บทความพิเศษเรื่อง : แค่ผื่นหน้าแดง อาจเป็นสัญญาณโรคพุ่มพวง
บทความพิเศษเรื่อง : แค่ผื่นหน้าแดง อาจเป็นสัญญาณโรคพุ่มพวง
โดยนพ.ธาดา เปี่ยมพงศ์สานต์ นายกสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ
อาการแดงที่หน้าดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจจะไม่เล็กอย่างที่เห็น เพราะแค่อาการผื่นแดงที่หน้า หรือแก้มทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายได้หลายโรค ดังนั้นต้องสังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติที่ร่างกายพยายามสื่อสารกับเราหรือเปล่า เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นโรคกลุ่มเอสแอลอี(SLE-Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่คนไทยเรียกว่าโรคพุ่มพวง ซึ่งโรคนี้ได้สร้างความตื่นตะลึงด้วยการคร่าชีวิตราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" มาแล้ว
ปัจจุบันมีแพทย์ผิวหนังทั่วโลกเพียงไม่กี่ท่านที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังที่เชี่ยวชาญและมีห้องชันสูตรชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน หรือวิทยาอิมมูน (Immunology) จึงจะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ตามกฎข้อบ่งชี้ของแพทย์สมาคมไขข้ออเมริกัน ที่ต้องพบอาการ 4 ข้อ จากทั้งหมด 11ข้อ ดังนี้ 1.มีผื่นที่แก้ม 2.มีผื่น Discoid rash 3.มีผื่นอาการแพ้แสง 4.มีแผลในปาก 5.มีข้ออักเสบ ปวด บวม แดง และร้อนมากกว่า 2 ข้อ 6.เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ 7.ตรวจปัสสาวะพบโปรตีนหรือพบ cellular casts 8.มีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก อาการทางจิต 9.มีความผิดปกติทางโรคเลือดได้แก่โลหิตจางจากHemolytic anemia หรือเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 4000/L หรือเซลล์ lymphopenia น้อยกว่า 1500/L หรือเกล็ดเลือดขาวต่ำกว่า thrombocytopenia 100,000/L 10.ตรวจเลือดระบบภูมิพบ Anti-dsDNA, anti-Sm,และหรือ anti-phospholipid 11. ตรวจพบ Antinuclear antibodies ซึ่งหากรอจนมีอาการครบทั้ง 11 ข้อ ผู้ป่วยก็คงจะแย่เพราะอาการโรคลงตับ ไต สมอง ยากต่อการรักษา และอาจเสียชีวิตในที่สุด
จากประสบการณ์ในการรักษามากว่า 35 ปี ในผู้ป่วยกลุ่มเอสแอลอี กว่า 500 ราย (โรคนี้ในเมืองไทย คนไทยจะเป็นมากกว่าฝรั่งถึง 10-20 เท่า) โดยมีข้อสรุปแนวทางวินิจฉัยอาการโรคได้ดังนี้
1.กลุ่มเฉพาะเป็นที่ผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นกลมสีแดง มีสะเก็ดขอบเขตชัด นูนหนาเล็กน้อย บางรายนูนหนาสูง เมื่อหายแล้วเป็นแผลเป็น มักขึ้นตามใบหน้า ในใบหู ตามตัว หรือเป็นทั้งตัว บางคนเป็นก้อนนูนหนา เมื่อหายผิวหนังจะบุ๋มลึก บางรายมีแผลขนาดใหญ่ ที่ก้นหรือตามเท้า ผื่นอาจขึ้นที่ริมฝีปากล่าง และขอบตาล่าง ถ้ามีขึ้นที่ศีรษะ จะก่อให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อม กลุ่มนี้เรียกว่า ดีแอลอี (DLE-Discoid Lupus Erythematosus ) ประมาณ 5% ของกลุ่มนี้ ผู้ป่วยจะกลายเป็นเอสแอลอี ในระยะเวลา 5-10 ปีต่อมา จากการที่ผิวโดนแดดทำให้โรคกำเริบ
2.กลุ่มเอสแอลอี ที่มีอาการครบ 4 ข้อจาก 11 ข้อ ลักษณะอาการจะมีผื่นแดงบนใบหน้า ตัว แขน ขา หรือทั้งตัว อาจมีสะเก็ดบางหรือหนา หรือมีวงหลายวง ข้อบวม มือเขียว เมื่อถูกความเย็น มักมีไข้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผมร่วงมาก เลือดออกทางใต้ผิว ปลายนิ้วมีรอยบุ๋มเล็กๆ มีแผล 2-3 จุดที่เพดานปาก ตาอาจบอด อาจมีอาการทางสมอง พูดเพ้อเจ้อ มีอาการชัก กลุ่มนี้มีอาการชัดเจน ถ้าอาการมากอาจตาบวม ตัวบวม ขาบวม เมื่อกดแล้วบุ๋ม แสดงว่าไตพิการมาก
3.ไม่เข้าข่ายทั้งสองกลุ่ม มีแต่ผื่นแดงๆ บนใบหน้า ไม่ใช่ลักษณะของโรค DLE เพียงแต่ตรวจพยาธิอิมมูนเรืองแสง ก็ใช่กลุ่มเอสแอลอี แน่ พบประมาณ 25%ของผู้ป่วย กลุ่มนี้จะกลายเป็นเอสแอลอี ในเวลาไม่นาน ซึ่งเรียกว่าเป็นสภาวะกลุ่มโรคก่อนเอสแอลอี หรือ Pre SLE คือมีอาการไม่ครบ 4 อย่าง กลุ่มนี้ไม่อยู่ในตำราโรคผิวหนังหรือ อายุรกรรมเล่มใด
การพยากรณ์โรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวง
ผู้ที่มาหาแพทย์ผิวหนัง มักมีผื่นที่ผิวหนัง ดังนั้นอาการจึงไม่รุนแรง เพราะสามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วและรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคสามารถมีชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไป การรักษาอาจนานถึง 10-20 ปี โรคนี้เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่นั้นบางรายอาจจะเป็น เช่น ผู้ป่วยที่แม่เป็นโรคนี้ 2-3 ครอบครัว พอแต่งงานมีลูกไปลูกก็เป็นโรคนี้ตอนโต และยังพบฝาแฝดที่เป็นโรคนี้ด้วยกัน ซึ่งมียีน (Gene) บางชนิดที่มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ง่าย
คนที่เป็นโรคเอสแอลอี ทุกคนเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันสมควรหรือไม่ คำตอบคือไม่จริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการรุนแรงของโรค โดยจะแบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ
- ความรุนแรงน้อย เช่น อยู่ในกลุ่ม สภาวะก่อนโรค เอสแอลอี (Pre-SLE)
- ความรุนแรงปานกลาง คืออยู่ระหว่างกลาง หรือโรคยังไม่ลงที่ไต
- ความรุนแรงมาก มีอาการดังนี้ เช่น ไตพิการ ตัวบวม ขาบวม มีอาการที่ผิว เช่น แผลที่เพดานปาก เส้นเลือดอุดตัน ปลายนิ้วเน่าแห้ง เป็นแผลเนื้อตาย ที่ปลายเท้า ตรงกลางสีดำล้อมรอบด้วยสีเหลือง และขอบนอกสุดมีสีแดง กลุ่มนี้อาจเสียชีวิตได้โดยไม่คาดคิด
คราวนี้คงทราบแล้วว่าแค่ผื่นหน้าแดง…ร้ายแรงขนาดไหน บางทีอาจไม่ใช่แค่ผื่นธรรมดาเท่านั้น ต้องคอยฟังสัญญาณเตือนจากร่างกายให้ดี รวมถึงหันมาใส่ใจสุขภาพผิว แต่หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการวินิจฉัยเพื่อรักษาอย่างถูกต้อง และอย่าใจร้อนรีบเปลี่ยนแพทย์ก่อนเวลาอันควร ไม่อย่างนั้นอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง และลุกลามใหญ่โตถึงชีวิต สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สอบถามได้โดยตรงที่โทรศัพท์ 02-4223993, 095-5415186
สอบถามข้อมูลข่าวสารและบทความได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889