เช่น หมาดิงโก้ในออสเตรเลีย ฯลฯ
สัตว์ต่างถิ่นไม่จำเป็นต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้เสมอไป บางชนิดก็ไม่รอดในธรรมชาติ แต่บางชนิดอาจรอดและแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว
การขยายจำนวนเกิดจากอาหารในธรรมชาติมีมากหรือศัตรูในธรรมชาติมีน้อย
เหตุผลที่ผู้ล่าของเอเลี่ยนสปีชี่ส์มีน้อย เพราะสิ่งมีชีวิตจะวิวัฒนาการควบคู่กันมา มีเหยื่อ-มีผู้ล่า เป็นวงจรมาแสนนาน
เอเลี่ยนที่มาจากท้องถิ่นแห่งหนึ่ง มาอยู่ในพื้นที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนั้นมาก่อน ทำให้ผู้ล่าในท้องถิ่นไม่สามารถล่าได้ เนื่องจากไม่เคยวิวัฒนาการมาเพื่อกินเหยื่อชนิดนั้นเลย
เอเลี่ยนสปีชีส์บางครั้งอาจไม่ทำให้เกิดผลกระทบ หรือมีน้อยจนไม่สามารถบ่งชี้ได้ เช่น ปลาน้ำจืดบางชนิดที่นำมาเลี้ยงในทะเลสาบอเมริกาเพื่อเป็นกีฬาตกเบ็ด จึงไม่จำเป็นว่าเอเลี่ยนสปีชี่ส์ต้องก่อให้เกิดปัญหาเสมอไป
หากเอเลี่ยนสปีชี่ส์ทำให้เกิดผลกระทบ เราเรียกว่า Invasive Species
ผลกระทบอาจเกิดได้หลายแบบ แต่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ด้าน คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสุขภาพ
ปลาซักเกอร์เป็นปลาน้ำจืดในอเมริกาใต้ ขนาดใหญ่สุดประมาณ 50 เซนติเมตร บางครั้งเรียก “ปลากดเกราะ” กินอาหารไม่เลือกโดยใช้วิธีดูด
คนไทยนำลูกปลาซักเกอร์มาดูดตะไคร่ในตู้ปลา ไม่ต่ำกว่า 35-40 ปี แต่ต่อมาเมื่อปลาตัวใหญ่มาก กินอาหารไม่พอ เริ่มไล่ดูดปลาอื่น คนเลี้ยงจึงปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
เมื่อไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ อีกทั้งแหล่งน้ำเมืองไทยมีอาหารสมบูรณ์ จึงเติบโตและแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นปลาอึด อยู่ในแทบทุกสภาพน้ำ จึงแพร่กระจายไปทั่ว
ปลาซักเกอร์ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ บ่อปลาที่ชาวบ้านทำไว้เพื่อจับปลาตามธรรมชาติ กลับมีแต่ปลาซักเกอร์มากมายที่นำไปใช้ประโยชน์แทบไม่ได้ ยังหมายถึงการลดลงของปลาเศรษฐกิจน้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ
การรณรงค์จึงเน้นที่อย่าเลี้ยงปลาซักเกอร์ อย่าปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด
การแก้ไขจริงจังจึงอาจต้องเริ่มต้นที่กฎหมาย แม้อาจไม่สัมฤทธิ์ผล แต่อย่างน้อยก็เป็นการก้าวไปข้างหน้าบ้าง หลังจากเราวนเวียนกับมาตรการที่ไม่ค่อยได้ผลมานาน
สำหรับภัยร้ายของปลาซัคเกอร์ ได้มีสมาชิกเว็บไซต์พันทิป TRYTLE จากสาขาพัฒนาการเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ทำภาพในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก ระบุถึงแหล่งระบาดของปลาชนิดนี้ใน 14 จังหวัดของประเทศไทย รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยปัญหาหลักของปลาซัคเกอร์นั้นจะทำให้ปริมาณปลาท้องถิ่นมีจำนวนที่ลดลง