นักวิทย์พบที่มาของดวงจันทร์ของดาวอังคารแล้ว หลังเข้าใจผิดกันมานาน
ดวงจันทร์ในระบบสุริยะมีที่มาแตกต่างกันหลายแบบ
- ก่อตัวในเนบิวลาดาวเคราะห์พร้อมๆกับดาวแม่ และเคลื่อนเข้ามาในวงโคจรของดาวแม่ เช่นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเคราะห์แก้สต่างๆ
- เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกดาวแม่จับมาภายหลัง เช่นดวงจันทร์ขนาดเล็กของดาวเคราะห์แก้สต่างๆ
- เป็นส่วนหนึ่งของดาวแม่ที่ถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ชนแล้วหลุดออกมาเป็นดวงจันทร์ เช่นดวงจันทร์โลก และที่ค้นพบล่าสุดจนเป็นที่มาของบทความนี้ คือ ดวงจันทร์ของดาวอังคาร
ดาวอังคารเพื่อนบ้านของเรามีดวงจันทร์อยู่ด้วยกัน 2 ดวง คือโฟบอสและไดมอส ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่มีรูปร่างประหลาดคล้ายกับมันฝรั่ง ทำให้แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าดวงจันทร์ของดาวอังคารเป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารจับมาเป็นบริวาร
แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีสมมติฐานใหม่เกี่ยวกับการกำเนิดของดวงจันทร์โฟบอสและไดมอส ว่าที่แท้แล้วน่าจะมีต้นกำเนิดไม่ต่างไปจากดวงจันทร์ของโลกเรา นั่นคือเกิดมาจากการเนื้อมวลดาวอังคารที่ถูกวัตถุขนาดใหญ่พุ่งชน
จากการค้นคว้าของทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวเบลเยี่ยม (ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นด้วย) ประกอบกับการใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทำให้เห็นภาพว่าดวงจันทร์โฟบอสและไดมอสนั้น น่าจะถือกำเนิดขึ้นมาจากเนื้อมวลของดาวอังคารที่ถูกวัตถุที่มีขนาดถึง 1 ใน 3 ของมัน (ประมาณดาวพลูโต) พุ่งชน เมื่อราว 4 พันล้านปีที่แล้ว การชนเกิดขึ้นบริเวณขั้วเหนือของดวงอังคาร ทำให้ชิ้นเนื้อของดาวแตกกระจายออกไปรอบๆคล้ายกับแผ่นจานที่มีรัศมีถึง 3620 กิโลเมตรล้อมรอบตัวดาวเอาไว้ โดยเศษหินที่มีความหนาแน่นสูงบริเวณชั้นในของแผ่นจานได้รวมตัวขึ้นเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่กลับโชคไม่เข้าข้างเมื่อดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่ว่าค่อยๆตกลงไปในดาวอังคารอย่างช้าๆ จนสุดท้ายมันก็ได้กลับไปรวมกับดาวอังคารอีกครั้ง คงเหลือแต่เพียงดวงจันทร์สองดวงที่เกิดจากเศษหินที่อยู่ในบริเวณแผ่นจานชั้นนอกซึ่งก็คือโฟบอสและไดมอสในทุกวันนี้
ถึงแม้ว่าการจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะสอดคล้องกับสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งไว้ แต่เรายังคงต้องการหลักฐานมากกว่านี้เพื่อยืนยันว่าโฟบอสและไดมอสเกิดขึ้นมาจากดาวอังคารจริงๆ โดยทาง Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ของประเทศญี่ปุ่นได้วางแผนการเดินทางไปยังดวงจันทร์โฟบอสของดาวอังคารภายในปี 2020 เพื่อที่จะเก็บตัวอย่างเศษหินแล้วนำกลับมาเพื่อวิเคราะห์บนโลกในปี 2026 หากตัวอย่างเศษหินของดวงจันทร์มันฝรั่งไม่ต่างจากดาวอังคาร สมมติฐานที่ว่านี้ก็เป็นจริง
ที่มา http://www.iflscience.com/space/moons-of-mars-may-have-formed-when-the-red-planet-was-hit-by-a-plutosized-object/
เรียบเรียงโดย @MrVop