TK park ประกาศรางวัล Read Thailand ปี 2
TK park ประกาศรางวัล Read Thailand ปี 2
เชิดชูโรงเรียนส่งเสริมการอ่านดีเด่น นวัตกรรมใหม่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น
................................
จากความสำเร็จในการจุดประกายรักการอ่านเมื่อปี 2557 ในโครงการ “Read Thailand : อ่านเถิด...เด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน” ในปีนี้สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังคงผนึกกำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าโครงการ “Read Thailand : อ่านเถิด...เด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัลรวมมูลค่า 100,000 บาท
โครงการ Read Thailand : อ่านเถิด...เด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน ปีที่ 2 นี้ มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจากทุกสังกัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 60 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 57 โรงเรียน ซึ่งทาง TK park ได้มุ่งสรรหาแผนงานและกระบวนการจัดการโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น โดยมีโรงเรียนที่ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้
รางวัลดีเด่นระดับประถมศึกษา ประเภทโรงเรียนขนาดเล็ก ได้แก่ โรงเรียนวัดทะเลปัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยนวัตกรรม “กิจกรรมสร้างสรรค์ปัญจวิธี”
รางวัลดีเด่นระดับประถมศึกษา ประเภทโรงเรียนขนาดกลาง ได้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ จ. สงขลา ด้วยนวัตกรรม “1 C 4 R พัฒนาการอ่าน”
รางวัลดีเด่นระดับประถมศึกษา ประเภทโรงเรียนขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนศรีทักษิณ จ.นราธิวาส ด้วยนวัตกรรม “กวีสามบรรทัดพัฒนาการอ่าน”
รางวัลดีเด่นระดับมัธยมศึกษา ประเภทโรงเรียนขนาดเล็ก ได้แก่ โรงเรียนวังม่วงพิยาคม ด้วยนวัตกรรม “บันไดความรู้ บูรณาการผ่าน 4 ส สู่การอ่านที่ยั่งยืน”
รางวัลดีเด่นระดับมัธยมศึกษา ประเภทโรงเรียนขนาดกลาง ได้แก่ โรงเรียนขุนยวมวิทยา ด้วยนวัตกรรม “เจ้าฟ้านักอ่าน สานฝันเด็กดอย”
รางวัลดีเด่นระดับมัธยมศึกษา ประเภทโรงเรียนขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงเรียนบุญวัฒนา ด้วยนวัตกรรม “Boonwattana Reading For Fun”
นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า โครงการ Read Thailand อ่านเถิด...เด็กไทย อ่านถวายเจ้าฟ้านักอ่าน จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่2 ติดต่อกัน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในปีนี้ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งทั้ง 30 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้ารอบสุดท้ายล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป
“โรงเรียนที่อยู่ติดกับชายแดนภาคต่างๆก็จะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอ่าน เขียนภาษาไทยให้แตกฉาน อาทิ โรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะมาจากชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ไทยใหญ่ ม้ง กะเหรี่ยง ซึ่งทางผู้บริหารและครูเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการประกอบอาชีพตามที่เด็ก ๆ ฝันไว้ในอนาคต หรือโรงเรียนจากจังหวัดนราธิวาส ที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ใช้ภาษามาลายูเป็นหลักในการสื่อสาร ทำให้ทักษะการอ่าน เขียนภาษาไทยค่อนข้างอ่อน เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเนื้อหาแบบเรียนภาษาไทยมากนัก คำและเนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องไกลตัวเด็ก ส่งผลให้เด็กขาดความสนใจต่อการอ่านและการเขียนภาษาไทย จะอ่านเฉพาะคำสั้น ๆ ที่ตนเข้าใจและสนใจ ทางโรงเรียนจึงได้คิดกิจกรรมเพื่อจะทำให้เด็กหันมาสนใจเรียนเขียนอ่านภาษาไทยมากขึ้น
โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่จะนำเทคนิคการบริหารงานอย่างมีคุณภาพ (PDCA) เข้ามาจับ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินกิจกรรมที่นำเสนอก็มีการจัดทำกิจกรรมที่หลากหลาย แบ่งตามกลุ่มอายุ สอดคล้องกับหลักสูตร ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีจุดเน้นที่หนังสือพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงพระอัจฉริยภาพด้านการอ่านการเขียนของพระองค์
โรงเรียนบางแห่งนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมพัฒนาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) AR book ใช้ QR Code เข้ามาทำให้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนั้น กิจกรรมที่ดำเนินการส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำแต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น โรงเรียนส่วนใหญ่มองไปถึงกิจกรรมที่สามารถสร้างสัมพันธ์ภาพอันดีภายในครอบครัว ในชุมชน โดยมีการให้นักเรียนนำหนังสือไปอ่านกับผู้ปกครองที่บ้าน มีการจัดหนังสือหมุนเวียนไปจัดเป็นมุมหนังสือในหมู่บ้านหรือชุมชนรอบโรงเรียน มุมหนังสือที่วัดซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายอื่น ๆ ทั้ง ห้องสมุดกศน. หน่วยงานท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ในทุกภาคส่วน
ทุกโครงการที่มานำเสนอในวันนี้มีความน่าสนใจที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าใครจะหยิบเอาเรื่องใด กิจกรรมไหน ไปดำเนินการในบริบทของตนเอง ไปต่อยอดและประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างเพิ่มขึ้น และขณะนี้ทางสำนักอุทยานการเรียนรู้ได้คัดเลือกมา 60 นวัตกรรมเพื่อที่จะนำมารวบรวม เรียบเรียง จัดทำเป็นคู่มือจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ เพื่อเผยแพร่และส่งต่อไปยังโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ”
ด้านนางภัทรียา จารงค์ อาจารย์จากโรงเรียนศรีทักษิณ จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่จากนวัตกรรม “กวีสามบรรทัดพัฒนาการอ่าน” เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนวัตกรรมกวีสามบรรทัดพัฒนาการอ่านที่ส่งเข้าประกวดนั้น ช่วยให้เด็กนักเรียนไทยมุสลิม สามารถอ่านหนังสือภาษาไทยออก นอกจากภาษามลายูที่ใช้ในชีวิตประจำวัน วิธีคิดของนวัตกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะให้เด็กๆอ่านออกเขียนได้ในเบื้องต้น
“เด็กๆไม่ได้ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ปัญหาของพวกเขาคืออ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งก็หาวิธีมาเยอะจนคุณครูชาตี สำราญ ที่เสนอให้ใช้บทกวีหรือความเรียง 3 บรรทัดเป็นเครื่องมือสื่อสาร เพราะเป็นการเล่นคำง่ายๆ เราจึงให้เด็กทั้งโรงเรียนตั้งแต่ ป.1 – ป.6 คน รวม 416 คนเข้าร่วมกิจกรรม ก็ต้องฝึกเด็กท่องพยัญชนะให้คล่อง แต่งประโยคให้เป็นก่อน และลองฝึกดู
ในช่วงแรกเด็กๆยังไม่คล่องในการใช้คำ เลยต้องจัดบรรยากาศให้ดูน่าศึกษาโดยมีกวีมาให้เด็กอ่าน ครูต้องขยันถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด เพราะกวี 3 บรรทัดช่วยฝึกให้คิด ถ้าเขาเขียนไม่ได้ก็ให้เขาเขียนที่กระดานก่อนทำไปเรื่อยๆให้เขียน 1 บท ทุกวัน ซึ่งสุดท้ายก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี เด็กๆในโครงการอ่านหนังสือภาษาไทยได้ โดยเราใช้เวลา 1 ปีสำหรับโครงการนี้ ถือเป็นนวัตกรรมการอ่านที่ได้ผลมากที่สุดของโรงเรียนตั้งแต่จัดกิจกรรมมาเลยค่ะ”
ด้านนางสาวธัญชนก ฤทธิมาส อาจารย์จากโรงเรียนวัดทะเลปัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทโรงเรียนประถมขนาดเล็กจากนวัตกรรม “กิจกรรมสร้างสรรค์ปัญจวิธี” กล่าวว่าวิธีคิดหลักของนวัตกรรมคือการเรื่องการเล่นให้เชื่อมโยงกับการอ่าน เพราะสังเกตเห็นว่าเด็กๆจะชอบแย่งกันตอบคำถามและก็สนุกกับการเล่น จึงนำมาผสมผสานกัน โดยทำกิจกรรมผ่านเกมส์ต่างๆ 5 เกมส์คือ บันไดงูฟิตปั๋ง, ถอดรหัสการอ่าน, สุดหรูหนูทำได้ ที่ชวนเด็กๆมาร่วมทำหนังสือป๊อบอัพด้วยความคิดสร้างสรรค์, ปัญหาพระราชนิพนธ์ และกล่องมหัศจรรย์
“หลังจากทดลองนวัตกรรมนี้กับเด็กๆ พบว่าได้ผลดีมาก โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลสอบโอเน็ตเพิ่มขึ้นจาก 50 กว่าคะแนน ขึ้นเป็น 67 คะแนนค่ะ ในส่วนของเด็กๆชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็อ่านหนังสือออกหมด จากการทดสอบการอ่านออกเขียนได้พบว่าประสบความสำเร็จถึง 95% เลยค่ะ ทางโรงเรียนตั้งใจว่าจะกิจกรรมส่งเสริมอย่างจริงจังเเละต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีนิสัยรักการอ่านค่ะ”