หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
News บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ความหวังในความแล้ง: แม่ปิงแล้งสุดใน 40 ปี กับทางรอดของเกษตรกร

โพสท์โดย greenpeaceth

เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

เมื่อมองแม่น้ำปิง ณ เวลานี้ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า แอ่งดินขนาดใหญ่ที่ถูกขุดลงลึกจนดูราวกับเป็นเหมืองขนาดใหญ่แห่งนี้ จะเคยเป็นแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย ไม่อยากจะเชื่อเลยว่านี่คือวิกฤตแล้งที่ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญ และกำลังคุกคามความมั่นคงทางอาหารของเรา… แต่สายน้ำแห่งความหวังยังมี หากเราเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ทางรอดของเกษตรกรเพื่อต่อกรกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพโดย Biel Calderon

ช่วงเช้าของวันที่  30 เมษายน 2559 พี่น้องบ้านห้วยโจ้และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกัน ต่อชีวิตให้กับตนเองและสวนของตน หลังจากที่เครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำปิงหนึ่งในสองเครื่องคว่ำลงเนื่องจากระดับน้ำหลังฝายแม่น้ำปิงลดลงเร็วเกินไป พวกเขาจำเป็นต้องช่วยกันซ่อมเครื่องสูบน้ำ ด้วยการใช้รถขุดดินนำดินมาเกลี่ยเป็นทางเดินลงน้ำให้สามารถนำเครื่องสูบน้ำขึ้นมาซ่อม หากคุณไม่ได้สัมผัสกับความแล้ง คงจะไม่มีวันเชื่อสายตาว่า สายน้ำที่มีความกว้างไม่เกินท่อนแขน ไหลเอื่อยๆ ในสภาพที่เหมือนกับอดีตอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นี้ คือ สายน้ำจากแม่น้ำปิง หนึ่งในแม่น้ำหลักที่หล่อเลี้ยงคนไทย พื้นที่ต้นน้ำอย่างเมืองเชียงใหม่เผชิญกับความร้อนแล้งอย่างเห็นได้ชัด วิกฤตโลกร้อนได้นำพาสถานการณ์มหาภัยแล้ง มาพร้อมกับปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปีนี้เป็นปีที่แล้งที่สุดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 

 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา วิกฤตโลกร้อนและปรากฎการณ์เอลนีโญได้เกิดขึ้นติดกันสองปีซ้อน (2558-2559) ประกอบกับการที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายเพื่อพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวของภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ ในวันนี้เราได้ลองไปสำรวจต้นน้ำปิงบริเวณตำบลดอยหล่อ แม่น้ำส่วนนี้ได้หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 300 คน ใน 26 หมู่บ้าน บนพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ ซึ่งมีอาชีพส่วนใหญ่คือการทำเกษตร และสวนผลไม้ อาทิ ลำไย มะม่วง และแตงกวา พวกเขาต้องเผชิญกับความแล้งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ในปีนี้ถือเป็นปีที่หนักที่สุด

“เมื่อน้ำในแม่น้ำปิงลดเหลือน้อยและไม่เพียงพอ เราพยายามขุดเอาน้ำบาดาลลึกลงไป 20 เมตร ส่งผลให้น้ำในบ่อบาดาลน้ำตื้นของหมู่บ้านอื่นแห้งไปด้วย ทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างพื้นที่ การขุดแม่น้ำปิงนี้เป็นการเรี่ยไรเงินของชาวบ้าน โดยมีคณะกรรมการของหมู่บ้านบริหารน้ำ ค่าใช้จ่ายของค่าไฟจากเครื่องสูบน้ำชาวบ้านต้องออกร้อยละ 40 และรัฐช่วยออกร้อยละ 60 ซึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ที่พวกเราต้องช่วยกันจ่าย รวมถึงยังมีการลงเงินรวม 800,000 บาท เพื่อใช้รถขุดดินขุดเพื่อกักเก็บน้ำและหล่อเลี้ยงสวนผลไม้ในส่วนของเครื่องสูบน้ำที่พังนี้หากอบต.ไม่ช่วยออกค่าซ่อม พวกเราก็ต้องออกเอง” พ่อหลวงแก้ว ปาป่าศักดิ์ ตัวแทนหมู่ 5 บ้านห้วยโจ้ ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงภาวะการขาดแคลนน้ำ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นขณะที่รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรลดลง

น้ำปิงที่เหือดหาย กับชีวิตของชาวสวนและชาวนาของภาคเหนือ

“ไม่รู้จะหาน้ำที่ไหน ต้องปล่อยให้แห้งตายอย่างเดียว

เกษตรกรผู้ทำสวนผลไม้จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำตลอดทั้งปี แม้ในช่วงฤดูน้ำอุดมสมบูรณ์ หมู่บ้านที่อยู่เหนือแม่น้ำปิง เช่น บ้านเวียงทอง หมู่ 25  ที่อยู่เหนือระดับแม่น้ำปิง 47 เมตร ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำหนองหลวง อ่างเก็บน้ำมาขี้โก้ง และอ่างเก็บน้ำปู๋มเป้ง เพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค คุณสุนันท์ ตาปิน เกษตรกรผู้ทำสวนมาร่วม 40 ปี เป็นเจ้าของสวนพื้นที่ 22 ไร่ บนอำเภอดอนหล่อ เริ่มหันมาปลูกมะม่วงได้ 3-4 ปี เนื่องจากใช้น้ำน้อยกว่าลำไย เขาบอกเล่าให้เราฟังว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองหลวงมีสวนมะม่วงอยู่โดยรอบ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก สวนลำไยบางแห่งก็แห้ง แม้ไม่แห้งก็จะไม่ออกผลหรือถึงติดผลก็จะร่วง การจัดการน้ำจะเป็นการใช้น้ำฝน การสูบน้ำจากแม่น้ำปิง หรือเก็บในอ่างเก็บน้ำของตัวเองมาตลอด ซึ่งปีนี้น้ำไม่พอ มีเพียงสวนมะม่วงบางแห่งที่ลงทุนด้วยตนเองต่อท่อจากอ่างเก็บน้ำหนองหลวงเท่านั้นที่ยังพอมีน้ำ

“ปีนี้สถานการณ์แย่ที่สุด สวนอื่นก็เช่นกันมีบางแห่งต้นแห้งตาย บางแห่งต้องฟันทิ้งและรอปลูกใหม่ ผลผลิตของสวนมะม่วงหากไม่แห้ง ก็มีลูกขนาดเล็กกว่าปกติ กว่าจะมาถึงตอนนี้มีการลงทุนไปมาก กว่าจะปลูกและได้ผลผลิตต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่เมื่อมาถึงปีนี้คิดว่าจะได้ผลผลิตแต่กลับไม่ได้เพราะน้ำน้อย ซ้ำร้ายคือหากฝนยังไม่ตกหลังจากนี้ไม่เกิน 10 วันต้นมะม่วงจะตายทั้งหมด” คุณสุนันท์ ตาปิน กล่าว “ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดวิกฤตภัยแล้ง ร้อนไปหมด ส่งผลรุนแรง ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ถึงตกก็ตกหนัก ถ้าปีหน้ายังแล้งอีกก็คงไม่รู้จะไปทำอะไร เพราะอายุ 64 แล้วไม่มีอาชีพสำรอง” 

ตะวันยามเช้าเริ่มสาดแสงแรง พี่น้องบ้านห้วยโจ้และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลดอยหล่อยังคงช่วยกันคนละไม้คนละมือกอบกู้เครื่องสูบน้ำขึ้นมาซ่อม หลังคาถูกส่งต่อขึ้นมาจากแม่น้ำปิงที่เหือดแห้งทีละแผ่น นี่คือสิ่งเดียวที่จะช่วยต่อชีวิตให้กับสวนผลไม้ที่กำลังรอน้ำด้วยความหวัง

นอกจากสวนผลไม้แล้ว นาข้าวก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงเช่นกัน เหนือขึ้นไปที่ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นาข้าวกำลังยืนต้นตายเนื่องจากไม่มีน้ำเข้านา ต้นข้าวขาดน้ำกลายเป็นสีเหลืองแห้งบนผืนดินที่แตกร้าว  ชาวนาหลายคนกล่าวว่า หากปีหน้ายังเป็นเช่นนี้คงต้องผูกคอตาย เพราะทุกคนที่ทำนาต่างมีหนี้สินจากการกู้ธกส. แต่โชคยังดีสำหรับคุณลุง ล้วน เตชะนันท์ ที่ยังมีรถแทคเตอร์ สามารถรับจ้างไถยามเมื่อไม่มีน้ำทำนาจึงยังพอมีรายได้ แต่จากการทำนาตั้งแต่ยังอายุเพียงสิบกว่าปี นี่คือปีแรกที่ไม่มีน้ำ และข้าวในนา 60 ไร่ของเขาก็กำลังแห้งตาย

 “ปีนี้ถือเป็นภัยแล้งจริงๆ ที่จะทำให้ขาดทุนจนหมดตัวเพราะขาดน้ำ หมดไปเป็นแสนต่อจากนี้ต้องปล่อยให้ข้าวยืนต้นตายไป ปล่อยไปเลย แล้วเริ่มต้นใหม่เดือนกรกฎาคม ปีหน้าคงจะต้องหยุดทำนาหน้าแล้ง ทำได้แต่นาปี ถ้าทำไปก็ยังขาดทุนเหมือนเดิม” คุณล้วน เต๋จ๊ะนัง อายุ 58 ปี ชาวนาในตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ภัยแล้งกำลังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย ต่อผลผลิตทางเกษตรกรรมที่เป็นทางอาหารเลี้ยงปากท้องชาวไทย และเป็นสินค้าส่งออกไปยังทั่วโลก การที่รัฐเร่งผลักดันเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวโดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมกำลังส่งผลให้เกิดการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร ทำให้สูญเสียป่าต้นน้ำจำนวนมหาศาล แม้ว่าเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวดูเหมือนว่าจะทำรายได้ดีให้กับเกษตรกร แต่ก็เป็นเพียงในระยะสั้น ผลลัพธ์ของการทำเกษตรอย่างไม่ยั่งยืนนี้กำลังปรากฎให้เห็นแล้วว่ากำลังย้อนคืนกลับมาทำร้ายเกษตกร และทุกชีวิตที่ต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งชีวิตที่กำลังแล้งจนเป็นวิกฤต

โคก หนอง นา โมเดล โอเอซิสแห่งความหวัง

ท่ามกลางความแห้งแล้ง ไร่นาแห่งหนึ่งกลับเขียวขจีและเต็มไปด้วยความชุ่มฉ่ำ พื้นที่สีเขียวแห่งนี้โดดเด่นชัดเจนเมื่อมองจากถนนบริเวณตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ราวกับว่าความแห้งแล้งไม่เคยมาเยือน ที่แห่งนี้คือ “ธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ” ฐานการเรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล อันเป็นทางออกที่ยั่งยืนของการต่อกรกับภัยแล้ง และวิกฤตโลกร้อน

พื้นที่ 25 ไร่แห่งนี้ เมื่อปี 2556 เคยเป็นเพียงดินเรียบ ๆ ธรรมดา ไม่มีบ่อเก็บน้ำ เต็มไปด้วยไมยราบ แต่หลังจากได้ศึกษาโมเดล โคก หนอง นา จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง แนวทางการจัดการน้ำและพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อการพึงพาตนเองโดยอาศัยวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ คุณศรีพรรณ เตชะพันธุ์ ผู้อำนวยการธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ และธรรมธุรกิจ ข้าวเหนียวสันป่าตอง จำกัด ได้ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำนา 5 ไร่ ปลูกพืชกินได้นานาชนิด ขุดบ่อและคลองสายเล็กๆ เพื่อกักเก็บน้ำฝน นอกจากมีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำเกษตรตลอดทั้งปีแล้ว ยังได้ผลผลิตตลอดทั้งปีอีกด้วย

โมเดลโคก หนอง นา คือ แนวทางการจัดการพื้นที่การเกษตรที่สร้างความเกื้อกูลกันระหว่างการอยู่อาศัย การทำไร่นาสวนผสม และการกักเก็บน้ำ โดยมีการปรับพื้นที่เป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย หนองเพื่อเก็บน้ำ นาที่มีคันสูงเพื่อเก็บน้ำได้มาก โคกที่สูงเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น (ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง)

“โมเดลโคก หนอง นา สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสวนทุกไร่นา แค่วางแปลนว่าอยากปลูกอะไร อยากเลี้ยงอะไร ดังเช่นที่นี่ เราจะเน้นการกักเก็บน้ำฝน ไม่ใช่น้ำที่ส่งตามคลอง มีการทำนาปีปลูกข้าวเหนียวสันป่าตอง ปลูกเดือนสิงหา เกี่ยวตุลา ถ้าน้ำน้อยก็ปลูกอย่างอื่นแทน เช่น ถั่ว บวบ หอมแดง พริกขี้หนู กะหล่ำปลี ผักสลัด พริก มะเขือ เรดโอ๊ค  ได้เงินตลอดปี เพียงแค่มองข้ามอุปสรรคอย่างเช่น ไม่อยากขุดเพื่อทำพื้นที่กักเก็บน้ำ หรือเสียดายพื้นที่เพาะปลูก แต่ที่จริงแล้วเมื่อสามารถบริหารจัดการน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี และปลูกพืชต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปีด้วย จะได้คืนทุนพื้นที่ที่เสียไป” คุณศรีพรรณ เตชะพันธุ์ กล่าว “อุปสรรคอีกอย่างของเกษตรกร คือ หนี้สิน เนื่องจากการสนับสนุนการกู้เงินจากรัฐบาลอย่าง เช่น ธกส. ถ้าเกี่ยวข้องกับปุ๋ยเคมีง่ายกว่าการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลกระทบต่อมาคือการเจ็บป่วยจากสารเคมี ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกัน และเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากกว่าการทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติ”

นอกจากนี้คุณศรีพรรณยังแนะนำว่า หลักการภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการจัดการตามธรรมชาติเป็นการช่วยลดต้นทุน รวมถึงปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร ดังเช่นไร่นาของคุณศรีพรรณ ที่สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 40 จากการที่ไม่ใช้สารเคมี จากเดิมที่ต้องจ่ายไร่ละ 1,200  บาท ในการดูแลเหลือเพียงไม่เกินไร่ละ 700 บาท และหากทำปุ๋ยหมักได้เองก็จะยิ่งถูกลงอีกด้วย

“โมเดลนี้เกษตรกรทุกคนสามารถนำมาใช้เป็นทางออก แต่หัวใจหลักคือการผสมผสานป่าเข้ามาด้วย เป็นการช่วยบังแดด และเก็บน้ำได้เยอะ เพราะสวนผักอย่างเดียวไม่สามารถกักเก็บน้ำได้นาน  หากเราปลูกแต่ไม่ได้มีป่าเก็บน้ำ น้ำจะแห้งไว นอกจากนี้กล้วยยังช่วยกักเก็บน้ำได้เยอะ และยังขายได้ราคาดีตลอดทั้งปีด้วย ถ้าทำเช่นนี้สามารถรอดได้ในวิกฤตแล้ง” คุณศรีพรรณ เตชะพันธุ์ กล่าวสรุป

“ธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ” หนึ่งในโมเดล โคก หนอง นา คือ ความหวังในการปรับตัวกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภัยแล้ง นี่คือโอเอซิสแห่งเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ท่ามกลางกระแสการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำและหน้าดิน จากนี้สายฝนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมาแทนที่ และภัยแล้งจะแปรเปลี่ยนเป็นอุทกภัยหากเรายังยึดวิถีการทำเกษตรกรรมที่เน้นแค่เพียงผลผลิตโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงป่าที่ช่วยกักเก็บน้ำและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เรายังมีความหวังท่ามกลางวิกฤตเอลนีโญ ลานีญา และภัยจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงอื่น ๆ หากภาครัฐ เกษตรกร และทุกภาคส่วนร่วมมือกันสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เพื่อสู้กับภัยพิบัติ และเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนของเรา


ที่มา: Greenpeace Thailand

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
greenpeaceth's profile


โพสท์โดย: greenpeaceth
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
40 VOTES (4/5 จาก 10 คน)
VOTED: ซาอิ, ผมเล็กนะครับ, ป้าสั่งมา, Life for Life, makhamdong, igolf, zerotype, อินจือ, โยนี หมีระบม, เจ๊มด ณ โพสท์จัง
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
นี่คือบ้านที่ออกแบบตามหลัก Passive House ที่ทำให้รอดจากไฟป่าในลอสแอนเจลิสในครั้งนี้หินรูปไข่ไดโนเสาร์ริมหาดโมเอรากิ นิวซีแลนด์: ศิลปะธรรมชาติที่เล่าเรื่องราวของกาลเวลาโฮ่วโถววาน : หมู่บ้านร้างที่กลับคืนสู่ธรรมชาติอันเขียวขจีอีกครั้งโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้คร่าชีวิตครอบครัวคนดังบุคคลสำคัญของสุพรรณบุรีสาวหวังผ่อนคลายไปนวดเพื่อสุขภาพ นวดดัดหลัง-บิดหลัง เสียงลั่นก๊อก ก่อนหมดสติแต้ว ณฐพร จัดปาร์ตี้สละโสด นับถอยหลังเป็นเจ้าสาว24 ม.ค.นี้60 เมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลก (ข้อมูลจาก IQAir อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2568)จระเข้ฉลาดเกิน! พฤติกรรมใหม่ล่อเหยื่อด้วยการทำท่าเหมือนคนจมน้ำสาวสองวุ่นทั้งโรงพัก! แจ้งของหายก่อนควักยาให้จับ โพสท่าชี้ของกลางจนกลายเป็นไวรัลไฟถนนล้มทับเด็กนักเรียนบาดเจ็บสาหัสไต้หวัน 🇹🇼: หิมะโปรยปรายรับปีใหม่บนยอดเขายูซานแห่ยินดี! “บลู รุ้งจรัส” นางเอกลิเกชื่อดัง คลอดลูกสาวคนแรกแล้ว พร้อมตั้งชื่อสุดไพเราะ...?
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
อื้อหือ...คณะนักบรรพชีวินวิทยาชาวจีน ฟอสซิลกุ้ง อายุ 518 ล้านปีสถานทูตจีนเผย "ดาราจีนที่หายตัวไป แถวชายแดนไทยพม่า กลับถึงจีนแล้ว!!""เสก โลโซ" แตกหัก "อากู๋" ปมสัญญาทาส!?..อดีตเคยอวย "แกรมมี่" แต่ตอนนี้ไม่ใช่!60 เมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลก (ข้อมูลจาก IQAir อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2568)ไต้หวัน 🇹🇼: หิมะโปรยปรายรับปีใหม่บนยอดเขายูซานโฮ่วโถววาน : หมู่บ้านร้างที่กลับคืนสู่ธรรมชาติอันเขียวขจีอีกครั้ง
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
30 เมืองใหญ่ที่มีคุณภาพอากาศสะอาดที่สุดในโลก (ข้อมูลอัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2568 จาก IQAir)ไฟป่าในลอสแอนเจลิส ยังคุมไม่ได้ สัตว์กว่า 300 ตัวสูญเสียบ้าน วอนเจ้าของนำสัตว์ไปด้วย60 เมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลก (ข้อมูลจาก IQAir อัปเดตล่าสุด 11 มกราคม 2568)ไต้หวัน 🇹🇼: หิมะโปรยปรายรับปีใหม่บนยอดเขายูซาน
ตั้งกระทู้ใหม่