คำชี้แจง อิสลามกับสงกรานต์
วันสงกรานต์นั้นมิใช่เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเท่านั้น แต่ทว่ายังมีความเป็นตำนานและความเชื่อที่สืบทอดกันมาจากพี่น้องชาวพุทธและ ยังมีพิธีกรรมในรูปแบบที่เฉพาะอีกด้วย ซึ่งในเชิงหลักการของอิสลาม ถือว่าไม่อนุญาตแก่มุสลิมให้มีความเชื่อและร่วมพิธีกรรมที่ไม่รากฐานมาจากอิสลาม
อัลเลาะฮ์ทรงตรัสความว่า
وَمَن يَبْتَغِ غَيْرَ الإِسْلاَمِ دِيناً فَلَن يُقْبَلَ مِنْهُ
“ผู้ใดแสวงหาอื่นจากอิสลามมาเป็นศาสนา (ของตน) แน่นอนเขาจะไม่ถูกตอบรับ” (อาลิอิมรอน : 85)
ข้อความบ่งชี้ของโองการนี้ ได้สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ผู้ใดนำสิ่งอื่นที่เป็นหลักการอันนอกเหนือจากอิสลามและมิได้อยู่บนรากฐานใดรากฐานหนึ่งของอิสลามมาเป็นเรื่องของศาสนา เขาย่อมไม่ถูกตอบรับและอิสลามไม่เกี่ยวข้องใด ๆ ด้วย
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้วจนะไว้ความว่า
مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ
“ผู้ใดทำการเลียนแบบคล้ายกับชนกลุ่มหนึ่ง แน่นอนเขาย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา”
วจนะนี้ ฉายให้เราเห็นว่า การงานใดที่ไม่มีหลักการหรือรากฐานจากศาสนาอิสลาม แล้วมีเจตนาเลียนแบบหลักการของชนกลุ่มหนึ่งหรือประเพณีของชนกลุ่มหนึ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม เขาก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากผู้ที่กระทำตามแนวทางของพวกเขา
พี่น้องชาวพุทธอาจจะอ่านบทความนี้ และตั้งคำถามขึ้นว่า มุสลิมรังเกียจประเพณีของชาวพุทธหรือประเพณีของชาวไทยกระนั้นหรือ? ทั้งที่เราเป็นคนไทยเหมือนกัน ผมขอเรียนดังนี้นะครับว่า การที่เรามิได้ร่วมพิธีกรรมหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์นั้น มิใช่หมายถึงเรารังเกียจ แต่ทว่าหลักศาสนาได้ห้ามมิให้เรากระทำเท่านั้นเอง และการที่เรามิได้ร่วมพิธีกรรมหรือกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับสงกรานต์นั้น มิได้หมายความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องมุสลิมและชาวพุทธจะต้องสั่นคลอนลงไป หรือห้ามมุสลิมปฏิบัติดีต่อพี่น้องชาวพุทธก็หาไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นวันสงกรานต์หรืออื่นจากวันสงกรานต์ อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติดีและแสดงความมีจรรยามารยาทที่ดีต่อพี่น้องต่างศาสนิก
อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า
لَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُم مِّن دِيَارِكُمْ أَن تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ
"อัลเลาะฮ์ไม่ห้ามพวกเขาที่จะกระทำดีและแสดงความยุติธรรมกับพวกที่ไม่รบราพวกเจ้าในศาสนาและไม่ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเมืองของพวกเจ้า แท้จริง อัลเลาะฮ์ทรงรักบรรดาผู้แสดงความยุติธรรม" (อัลมุมตะฮินะฮ์ : 8)
ดังนั้น อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้มีจรรยามารยาทที่ดีงาม มีความเมตตาปราณี ส่งเสริมให้มีความยุติธรรมและสันติภาพ นอกจากนั้น อิสลามยังพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เกียรติยศ และความมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงคำขวัญแต่เป็นหลักการที่อิสลามยึดเหนี่ยวอยู่