ผู้นำการพัฒนาเอเชียมาไทยร่วมถอดบทเรียนงานพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้นำการพัฒนาเอเชียมาไทยร่วมถอดบทเรียนงานพัฒนาอย่างยั่งยืน
เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสครองราชย์ 70 ปี
มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และบริษัท ช.การช่าง จำกัด จัดเวทีเผยแพร่งานพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี โดยมีมูลนิธิพุทธเมตตาฉือจี้ ที่เป็นแม่แบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งไต้หวัน และยูนุสเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นแม่แบบการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งบังคลาเทศ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติเข้าร่วมงาน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอชียศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วยสถาบันเอชียศึกษาฯ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด ได้ร่วมกันจัดเวทีเผยแพร่งานพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ในรูปแบบการประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเซีย” เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการได้รับทราบมุมมองของสหประชาชาติ ที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอชีย อีกทั้งยังเป็นโอกาสของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของการพัฒนาจากประเทศเพื่อนบ้านในเอชีย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ต่อยอดการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความสุขอย่างยั่งยืน
“งานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2559 ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีผู้บริหารจากองค์การสหประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอชียแปซิฟิค (UNESCAP) เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำการประชุม และมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่าด้วยกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนจากผู้แทนจากยูนุสเซ็นเตอร์ แห่งบังคลาเทศ ซึ่งเป็นต้นแบบไมโครเครดิตหรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อช่วยเหลือคนยากจน สร้างวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ จนเป็นที่ยอมรับได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้แทนจากมูลนิธิพุทธเมตตาฉือจี้แห่งไต้หวัน ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมโดยยึดหลักพุทธศาสนา และมีการเผยแพร่การพัฒนาขยายสาขาออกไปทั่วโลก รวมทั้งการนำเสนอกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ โดย ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล รองประธานมูลนิธิ มั่นพัฒนา”
นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย ยังมีการจัดเสวนากลุ่มย่อย เพื่อเผยแพร่งานวิจัยรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ และตัวอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเซีย
ดร. ณรรต ปิ่นน้อย ผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ด้าน อย่างไรก็ตามยังมีบางประเด็นที่ไทยประสบปัญหามาก โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ที่เป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น เรื่องการบุกรุกยึดครองพื้นที่ป่า การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดินเสื่อม ภาวะน้ำแล้ง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างทางเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย และการทิ้งถิ่นฐานอพยพเข้าเมือง เกิดความแออัดของประชากร ฯลฯ
ประเทศไทยให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่กระบวนการแก้ไขปัญหายังไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกที จึงต้องมาร่วมกันหาหนทางแก้ไขที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาในประเด็นสำคัญทั้ง 17 ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศในโลกตกลงว่าจะร่วมกันแก้ไข
“ประเทศไทยยังโชคดี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นทรงครองราชย์ พระองค์ทรงศึกษาและวางแนวพระราชดำริในการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทำให้องค์การสหประชาชาติโดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการขณะนั้น ได้ทูลเกล้าถวายรางวัลความเป็นเลิศด้านการพัฒนาแด่พระองค์
โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากมายหลายโครงการที่ทั่วโลกสามารถนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งโลกดีขึ้น ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีของประเทศอื่น ๆ และเผยแพร่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริไปพร้อมๆ กัน”
นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ เลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนานาชาติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดแนวคิดและแนวทางใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ในงานนี้ มั่นพัฒนายังมีการนำเสนอการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทยอย่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้เห็นว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริกำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง”
ทางด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการสายงานบริหารและสนับสนุนกลยุทธ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า เวทีการประชุมวิชาการในไทยครั้งนี้ นับเป็นการประชุมที่ทรงคุณค่า มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งคนไทย และประชาคมในระดับสากล อีกทั้งผู้เข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนาและสื่อมวลชน ซึ่งเดินทางมาจาก 20 ประเทศในเอเซียยังจะมีส่วนอย่างสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการประชุมเพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไปอีกด้วย
………………………………………………….………………………………