เตือนนักศึกษาระวังภัย Work and Travel
คำบอกเล่าจากปากของนิดานุช ศิริธนะวุฒิชัย นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยชื่อดังใจกลางกรุงคนนี้ บอกเล่าถึงข้อดีของโครงการ Work and Travel หรือโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานและท่องเที่ยวในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างถูกกฎหมายช่วงปิดภาคเรียน ประมาณ 2-4 เดือน เธอมองว่าเมื่อกลับมาจะได้ความรู้และประสบการณ์ชีวิตมากมาย
นิดานุช ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Work and Travel กับเอเจนซี่แห่งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2558 โดยโอนค่าสมัครเข้าร่วมโครงการงวดแรก เป็นเงิน 4850 บาท จากนั้นภายใน 30 วัน ได้โอนเงินค่าโครงการงวดที่ 2 จำนวน 49000 บาท ตามไป และค่าดำเนินการส่วนเกินอีก รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบ 6 หมื่นบาท
เธอเลือกไปทำงานที่ไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษมากนักในร้านอาหาร จากนั้นเอเจนซี่ได้นัดวันสัมภาษณ์กับนายจ้างที่สหรัฐผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ สไกค์ ก่อนจะได้รับคำตอบว่าสอบผ่าน ซึ่งนายจ้างจะส่งเอกสารสิทธิ์ มาให้เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอวีซ่า จนเมื่อปลายเดือนมีนาคม เธอได้เข้าปฐมนิเทศกับนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเตรียมเดินทางไปสหรัฐในวันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อเริ่มงานวันที่ 20 พฤษภาคม 2559
ความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะไปหาประสบการณ์ชีวิตและฝึกฝนภาษาในสหรัฐอเมริกา ต้องกลายเป็นเพียงความฝัน เมื่อ เอเจนซี่ ในไทย แจ้งว่า เธอไม่มีสิทธิเดินทางไปได้ในครั้งนี้ เพราะนายจ้างปรับลดจำนวนคนงานลง
เอเจนซี่มี 2 ทางให้เลือกคือ รอไปปีหน้า หรือ รับเงินคืน 90% ซึ่งนิดานุชไม่สะดวกกับการเดินทางปีหน้า เธอจึงเลือกอย่างหลัง แต่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงไม่สามารถรับเงินคืนได้ทั้งหมด เพราะเธอไม่ได้เป็นคนผิดสัญญา
นิดานุช จึงตัดสินใจนำเรื่องราว ไปตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป เพื่อบอกเล่าและขอความเห็นจากสังคมออนไลน์ ได้รับรู้ข้อมูลและปัญหาของเธอ ไม่นานก็มีเพื่อน ๆ นักศึกษาเข้ามาบอกเล่าประสบการณ์มากมาย ทำให้พบว่า ที่ผ่านมาหลายคนเจอเหตุการณ์คล้ายคลึงกันและบางคน ถูกมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาตั้งตัวเป็นเอเจนซี่ หลอกลวง ถึงขั้นเสียเงินไปทั้งหมดแต่ไม่ได้โอกาสเดินทางไปร่วมโครงการ
ทีมงานรู้เล่ห์ทันภัยสอบถามข้อมูลไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.พบข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ร้องเรียนปัญหา work and travel 27 ราย ใน 2 ประเด็นหลัก คือ บริษัทไม่สามารถจัดการให้ผู้เข้าร่วมโครงการเดินทางไปต่างประเทศได้ และผู้เข้าร่วมโครงการได้ทำงานไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ โดยบริษัทที่ถูกกล่าวหา มีอยู่ 5 บริษัทจากทั้งหมดเกือบ 30 บริษัท
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเงิน ที่เอเจนซี่จะคืนให้เพียง 90% โดยอ้างในสญญาว่าเป็นค่าดำเนินการที่ไม่สามารถคืนให้ได้ ทำให้ผู้ที่คิดจะร่วมโครงการนี้ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
เจ้าหน้าที่ สคบ.ยอมรับว่า โครงการนี้มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมและไม่มีหน่วยงานใดเข้ามากำกับดูแลโดยตรง ที่ผ่านมามีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาเปิดบริษัทนายหน้าหรือเอเจนซี่เพื่อตั้งใจหลอกลวงต้มตุ๋น เมื่อเกิดปัญหาจะใช้วิธีปิดหนี แล้วเปิดใหม่ในชื่ออื่น บทสรุปสุดท้ายจบลงที่ สคบ.เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งมีทั้งตกลงกันได้ และฟ้องร้องดำเนินคดี
สคบ.ฝากเตือนนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ work and travel ไม่ควรมองแต่ข้อดี ก่อนตัดสินใจสมัครต้องหาข้อมูลเอเจนซี่ให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งสอบถามคนที่เคยเข้าร่วมโครงการและตรวจสอบประวัติผ่านโลกโซเชี่ยล เพราะโครงการนี้อยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงมานานแล้ว