ทำไมเศรษฐกิจญี่ปุ่นถึงซบยาว
โดยคุณ ชัชวนันท์ สันธิเดช
ตั้งแต่ผมยังเป็นวัยรุ่น ก็ได้ยินมาตลอดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซา และถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 20 ปี ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่
ผมได้ลองอ่านหนังสือและหาข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขอลองสรุปให้ฟังนะครับว่า ทำไมมันถึงติดหล่มไม่ไปไหนซักที
1. ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่ใช้การ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ตั้งแต่ ศก.เริ่มชะลอตัวเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยใช้มาตรการทุกอย่าง ทั้งการลดภาษี เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยกู้เงินเพื่อเอามาเป็นค่าใช้จ่ายเหล่านั้น
2. การกู้เงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีหนี้ต่อ GDP ถึง 200% มากกว่าอเมริกาและเยอรมัน จะแพ้ก็แต่ “ซิมบับเว” ประเทศเดียว
3. การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ศก.ญี่ปุ่นแย่ เพราะ ศก.ของประเทศหนึ่งๆ จะโตได้ก็ด้วย “ผลิตผล” และ “การเพิ่มขึ้นของประชากร” เพื่อจะได้ช่วยกันสร้างผลิตผล และช่วยกันบริโภคให้ ศก.เติบโต แต่ประชากรญี่ปุ่นกลับมีแต่จะลดลง ที่ยังอยู่ก็เป็นคนแก่เสีย 1 ใน 4 ซึ่งไม่ได้สร้างผลผลิต มีแต่จะเป็นภาระให้รัฐต้องเลี้ยงดู ปีหนึ่งๆ คิดเป็นงบประมาณมหาศาล
4. เมื่อ GDP ไม่เพิ่ม แต่หนี้เพิ่ม แถมประชากรยังลดลง ทำให้หนี้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น เท่ากับคนญี่ปุ่นเกิดมาก็เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว
5. ถามว่า เป็นหนี้ขนาดนี้ ทำไมยังไม่ล้มละลาย คำตอบก็คือ ญี่ปุ่นเอาตัวรอดมาได้เรื่อยๆ ด้วยการ “ลดดอกเบี้ย” แม้หนี้จะเพิ่มขึ้นสามเท่าในรอบ 20 ปี แต่ด้วย rate ที่ลดลง ทำให้ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ไม่เพิ่มขึ้น และกลับจะลดลง
6. ถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นลดดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ และเพิ่งเริ่มใช้นโยบาย “ดอกเบี้ยติดลบ” (ซึ่งถ้าใครพูดเรื่องนี้เมื่อยี่สิบปีก่อนคงโดนมองว่าบ้าไปแล้ว) อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ หรือถึงขนาดติดลบ ก็จะส่งผลเสียอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ …
7. พอดอกเบี้ยต่ำมาก แทนที่ต่างชาติจะซื้อพันธบัตรญี่ปุ่น ก็หันไปซื้อพันธบัตรของชาติอื่นๆ โดยเฉพาะพันธบัตรสหรัฐฯ และเยอรมัน ซึ่งให้ดอกสูงกว่า และยังดูมั่นคงกว่าญี่ปุ่นเสียอีก นั่นจะทำให้ญี่ปุ่นขายพันธบัตรไม่ออก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “กู้เงินไม่ได้” สุดท้ายจึงเลี่ยงไม่พ้น ต้องขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดีเพื่อให้แข่งกับต่างชาติได้ ไม่งั้นก็ไม่มีเงินใช้
8. แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ย รัฐบาลญี่ปุ่นก็จะซวยอีก เพราะหนี้ก็ท่วมหัวอยู่แล้ว หากดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้มากขึ้น ทำให้อาการยิ่งร่อแร่กว่าเดิม
9. สุดท้ายแล้ว ญี่ปุ่นเองอาจต้องขึ้นดอกเบี้ย โดยใช้การ “พิมพ์แบงก์” ออกมาชำระหนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่พิมพ์แบงก์เองได้เหมือนกับอเมริกา ต่างจากประเทศ EU ที่ใช้เงินสกุลเดียวกันซึ่งจะทำเช่นนั้นไม่ได้
10. ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้นวัตกรรมใหม่เลียนแบบสหรัฐฯ คือการทำ “คิวอี” หรือการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่นั่นก็มีผลเสียอีกเช่นเคย คือทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรง และค่าเงินเยนลดฮวบลง พร้อมๆ กับเป็นการทำลายกำลังซื้อของประชาชน พูดง่ายๆ คือ จะทำให้คนญี่ปุ่น “จนลง”
จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสภาพเหมือน “วัวพันหลัก” คือทำยังไงก็ไม่พ้นปัญหา เป็นความหมักหมมมาหลายสิบปี จะแก้ยังไงก็เจ็บทั้งนั้น ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง
จากที่ได้ศึกษามา ผมมองว่าสาเหตุสำคัญของเศรษฐกิจที่ตกต่ำของญี่ปุ่น เป็นผลมาจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเอง ที่มักให้รางวัลตามระบบอาวุโสและอายุงาน มากกว่าการให้รางวัลตามการสร้าง “ผลิตผล” เหมือนระบบอเมริกัน
ขณะที่ชีวิตของคนญี่ปุ่น เป็นชีวิตที่เคร่งเครียดและต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทั้งยังไม่อาจพึ่งพาให้รัฐบาลเลี้ยงดูตนเองในยามแก่ชราได้อีกต่อไป พูดง่ายๆ คือ “ปัจจุบันก็ไม่ดี อนาคตก็ไม่แน่”
คนไทยบางคนไปเที่ยวญี่ปุ่นและรู้สึกนิยมชมชอบ บางคนถึงกับอิจฉาคนญี่ปุ่นที่ได้เกิดมาในประเทศที่มั่งคั่ง ซึ่งนั่นเป็นเพียงมายาคติที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย หากศึกษาอย่างถ่องแท้แล้วเราจะมองเห็นอะไรชัดเจนมากขึ้นครับ
(ข้อมูลประกอบสำคัญ จากหนังสือ The Little Book of Sideways Market โดย วิทัลลีย์ แคตเซอเนลสัน, CNBC .com, Bloomberg .com, wikipedia)
โดยคุณ ชัชวนันท์ สันธิเดช
ข้อมูลประกอบสำคัญ จากหนังสือ The Little Book of Sideways Market โดย วิทัลลีย์ แคตเซอเนลสัน, CNBC .com, Bloomberg .com, wikipedia