สิ่งที่ควรระวังในการบินกับสายการบินราคาประหยัด (low-cost airline)
สิ่งที่ควรระวังในการบินกับสายการบินราคาประหยัด (low-cost airline)
ไม่กี่วันก่อนมีข่าวว่า สายการบินราคาประหยัดเจ้าหนึ่ง จะจัดเที่ยวบินไปกลับแบบเที่ยวเดียวหรือไดเรคท์ไฟลท์ จากกรุงเทพไปยุโรป ในราคาหลักพันเท่านั้นเอง สร้างความฮือฮาให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ผมอ่านแล้วกลับรู้สึกกลัวและเป็นห่วงมาก ถามว่ากลัวอะไร?
ก่อนจะเล่าให้ฟัง ขอบอกก่อนว่าผมเป็นหมอที่มีฐานะค่อนข้างยากจนคนนึง มีเงินเหลือพอแค่ซื้อตั๋วที่นั่งชั้นประหยัดเท่านั้นถ้าต้องนั่งเครื่องบิน รายได้ทุกวันนี้แค่พอประทังชีวิตไปวันๆ มีโอกาสได้นั่งเครื่องบินครั้งแรกในชีวิตเหมือนคนอื่นเค้า ก็แก่มากแล้ว ที่พอมาเล่าให้ฟังพวกคุณก็เอาไปหัวเราะขบขันกัน
แต่สำหรับผม อยากบอกว่า การได้นั่งเครื่องบินครั้งนั้นมีความหมายมากนะครับ เพราะเป็นการทำความฝันตั้งแต่วัยเด็กให้เป็นจริง หลังจากการเดินทางครั้งนั้นสิ้นสุดลง ชีวิตผมจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบินอีกมากมายมหาศาลและแต่ละไฟลท์ต้องบอกว่าไกลที่สุดในโลกแทบทั้งนั้น ผมถึงเข้าใจความรู้สึกของการที่ต้องนั่งที่แคบๆในชั้นประหยัดในระยะทางไกลๆเป็นอย่างดี มันเป็นนรกบนดินประเภทนึง
การที่สายการบิน low-cost เค้าขายตั๋วให้เราในราคาถูกได้ขนาดนี้ เพราะเค้าตัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป ไม่เว้นแม้แต่การแบ่งที่นั่งในเครื่องบินที่เค้าซื้อมา ยกตัวอย่างเครื่องบิน Airbus A330 ที่จะใช้บินไปกลับยุโรปแบบเที่ยวเดียว ก็อาจจะแบ่งซอยที่นั่งออกเป็น 9 ที่ ในระบบ 3-3-3 แทนที่จะเป็น 8 ในระบบ 2-4-2 ในสายการบินแบบปกติ ทำให้ที่นั่งแคบลงกว่าปกติมากพอสมควร จาก 17 - 18 นิ้วก็จะลดลงมาเหลือแค่ 16 นิ้ว ความกว้างของที่นั่งนั้นวัดจากที่พักแขนฝั่งนึงไปอีกฝั่งนึง เราเรียกว่า seat width จะมีอยู่อีกค่านึงที่คุณควรรู้ คือ ระยะจากที่นั่งข้างหลังไปถึงข้างหน้า เราเรียกว่า seat pitch ระยะนี้หักลบกับความหนาของเบาะที่นั่งจะเป็นตัวกำหนด leg room ของผู้โดยสาร
ทั้ง width และ pitch จะมีผลต่อการขยับของผู้โดยสารตลอดการเดินทาง หรือ restriction ความสบายไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ การเกิดลิ่มเลือดที่หลอดเลือดดำของขา หากนั่งแช่ขาโดยไม่ขยับเป็นเวลาหลายชั่วโมง (ในภาษาแพทย์เรียกว่า DVT) ที่อันตรายคือลิ่มเลือดเหล่านี้อาจเคลื่อนที่เข้ามาในห้องหัวใจข้างขวาและถูกบีบให้ปลิวไปอุดตันที่หลอดเลือดปอด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทุกครั้งที่คุณนั่งเครื่องบินมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะเหล่านี้เสมอ แต่มากหรือน้อยต่างกัน ขึ้นกับ 3 ปัจจัย
อายุโรคร่วมและบริบทต่างๆของคุณเอง x restriction x ระยะเวลาบิน
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ไม่มีกฏบังคับอะไรออกมาชัดเจนว่า long-haul flight ต้องมีขนาดที่นั้ง (width, pitch) อย่างน้อยเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าวันนึงมีโอกาสนั่งเที่ยวบินรอบเดียวจากกรุงเทพไปยุโรปกับสายการบินราคาประหยัด และมีที่นั่งขนาดเล็กมาก ให้พยายามขยับขาหรือลุกออกมาเดินบ่อยๆ เลือกเป็นที่นั่งติดทางเดินหรือ aisle seat ไว้จะดีกว่า กินน้ำเยอะๆ และ ถ้าหากมีอาการหายใจหอบเหนื่อย ให้ไปพบแพทย์ทันทีที่เครื่องลงจอด