เหตุผล 4 ประการที่เราต้องแก้ปัญหาประมงแบบทำลายล้างให้เด็ดขาด
เขียน โดย François Chartier
เอสเพอรันซา เรือรณรงค์ของกรีนพีซปฏิบัติการอยู่กลางทะเลเพื่อหยุดยั้งการทำประมงอย่างทำลายล้างของบริษัททูน่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก เรากำลังพูดถึง บริษัทไทยยูเนี่ยน เจ้าของผลิตภัณฑ์ทูน่ายอดนิยมอย่าง จอห์น เวสต์, เปอติ นาวีร์, มาเรบลู และ ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี และยังมีบริษัทซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่อีกหลายบริษัท เช่น วอลมาร์ท
บริษัทไทยยูเนี่ยน ได้คุกคามสวัสดิภาพของปลาทูน่าทั่วโลก ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เฉพาะปลาทูน่าที่ถูกทำร้าย แต่รวมถึงมหาสมุทรของเราด้วย เราจึงขอความช่วยเหลือจากคุณเพื่อร่วมกันปกป้องปลาทูน่าและมหาสมุทรให้กับลูกหลานของเราที่ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติเหล่านี้
เหตุผล 4 ประการ ที่ทำให้เราต้องยืนหยัดต่อสู้กับการทำประมงแบบทำลายล้าง
1) สัตว์น้ำพลอยได้ที่ไม่ต้องการ - สัตว์น้ำอื่นๆที่ติดอวนขึ้นมาจากการทำประมงปลาทูน่า ถูกทิ้งให้ตายกลางทะเล
อุปกรณ์ประมงที่ใช้อยู่ในมหาสมุทรอินเดียในปัจจุบัน เป็นเครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregating Devices (FADs) ที่ทำให้จับได้ทั้งทูน่า ฉลาม ปลากระโทง และสัตว์น้ำอื่นๆ ครั้งละ 104,000 ตัน สัตว์น้ำที่ไม่ต้องการก็จะถูกโยนทิ้งทะเล ทั้งที่ตายแล้วและกำลังตาย เป็นเช่นนี้ทุกปี สัตว์ที่ใกล้ถูกคุกคามอย่างฉลามซิลกี ก็ตกเป็นเหยื่อการทำประมงเช่นนี้ สัตว์ทะเลมีบทบาททำให้มหาสมุทรอุดมสมบูรณ์กำลังถูกสังหารหมู่อย่างทิ้งๆขว้างๆ
2) ความอยุติธรรมในสังคม เรือประมงอุตสาหกรรมทั้งหลายกำลังคุกคามวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของชาวประมง และแทนที่ด้วยการกดขี่และบังคับใช้แรงงาน
เราได้พูดคุยกับชาวประมงในเมืองริมทะเลหลายแห่งรอบโลก และเรื่องเล่าของพวกเขาก็ไม่ต่างจากสิ่งที่เราได้ยินมาตลอดการเดินทาง พวกเขาเล่าถึงเรือประมงลำใหญ่ๆของต่างชาติที่มาล่าปลาทูน่าจำนวนมาก และเอาไปขายให้กับบริษัทต่างๆ เช่น ไทยยูเนี่ยน ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น
3) การทำประมงเกินขนาด ส่งผลให้เรากำลังไม่มีปลาเหลือในทะเลอีกแล้ว
เมื่อปี 2557 สามารถจับปลาทูน่าในมหาสมุทรได้ 4.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์จากที่เคยจับได้เมื่อปี 2556 จำนวน 4.6 ล้านตัน เนื่องจากเรือประมงในมหาสมุทรมีแต่จะมากขึ้น แต่ละลำมีอุปกรณ์จับปลาที่ทำลายล้างมากขึ้น ปลาทูน่าสายพันธุ์ตาโตและครีบเหลืองในมหาสมุทรอินเดียถูกจับเกินขนาด เรือเอสเพอรันซา กำลังออกปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งการใช้อุปกรณ์จับปลาที่ทำลายล้างเหล่านั้น
4) “มลพิษ” เราต้องการเพิ่มมลภาวะให้กับมหาสมุทรของเราจริงๆหรือ
เครื่องมือล่อปลา FADs เป็นอุปกรณ์ที่แทบไม่มีการควบคุมและมีข้อมูลบ่งชี้น้อยมาก รายงานเมื่อปี 2556 ประเมินไว้ว่า มีเครื่องมือล่อปลาแบบต่างๆ 8 หมื่นหนึ่งพัน ถึง 1 แสนสองหมื่นชิ้น ที่ใช้ในการจับปลาทั่วโลก ชิ้นส่วนของอุปกรณ์จับปลา เหล่านี้มีตั้งแต่ไม้ไผ่ อวนที่ทำจากพลาสติก หลอดไฟ และ แบตเตอรี ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้นำทางเรือ มันคงไม่เลวร้ายไปกว่านี้หากเครื่องมือประมง เช่น อวนพลาสติกและอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ย่อยสลายได้เองในเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต แต่อวนพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี หลอดไฟและ แบตเตอรี่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และมีสารพิษอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต อีกทั้งยังตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารเป็นเวลานาน
เครื่องมือล่อปลา (FADs)ถูกพัดเกยตื้นบนชายหาดและติดอยู่ตามแนวปะการัง โดยถูกทิ้งไว้เช่นนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เรากำลังแล่นผ่านหมู่เกาะกลอริโอโซ เรายังเห็นเครื่องมือนี้ติดอยู่ในปะการัง เราแจ้งเจ้าหน้าที่ซึ่งก็รับปากว่าจะไปเอามันออก แต่ยังมีเครื่องมือล่อปลาอย่างนี้อีกหลายพันชิ้นที่เป็นมลภาวะให้กับมหาสมุทร
เราต้องการให้คุณช่วยหยุดวิถีประมงของบริษัทไทยยูเนี่ยน
ประชาชนชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และ เนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมรณรงค์กับเรา เราต้องการพลังจากคุณเพื่อเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่กำลังทำลายล้างมหาสมุทร หยุดพฤติกรรมนี้ ร่วมลงชื่อ
เอริน เดอ ฮอก เป็นบรรณาธิการบทความของกรีนพีซสากล ซึ่งร่วมเดินทางไปกับเรือเอสเพอรันซา เพื่อเก็บเรื่องราวต่างๆ มาเขียนในบล็อก
ที่มา : Greenpeace Thailand