รัฐบาล ผลักดันระบบ Any ID ผูกบัญชีการเงินทุกระบบ เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลที่ไม่ต้องใช้เงินสดกันอีกต่อไป
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากเพจสรุป
ระบบ e-payment แห่งชาติ รัฐบาลเล่นใหญ่ ผลักดันระบบ Any ID ผูกบัญชีการเงินทุกระบบ เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลที่ไม่ต้องใช้เงินสดกันอีกต่อไป มันอะไรยังไง ตามกันใน #สรุปเดียว
1. ช่วงนี้นอกจากจะมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว รัฐบาลยังมีไอเดียใหม่ๆ อีกเพียบนะเธอ ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องใช้เงินสดกันแล้ว จะรับเงินจ่ายเงินทุกอย่างทำผ่านระบบ e-payment แทน แบบพวก True Money หรือบัตร Rabbit อ่ะ แต่อันนี้คือรัฐบาลจะลงมาทำให้เป็นวาระแห่งชาติไปเลย
2. ประเทศไทยเราเนี่ย เป็นประเทศที่ใช้เงินสดเยอะมาก แล้วเวลาจะถอนเงินทีนึงก็ต้องไปหาตู้เอทีเอ็ม แล้วธนาคารก็ต้องขนเอาเงินมารอในตู้เอทีเอ็มให้เรา ต้องเช่าที่ตามห้างไว้วางตู้ เดือนนึงก็หลายหมื่น ต้องเอาเงินสดมากองรออยู่รวมกันๆเป็นแสนล้านบาทให้คนมากดไป จะขนถ่ายเงินก็เสียค่ารักษาความปลอดภัย ไหนจะเสี่ยงโดนปล้นอีก เรียกว่าต้นทุนแฝงและไม่แฝงในระบบเงินสดที่เราใช้กันมันมหาศาลมาก ประเมินกันว่ารวมๆแล้วมีเงินสดหมุนเวียนในประเทศปีละ 7.5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
3. ซึ่งถ้าเราใช้ระบบ e-payment มาช่วย มันก็จะลดต้นทุนตรงนี้ได้อีกมหาศาล อย่างพวก Paypal, AliPay หรือ Line Pay ที่มาจากต่างประเทศ ก็ทำให้ชีวิตเราสะดวกมากขึ้น แต่มันไม่สะดวกสำหรับภาครัฐอ่ะดิ เพราะพวกนี้มันบริษัทเอกชนต่างชาติ จะตรวจสอบหรือจัดการด้านภาษีก็ลำบาก อย่างกระนั้นเลย รัฐทำเองดีกว่า ไม่งั้นปล่อยไปเดี๋ยวพวกต่างชาติเข้ามายึดหมดจะทำให้เราสูญเสียเอกราชทางการเงิน ว่าไปนั่นเลย
4. ไหนๆ จะทำแล้ว ก็เอาให้มันครบๆไปเลย เล่นใหญ่ทำมันทีเดียว ไม่ใช่แค่ระบบรับจ่ายสินค้าแล้วจบ แต่พ่วงเอาระบบภาษี กับเอกสารด้านการเงินและภาษีเข้าไปด้วยเลยละกัน ก็พวกใบหัก ณ ที่จ่าย กับใบกำกับภาษีอ่ะ ทุกวันนี้ยังต้องอาศัยส่งกันทางไปรษณีย์หรือจ้างพี่แมสเซนเจอร์ไปส่งให้ กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แถมเสียเวลา ไหนๆเราก็มีกฎหมายที่รองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นสิบปีแล้วนี่ แล้วพี่สรรพากรจะนั่งตรวจเอกสารกระดาษกันอยู่อีกทำไม เปลี่ยนใหม่ดีกว่า ต่อไปให้ยื่นเป็นอิเล็กทรอนิกส์มาเลย อันนี้ก็จะเริ่มภายในตุลาคมปีนี้แหละ จะเริ่มจากพวกบริษัทใหญ่ๆที่รายได้เกิน 500ล้านบาทก่อน แล้วภายใน 4 ปีจะ ค่อยๆ ให้บริษัทเล็กๆเข้าร่วมโครงการในอนาคต
5. ความจริงเรื่องภาษีนี่แหละคือสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลอยากทำระบบ e-payment ส่วนหนึ่งเพราะโดนทางสรรพากรสหรัฐกดดันสถาบันการเงินไทยให้เข้าร่วมระบบป้องกันการเลี่ยงภาษี (FATCA) ที่เราต้องคอยรายงานธุรกรรมของคนอเมริกันในไทยกลับไปให้ ซึ่งมันก็วุ่นวายอยู่นะ เราเองก็ไม่ค่อยพร้อม แต่ถ้ามีระบบ e-payment มาช่วยก็ง่ายเลย งานนี้ทาง ธปท. ก็จะมาเป็นเจ้าภาพช่วยทำระบบนี่แหละ
6. ส่วนสาเหตุอีกข้อก็คือระบบจัดเก็บภาษีในประเทศเรานี่แหละ ที่หย่อนสมรรถภาพอย่างแรง คนไทย 65 ล้านคน แต่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แค่ 10 ล้านคนเอง (อ้าวที่เหลือพวก...ไม่มีงานทำเหรอวะ) คือเก็บได้เฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบบริษัท ส่วนพวกที่รายรับไม่แน่นอน หรืออาชีพฟรีแลนซ์นี่ตามเก็บยาก เพราะไม่รู้แหล่งรายรับ แถมไม่ยื่นแบบด้วย หรือพวกร้านค้าปลีก ร้านขายของตามเฟส ที่หลบเลี่ยงหรือเสียแบบมั่วๆเหมาๆเอา แต่ถ้านำระบบ e-payment มาใช้งาน ทีนี้ละ...เอ้ย... เงินเข้าเงินออกบัญชี รับเท่าไหร่จ่ายเท่าไหร่ รัฐรู้หมด จะบอก...ไม่มีรายได้ไม่ได้ละนะ หลักฐานมันคาตา สิ้นปีคนไหนไม่ยื่นแบบแสดงภาษี ...รอเจอสรรพากรได้เลย (รู้สึกข้อนี้มันประโยชน์รัฐล้วนๆเลยว่ะ)
7. เอาจริงๆ ทางรัฐก็หวังเรื่องภาษีนี่แหละ ถึงขนาดคาดการณ์กันว่า ถ้าระบบภาษีเรามีประสิทธิภาพ และสามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รัฐอาจจะมีรายได้เพิ่มอีกเป็นแสนล้านต่อปี!! ถ้าเก็บได้ระดับนี้ นอกจากไม่ต้องเพิ่มภาษี รัฐยังสามารถออกนโยบายลดภาษีได้อีก (โห ดีอ่ะ ทำเลยๆ)
8. อ่ะ พวก...อย่าเพิ่งไปด่ารัฐว่าจ้องจะเก็บแต่ภาษี คือระบบ e-payment แห่งชาติ มันยังมีประโยชน์ทางด้านนโยบายรัฐด้วยนะ อย่างเงินช่วยเหลือหรือชดเชยต่างๆนานา เช่นเงินประกันสังคม ชดเชยการว่างงาน เบี้ยยังชีพคนชรา เงินช่วยสงเคราะห์นู่นนี่นั่น ก็สามารถตัดจ่ายผ่านระบบ e-payment ได้ถูกต้องโปร่งใสกว่าเดิม จ่ายถึงตัวคนรับจริง คนได้รับเงินก็เอาเงินไปใช้จ่ายด้วย e-payment ได้เลย ไม่ต้องมีกำนันผู้ใหญ่บ้านอบต.มารับเงินสดแทนแล้วมุบมิบหักหัวคิวไป
9. จะเห็นว่าการยกเครื่องประเทศไทยครั้งนี้ มันมีผลไปถึงทุกส่วนของธุรกิจเลย เราคนซื้อก็ต้องเปลี่ยน ร้านค้าก็ต้องไปหาเครื่องรับเงินแบบ e-payment มา ธนาคารก็เปลี่ยน สรรพากรก็เปลี่ยน กระทรวงแรงงาน ประกันสังคมก็ต้องเปลี่ยน เลยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานมากๆ รัฐบาลเลยบอกว่า งั้นตั้งเป็น “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” (National e-Payment Master Plan) ขึ้นมาซะเลย
10. แผนนี้ก็แบ่งเป็นเฟสต่างๆ โดยเฟสแรกก็คือการใช้ Any ID นี่แหละ
11. เจ้า Any ID เนี่ย มันก็คือ ระบบการรับจ่ายโอนเงิน ที่ไม่ต้องใช้เลขบัญชีธนาคารละ เราสามารถผูกบัญชีเราเข้ากับข้อมูลตัวบุคคล (Identification หรือ ID) ประเภทใดก็ได้ (Any) มาใช้แทน โดนในช่วงแรกระบบจะให้ใช้ได้เฉพาะเลขบัตรประชาชน และเบอร์มือถือ แล้วต่อไปในอนาคตก็จะให้ได้ หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet ID) และอีเมลได้ด้วย เรียกว่าต่อไปจะโอนเงินก็บอกแค่เบอร์มือถือหรืออีเมล หรือติดต่อสรรพากรก็อ้างอิงเลขบัตรประชาชนก็พอ ไม่ต้องซีรอกซ์หน้าบุคอะไรให้วุ่นวายละ
12. ส่วนรายละเอียดการใช้ Any ID ก็คือ บุคคลทั่วไปจะสามารถมี Any ID สูงสุดได้ 4 หมายเลข คือ เลขที่บัตรประชาขน และเบอร์มือถือ 3 เบอร์ เพื่อผูกเข้ากับบัญชีธนาคารได้สูงสุด 4 บัญชี โดย Any ID 1 หมายเลข จะสามารถผูกกับ 1 บัญชีธนาคารเท่านั้น โดยระบบจะไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนซ้ำ หากเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือได้เคยถูกลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว เช่นเราอาจจะเอาบัตรประชาชนไปผูกกับบัญชีที่ใช้ใช้ติดต่อกับธุรกรรมกับภาครัฐ และเบอร์มือถือผูกกับบัญชีเงินเดือน เป็นต้น
13. ส่วนในเฟส 2 ทางรัฐจะขยายเครือข่ายของเครื่องรับชำระเงิน (EDC) ไปทั่วประเทศอีก 2 ล้านจุด พวกพ่อค้าแม่ค้าก็เอาไปใช้ได้ เพื่อที่ต่อไปจะทำให้ประเทศไทยลดละเลิกการใช้เงินสด หันมาใช้ e-payment กันเต็มตัวไปเลย สองเฟสแรกนี้จะเน้นไปที่การใช้จ่ายของภาคประชาชนก่อน ส่วนเฟส 3-4 ก็คือภาครัฐจะไปปรับปรุงพวกระบบภาษีกับเงินสวัสดิการต่างๆ ให้เป็น e-payment ทั้งหมด พอครบทุกเฟส เราก็จะอยู่ในโลกของ e-payment กันเต็มๆ ไม่ต้องไปกดเงินสดกันอีกต่อไป
14. เป้าสำคัญของโครงการนี้ก็อย่างที่บอก คือผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมที่ไม่ต้องใช้เงินสด (Cashless Society) อย่างที่สวีเดนก็ทำแล้ว และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ก็กำลังมุ่งไปทางนี้เช่นกัน เพราะข้อดีของมันนอกจากจะช่วยให้รัฐดูแลระบบการเงินและภาษีได้มีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้รัฐวางแผนและนโยบายทางการเงินได้แม่นยำ เช่นการออกนโยบายช่วยเหลือคนรายได้น้อย ก็ไปถึงคนรายได้น้อยจริงๆได้ ไม่ต้องเหวี่ยงแหจ่ายเหมาให้รั่วไหลแบบทุกวันนี้อีกต่อไป หรือการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจก็แม่นยำกว่าเดิม เพราะได้ข้อมูลการใช้จ่ายจริงจากทั้งประเทศเอามารวมเป็น Big Data ซึ่งจะช่วยให้การคำนวนตัวเลขทางเศรษฐกิจทำได้อย่างถูกต้องกว่าเดิม
15. นอกจากนั้นสังคมที่ไม่ต้องใช้เงินสดยังช่วยลดอัตราการคอรัปชั่นได้อีกด้วย อันนี้เป็นผลวิจัยที่เขาทำกันมา ถึงจะไม่ทำให้การจ่ายใต้โต๊ะใต้เตียงหายไป แต่มันจะทำได้ยากขึ้น เพราะรัฐสามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินต้องสงสัยได้ง่าย ยิ่งพวกเงินวัดเงินบริจาคนี่ยิ่งสบาย (แค่คิดก็มีคนบ้านหมุนแล้ว...)
#สรุป1 ก็รอดูกันต่อไปว่าเราจะไปถึงจุดนั้นกันเมื่อไหร่ เพราะอย่างสวีเดนเขาก็ต้องค่อยๆทำกันมาร่วมสิบปีกว่าจะสำเร็จ ตอนนี้หลายๆธนาคารในบ้านเราก็เริ่มเปิดให้ลงทะเบียน Any ID กันแล้ว ใครสนใจก็ลองติดต่อดูได้เลยจ้ะ (อ้อ Any ID นี่มีชื่อไทยเกร๋ๆ ด้วยนะ ชื่อว่า "นานานาม" ซึ่งคาดว่า... ก็คงไม่มีใครใช้ เหมือนพวก คณิตกรณ์ ก้านควบคุม มีใครเรียกเปล่าวะ)
#สรุป2 ประเทศสวีเดนที่ได้พัฒนาระบบการเงินมาจนเข้าใกล้การเลิกใช้เงินสดแล้ว ผลปรากฏว่า รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาก จนสามารถลดอัตราภาษีลงมาได้ ซึ่งถ้าไทยเราลดภาษีลงได้แบบนี้บ้าง ก็จะช่วยให้แข่งขันกับประเทศอื่นใน AEC เช่นสิงคโปร์ มาเลย์ได้มากขึ้น ไม่งั้นธุรกิจทั้งหลายก็จะใช้ทรัพยากรบ้านเรานี่แหละ แต่ไปจดทะเบียนต่างประเทศ และขนเงินเสียภาษีให้ต่างประเทศหมด ไทยไม่ได้อะไรเลย
#สรุป3 ส่วนพ่อค้าแม่ค้าตามเฟสตามไอจีที่กำลังสงสัยว่า แล้วต่อไปกูจะเลี่ยงภาษี เอ้ย วางแผนภาษียังไงดีล่ะ เอาเป็นว่าในสรุปหน้าเราจะคุยกันเรื่อง Bitcoin ที่อาจจะมาเป็นหนามตำใจระบบ e-payment แห่งชาติก็เป็นได้นะเธอ