ทำไมคนเราจึงกลัวผี?
(Photo By : thedesignblitz.com)
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ล้วนมีความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น บางคนกลัวสัตว์ต่างๆ อย่างจิ้งจก ตุ๊กแก แมลงสาบ บางคนกลัวความมืด และหนึ่งอย่างที่มนุษย์จำนวนมากพากันหวาดกลัว นั่นคือ “ผี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเทศกาล Halloween
แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวผี? มีผู้ทรงความรู้จากศาสตร์หลายด้านได้อธิบายเอาไว้ด้วยหลายคำอธิบาย บทความนี้จะทำให้เราพอจะทราบคำอธิบายถึงเหตุที่คนกลัวผีจากด้วยความรู้จากหลายสาขา
ในทางจิตวิทยา มีทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับการกลัวผีอยู่หลายทฤษฎี บ้างก็ว่าความกลัวผีนั้นเป็นความกลัวประเภท “กลัวสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง” เป็นผลมาจากการเรียนรู้ เมื่อปราศจากการเรียนรู้ก็จะไม่มีความกลัว ที่มนุษย์กลัวผีนั้นส่วนหนึ่งเพราะในวัยเด็กถูกถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ใหญ่ ผ่านคำบอกเล่า ผ่านคำขู่ หรือสื่อต่างๆ ว่ามีผี ทำให้มีการสร้างมโนภาพไว้ในใจว่าผีมีลักษณะเช่นที่ได้รับการปลูกฝังมา
บางทฤษฎีก็อธิบายว่าผีนั้นเกิดมาจากความกลัวในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ ได้แก่
1.ความกลัวสภาพหลังการตาย คือกลัวการเป็นศพ กลัวสภาพเน่า ซึ่งผีซึ่งเกิดมาจากความกลัวนี้มักมีสภาพอันเน่าเฟะ
2.ความละอายใจจากการทำผิดศีลธรรม ผีประเภทที่เกิดจากความกลัวดังกล่าวจะเกิดจากคนนั้นทำผิดศีลธรรมที่ยึดถือ เช่นฆ่าคน จิตใต้สำนึกจึงเกรงกลัวว่าจะถูกล้างแค้น หรือถูกลงโทษที่ทำผิด จึงสร้างผีขึ้นมาเพื่อลงโทษตนเองที่ทำผิดศีลธรรม
3.ความกลัวต่อสิ่งที่ไม่เข้าใจ เช่นไม่เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ จิตใต้สำนึกจึงสร้างเรื่องผีหรือสิ่งลี้ลับมาอธิบายปรากฏการณ์นั้น
4.ความกลัวต่อสิ่งที่มองไม่เห็น เช่นความมืด
ในทางมานุษยวิทยา มีคำอธิบายว่าในสังคมมีพื้นที่ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วน คือพื้นที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Sacred World) คือพื้นที่ของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติและพื้นที่ของสิ่งธรรมดา (Profane World) คือชีวิตปกติประจำวันทั่วไปของมนุษย์ในสังคมซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติและมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูเด็กในสังคมนั้นๆ
สังคมที่เชื่อว่าสิ่งลี้ลับที่เป็นมิตร ช่วยเหลือมนุษย์ ในสังคมนั้นจะผู้ใหญ่จะเลี้ยงดูเด็กด้วยการตอบสนองความต้องการอย่างดี ดูแลเอาใจใส่อย่างอ่อนโยน ทำให้ผู้คนซึ่งโตมาจากเด็กในสังคมนั้นก็จะไม่กลัวสิ่งลี้ลับและคาดหวังว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างดีจากสิ่งเหล่านั้น แต่หากเป็นสังคมที่เชื่อกันว่าสิ่งลี้ลับมีลักษณะโหดร้าย น่ากลัว ให้โทษและสามารถทำร้ายมนุษย์ เราจะสังเกตได้ว่าผู้ใหญ่ในสังคมนั้นตอบสนองต่อเด็กด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง มีการลงโทษ ด่าว่าเมื่อเด็กไม่ได้ดังใจทำให้เด็กที่โตมาจากสังคมนั้นจะกลัวผีทำร้ายเหมือนที่ผู้ใหญ่เคยทำ
ในทางพุทธศาสนา มีคำกล่าวว่า แม้มีคำอธิบายว่าอารมณ์กลัวผีนั้นมีต้นเหตุมากมาย คือความไม่เข้าใจในสิ่งนั้นบ้าง การมีความกังวลติดตัวอยู่บ้าง อาฆาตจองเวรคนไม่ชอบพอกันบ้าง รักตัวเองจนไม่อยากตายบ้าง แต่แท้ที่จริงนั้นความกลัวก็เป็นสิ่งที่เกิดมาจากมูลเหตุอันสำคัญอันเดียว ที่ทำให้เกิดความรัก ความโกรธ ความหลง มูลเหตุอันเดียวที่ว่าก็คืออุปาทาน หรือความยึดถือต่อตัวเองว่า ฉันมี ฉันเป็น จึงทำให้เกิดความกลัวผีนั่นเอง เมื่อขัดเกลาจิตใจจนสามารถละความยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดถือว่าฉันมี ฉันเป็น ก็ละกิเลสเหล่านั้นลง ก็จะหายกลัวผีได้
อ้างอิง :
พุทธทาสภิกขุ , ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ , พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ ,2538
ยศ สันตสมบัติ, มนุษย์กับวัฒนธรรม , พิมพ์ครั้งที่ 4 .กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2556