เทพเจ้ากวนอู..เทพแห่งความสัตย์ซื่อ ถืออำนาจบารมี
ใบหน้าสีแดงชาด ถือศาสตราวุธ ง้าวมังกรเขียว รูปจันทร์เสี้ยว เล่าขานตำนานวีรบุรุษ เจ้าของสมญา "จงอี้เสินอู่กวนเสิ้งต้าตี้ หรือ มหาเทพ (แซ่) กวนผู้ยิ่งใหญ่ ตัวแทนแห่ง คุณธรรมและความกล้าหาญ" บุรุษผู้มีตัวตน และได้รับการจารึกคุณงามความสัตย์ซื่อในวรรณกรรมจีนอมตะอย่างสามก๊ก จนถูกยกให้เป็นเทพในความเชื่อของลัทธิเต๋า
ก่อนที่ศรัทธาที่อยู่ในจิตวิญญาณของลูกหลานพันธุ์มังกร ได้นำพาเทพเจ้าองค์นี้จากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าสู่ผืนแผ่นดินไทย ตามการอพยพเมื่อครั้งอดีต
ความเชื่อมัน ในความศักดิ์สิทธิ คุณธรรมน้ำมิตรและความจงรักภักดี ทำให้ศาลเจ้าจีนในเมืองไทยแทบทุกแห่ง มีโต๊ะบูชาเทพเจ้ากวนอู ให้สักการะ แต่ที่ได้รับการยืนยันว่ารากที่หยั่งลึกในแผ่นดินสยาม มาแต่ครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ ศาลเจ้ากวนอูย่านคลองสานแห่งนี้....
"ศาลเจ้ากวนอู ย่านคลองสานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นศาลเทพเจ้ากวนอูที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศแล้ว ที่นี่ยังมีเทพเจ้ากวนอูใน 3 ท่าทางหลัก ๆ ที่คนไทยนิยมบูชา คือ (มีกราฟฟิก) ท่ายืน มี 2 ปาง ท่าขี่ม้า 2 ปาง และท่านั่งอีก 7 ปาง ... และเมื่อมาถึงที่นี่การขอพรกับเทพเจ้ากวนอูในท่ายืนองค์นี้ ด้วยการจับเท้า พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอพร 1 ข้อ แต่ก็มีไม่น้อยที่นำความทุกข์ พรที่ต้องการวอนขอ หรือแม้แต่การลงทุนขนาดใหญ่อย่างการขายที่ดิน นิยมถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน และจดหมายมาฝากไว้ที่เอวของเทพเจ้ากวนอูแบบนี้ครับ"
หน้าตามที่ดุดัน ผสานลีลาท่าทางตั้งมั่น จับง้าวคู่กายพร้อมสู้ แม้รูปรอยจะเกิดจากจินตนาการที่สร้างสรรค์รูปรอยไว้เป็นตัวแทน แต่ว่ากันว่า ให้ความหมายที่ดี ต่อผู้ประกอบธุรกิจ คิดอ่านสิ่งใด ก็จะมีชัยทั้งปวง ไม่ต่างจากปางทรงม้า ที่ถือเป็นสัตว์สูงศักดิ์ ตอบสนองที่รวดเร็วและว่องไว แต่ในทางพลานุภาพ เชื่อว่า เป็นพลังส่งต่อให้ฟันฝ่าทุกการแข่งขันได้
นำ โม ไต่ ซื้อ ไต่ ปุย ฮก หมอ ไต่ ตี่ เต็ก เต็ก เสี่ยง จี๋ เสียง โก้ว ฮุก เง็ก เตี้ยง ไต่ เทียน จุน เมื่อบริกรรมคาถา 3 ครั้ง ตั้งจิตมั่น อธิษฐานขอพร ส่งผ่านไปยัง ตัวแทนเทพเจ้ากวนอู ที่บรรจงแกะสลักจากไม้จันทร์หอม สิ่งยืนยันการันตีความเก่าแก่ แผ่ความเข้มขลัง เสริมพลังศิริมงคลองค์นี้ เล่าขานผ่านตำนานจากลูกหลานมังกร รุ่นสู่รุ่นว่า สถิตย์อยู่ผืนดินแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2279 พร้อมเรื่องเล่า ตอกย้ำความศรัทธาในมหาเทพจากวรรณกรรมสามก๊กผู้นี้ ว่าครั้งหนึ่ง มีการการเข้าสักการะหาฤกษ์ชัยในการพิชิตศึกสงคราม ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินธนบุรี
เสียงระฆังสลับเสียงกลอง แทนเสียงร้องเรียกให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เปิดหูทิพย์และจิตเทพ รับฟังคำอธิฐาน ความเชื่อในการบูชาเทพเจ้าผู้มีพักตร์สีแดง เสียงวอนขอพรจึงมุ่งขอให้ค้าขาย ดีมีกำไร ตามวิถีแห่งความเชื่อ
ความกึกก้องของเสียงประทัดนับแสนนัด ที่ดังทั่วคุ้งน้ำเจ้าพระยา ช่วงค่ำวันขึ้น12 ค่ำเดือน 5 ซึ่งตรงกับวันบูชาเทพเจ้ากวนอู แม้พิธีกรรมอาจเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ส่วนที่นิยม ยังมีให้เห็น คือ การประมูลของไหว้ เจช่าย ส้มมงคล รวมถึงข้าวสาร ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า พลานุภาพนี้เกิดขึ้นจริง ดังเช่นที่ประสบพบเจอ
แม้ผลสัมฤทธิ์ที่หลายคนมองเห็นเป็นสิ่งอัศจรรย์ของชีวิต มาจากการวอนขอพึ่งพาบารมี หาใช่เป็นการบนบาน เทพเจ้านักรบ แต่เมื่อสำเร็จดังใจหวัง ผู้ที่เชื่อมมั่นศรัทธาจะนิยมนำเครื่องเซ่นสรวง มาถวาย ซึ่งรวมถึงการจัดฉายภาพยนตร์ 7 วัน 7 คืน และแจกทานเสริมความเป็นอยู่ให้ผู้คน
ปาฏิหาริย์ที่เกิดกับผู้สักการะ ความเชื่อในองค์เทพเจ้าที่มีใบหน้าฉาบด้วยสีแดง เล่าขานปากต่อปาก จนกลายเป็นแรงศรัทธา ไม่ว่าเทพเจ้าองค์นี้จะสถิตอยู่หนไหน แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า เสียงเพรียกขอพร วอนขออภินิหาร อาจไม่สำเร็จดังใจหมาย หากไม่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ถือคุณธรรมในการใช้ชีวิต และขาดซึ่งความกตัญญูรู้คุณคน ...ดุจดังเทพเจ้ากวนอู