ไม่ขำ! ครูทอม ติงปมครูเขียนขอลาตาย-เพจดัง เผยเจ้าของลายมือป่วยโรค LD
ครูทอม ติวเตอร์ชื่อดัง ติงปมครูเขียน “ขอตายดีกว่า” หลังเจอลายมือเด็กอ่านยาก ชี้เรื่องนี้อาจทำให้เด็กเกิดปมในใจ ด้านเพจคําไทย โพสต์เด็กป่วยเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) แม้พูดจารู้เรื่อง แต่ไม่สามารถตีเป็นสัญลักษณ์ (อักษร) ได้
จากกรณีที่บนโลกโซเชียลได้มีการแชร์ภาพการบ้านวิชาภาษาไทยของเด็กนักเรียนคนหนึ่งซึ่งมีลายมือที่แปลกไม่เหมือนใคร แถมยังอ่านแทบไม่ออก ทำให้คุณครูเจ้าของวิชาถึงกับเขียนข้อความแซวสั้น ๆ ว่า “ครูขอตายดีกว่า” จนคนที่เห็นภาพต่างเข้ามาคอมเม้นท์แซว และพยายามช่วยกันแกะข้อความกันยกใหญ่ ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น [อ่านข่าว : สุดยอดลายมือเด็ก อ่านยากยิ่งกว่าศิลาจารึก ทำเอาครูยังขอลาตาย]
ล่าสุด วันที่ 7 มิถุนายน 2559 ครูทอม จักรกฤต โยมพยอม ติวเตอร์ชื่อดัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jakkriz Yompayorm ว่า ไม่ตลกเลยกับการที่ครูคอมเม้นท์การบ้านเด็กลายมือไม่สวยว่า “ครูขอตายดีกว่า” แถมครูยังเอามาประจานในโลกออนไลน์อีก นี่มัน cyberbullying ชัด ๆ
บางคนอาจจะคิดว่าแค่ขำ ๆ แต่เหตุการณ์นี้อาจจะส่งผลให้เด็กเกลียดการทำการบ้าน เกลียดการเขียนหนังสือ หรืออาจจะส่งผลให้เด็กเกลียดการเรียนหนังสือก็ได้
ยอมรับว่าถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมอาจจะรู้สึกขำกับเรื่องแบบนี้เหมือนกัน แต่พอมีโอกาสได้เจอเด็กนักเรียนมากขึ้น ก็ตระหนักมากขึ้นเรื่องความรู้สึกของเด็ก เรื่องปมต่าง ๆ ในชีวิตเด็กแต่ละคน ผมเลยรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ไม่ตลกเลยสักนิด
และในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก คําไทย ก็ได้โพสต์อัพเดทเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ระบุว่า คุณครูได้ตรวจการบ้านวิชาภาษาไทยของเด็กคนนี้แล้ว พร้อมเขียนอธิบายจุดที่ต้องแก้ไข รวมถึงชื่นชมเด็กที่มีความวิริยะ อุตสาหะ
นอกจากนี้ยังได้มีการพูดถึงประเด็นที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Pook Sukonta Berthebaud วิเคราะห์ว่า เด็กนักเรียนคนนี้อาจมีอาการบกพร่องทางการเรียนรู้ ลักษณะเหมือนเด็กที่เป็น LD คือ พูดจารู้เรื่อง แต่ไม่สามารถตีเป็นสัญลักษณ์ (อักษร) แบบที่พวกเราเข้าใจได้
โดยข้อความในเฟซบุ๊ก Pook Sukonta Berthebaud ระบุว่า ด้วยความสนใจกับประเด็นนี้ จึงพยายามติดตามเรื่องราวแบบเจาะลึก จนรู้ว่าเด็กนักเรียนคนนี้ป่วยเป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) จริง ๆ ซึ่งตอนนี้ก็ได้ขอให้คุณหมอเอ Chakkrit Akaraseranee ช่วยเขียนอธิบายถึงโรคดังกล่าวให้ เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ว่า มีผู้ป่วยโรคนี้อยู่จริง และหากบุตรหลานใครที่มีปัญหาคล้าย ๆ กันก็จะได้รู้วิธีรับมือ รวมถึงการรักษา