สารให้ความหวานในเครื่องดื่ม อาจส่งผลต่อน้ำหนักทารกในครรภ์
สารให้ความหวานในเครื่องดื่ม อาจส่งผลต่อน้ำหนักทารกในครรภ์
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 พ.ค.) มีผลการศึกษาระบุว่า ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานเทียมระหว่างตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะมีทารกที่มีน้ำหนักเกิน
"การศึกษาของเรามีหลักฐานที่ระบุเป็นครั้งแรกว่าการบริโภคน้ำหวานเทียมในระหว่างตั้งครรภ์ของมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำหนักของทารก" ผู้เขียนบทความ Meghan Azad ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแมนิโทบาแห่งแคนาดากล่าว
การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำการตรวจสอบแม่และทารกในครรภ์จำนวน 3,033 คู่ เพื่อวิเคราะห์การเชื่อมโยงของการบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวานเทียมในระหว่างตั้งครรภ์และผลกระทบต่อดัชนีมวลกาย (BMI) ทารกในช่วง 1 ปีแรก
รายงานระบุว่ามีผู้หญิงจำนวนมากเกือบร้อยละ 30 ที่ดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานเทียมในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงน้ำอัดลมไม่ผสมน้ำตาล ชาและกาแฟที่ใส่สารให้ความหวานเทียม
รายงานระบุว่า มีผู้หญิงประมาณร้อยละ 5.1 ในกลุ่มนี้ที่ดื่มเครื่องดื่มเช่นนี้ทุกวัน ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงถึง 2 เท่าให้ลูกของพวกเขามีน้ำหนักเกินในช่วงเวลา 1 ขวบของทารก
อย่างไรก็ตาม การบริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานเทียม ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนในเด็กทารก
กลุ่มนักวิจัยได้ยอมรับถึงข้อจำกัดของการศึกษา ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ของความผิดพลาดในเรื่องการรายงานผลการบริโภคอาหารของกลุ่มตัวอย่าง ดังนั้น การศึกษานี้จึงไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่ชัด
"ด้วยสถานการณ์โรคอ้วนในเด็กที่กำลังระบาด และการใช้สารให้ความหวานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน การวิจัยครั้งถัดไป จึงจะเกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่าผลการวิจัยของเราถูกต้อง และเพื่อตรวจสอบกลไกทางชีววิทยาที่เป็นรากฐาน อันมีเป้าหมายสูงสุดในการให้ข้อมูลการบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์" Azad กล่าว
"จนกว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราหวังว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะพิจารณาถึงความปลอดภัยในการเลือกเครื่องดื่มให้กับตนเองมากขึ้น" รายงานพวกเขาระบุไว้ดังนี้