บทวิเคราะห์:ผลกระทบ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นปิดบัง
บทวิเคราะห์:ผลกระทบ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นปิดบัง
Toshihide Tsuda ศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาการระบาดสิ่งแวดล้อม ในมหาวิทยาลัย Okayama พบว่าในปี 2014 อัตราเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer) ในจังหวัดฟุกุชิมะนั้นเพิ่มขึ้น 20-50 เท่าจากอัตราเฉลี่ยทั่วไป ซึ่งเป็นเวลาสามปีหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ
หลังจากที่พบข้อมูลดังกล่าวแล้ว เขาก็ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาการระบาดสิ่งแวดล้อมเมื่อปีที่แล้ว แต่ถูกรัฐบาลจังหวัดฟุกุชิมะออกมาหักล้าง ถึงแม้ว่าจะมีนักวิชาการออกมาสงสัยถึงความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ แต่รัฐบาลก็ให้การว่าเป็น “การวินิจฉัยโรคมากกว่าที่เป็นจริง” (overdiagnosis)
วัยรุ่นในจังหวัดฟุกุชิมะมากกว่า 160 รายป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ตั้งแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อมีนาคม 2011
ในวันครบรอบห้าปีเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ พ่อแม่ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ก็รวมตัวกันสร้างกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลพิสูจน์ว่า การเจ็บป่วยของเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์
ความจริงนั้นภาควิชาวิทยาการระบาดสิ่งแวดล้อมต้องการส่งข้อความแนะนำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยความจริง และทำการสำรวจสุขภาพของประชาชนในจังหวัดฟุกุชิมะ แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบกลับคำแนะนำแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านนิวเคลียร์ทั่วโลกก็ประหลาดใจที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่รับผิดชอบ และมีทัศนคติที่ต่างออกไป ในเรื่องผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์
Oleksiy Pasyuk นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ศูนย์นิเวศวิทยาแห่งชาติของยูเครน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำพลาดหลังจากเกิดภัยพิบัติแล้ว ก็คือรัฐบาลไม่ได้เก็บยาเม็ดไอโอดีนไว้มากพอ ซึ่งยาดังกล่าวจะช่วยป้องกันการดูดซึมสารพิษกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ร่างกาย
Pasyuk กล่าวว่า “ไม่มีการจำหน่ายยาเม็ดไอโอดีนให้กับประชาชนในบริเวณ ดังนั้นร่างกายของประชาชนอาจจะดูดซึมสารพิษกัมมันตภาพรังสีเข้าไป นับว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่ควรจะต้องเรียนจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล”
ทั้งนี้ ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิเป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เมื่อครั้งเชอร์โนบิลในปี 1986 แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับไม่เรียนรู้จากบทเรียนภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิลเลย
มากกว่าห้าปีที่ผ่านมานี้ มีการอภิปรายถึงผลกระทบต่อเนื่องถึงปัจจุบันจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของโลกในรอบสามทศวรรษ แต่นายกรัฐมนตรีชินโส อาเบะกลับบอกกับประชาคมโลกเมื่อปี 2013 ว่า ภัยพิบัติดังกล่าวนั้น “ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา”
ความเป็นจริงแล้วก็คือน้ำที่ปนเปื้อนสูง 200 ตันไหลออกมหาสมุทรแปซิฟิกในทุกวัน และบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ก็ยังไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากการรั่วไหลได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังกระหายที่จะเปิดโรงงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก
เมื่อพูดถึงประชาชนญี่ปุ่นแล้ว ส่วนใหญ่มีการคัดค้านถึงการเปิดโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่สนับสนุน อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในจังหวัดฟุกิชิมะมากกว่าร้อยละ 60 ไม่พอใจถึงวิธีการรับมือของรัฐบาลในเรื่องภัยพิบัตินิวเคลียร์ด้วย