นายกฯตัดสินใจสร้างทางรถไฟเอง“กรุงเทพฯ-โคราช” 250 ก.ม.เปิดประตูอีสานก่อนมีเงินลงทุนพอ
รถไฟความเร็งสูงภาพจากเว็บไซต์
Last updated: 24 March 2016 | 21:38
นายกรัฐมนตรี ประกาศเปิดประตูอีสานมีพร้อมทั้งแรงงาน วัตถุดิบ แหล่งประกอบการจังหวัดใหญ่ๆ ลงทุนสร้างรถไฟเองเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช 250 กิโลเมตรมีขีดความสามารถและเงินลงทุน เผยผลศึกษาใช้เงินลงทุน 176,598 ล้านบาท มีค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ที่ท่าอากาศยานทหาร (บน. 6) ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับจากการประชุมที่ประเทศจีนในประเด็นกรณีไทยตัดสินใจลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -โคราช ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งจีนว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันและข้อมูลทั้งหมด ได้คิดทบทวนแล้วว่าควรดำเนินการเองดีกว่า เพื่อให้เป็นของเราเองภายในประเทศของเรา
นายกรัฐมนตรีมองว่าได้เห็น ศักยภาพที่พร้อมก่อนในภาคอีสาน จะเปิดประตูด้านอีสานก่อน เพราะอีสานเป็นแหล่งวัตถุดิบ เป็นแหล่งแรงงาน เป็นแหล่งของสถานประกอบการต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และมีจังหวัดใหญ่หลายจังหวัดที่มีความเข้มแข็ง มีรายได้ต่อจีดีพีหลายจังหวัด ประชาชนมีความเข้มแข็ง มองว่าเปิดประตูอีสานจะเป็นประโยชน์ที่เชื่อมต่อในภายภาคหน้าได้ หากเราทำภาคนี้ได้และเปิดทุกภาคได้ก็จะเป็นการดี
อย่างไรก็ตามเนื่องจากขีด ความสามารถเรามีจำกัดในเรื่องรายได้ของประเทศ จึงต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเส้นไหนก่อน ถ้าไม่ทำวันนี้เราอาจจะช้าเกินไป เราจำเป็นที่ต้องมีการกระจายรายได้ออกสู่ชนบท จากเมืองใหญ่คือกรุงเทพฯไปยังแต่ละภาค แต่ละกลุ่มจังหวัดที่เข้มแข็ง หากสัญจรรวดเร็วคนอาจจะนั่งรถไฟไปเช้า-เย็น กลับได้ เป็นการกระจายคนสู่ชนบท กระจายเทคโนโลยีต่างๆได้อย่างรวดเร็ว หากทำรางไว้ก่อนแบบที่เราเคยคิดไว้แล้วเอาความเร็วปานกลางมาวิ่ง วันหน้าต้องเปลี่ยนความเร็วสูงอีกอยู่ดี จึงคิดว่าการลงทุนครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ หลายประเทศเริ่มทำแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าที่ทุก คนกลัวสินค้านู้นนี่จะเข้ามา เพื่อให้เกิดความเชื่อใจ จึงเอาของเราไปก่อน ตนคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล เราต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน หากมองว่าเขาต้องการกำไร ตนคิดว่าเขาคงไม่ได้กำไรเพราะเส้นทางสายนี้ เป็นเส้นทางที่ไม่ยาวมากนัก 250 กิโลเมตร หากใช้เวลาวิ่งจากกรุงเทพฯ ถึงโคราช จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง อย่างเต็มสปีด
“ไม่ร่วมกับจีนแล้วทำเองดีกว่า เพราะเรามีขีดความสามารถ และเตรียมงบประมาณไว้แล้ว จริงๆ แล้วที่เราเป็นห่วงว่าเงินลงทุนงบประมาณภาครัฐทำไมไม่ออกในเวลา เพราะมันออกไม่ได้ ตกลงไม่ได้สักที วันนี้เรามีวงเงินอยู่แล้วล้านกว่าล้านบาท จะต้องลงทุนพวกโครงสร้างพื้นฐานบ้าง แต่ออกไม่ได้ติดนู้นนี่ ติดอีเอชไอเอทั้งหมด ซึ่งเรายกเลิกไม่ได้อยู่แล้ว การทำรถไฟความเร็วสูงก็ต้องผ่านอีไอเอด้วย และจะเริ่มดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการทำงานแบบจีทูจี โดยวิศวกรจะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีมาช่วยเราก่อสร้าง คนงานก่อสร้างก็เอาของเรา และของบางอย่างที่เราทำเองไม่ได้ก็ต้องซื้อเขา ทั้งหมดเป็นการจ้างเขามาสร้าง แต่ใช้เงินในประเทศเรา อาจมีการร่วมทุนกับเอกชนบ้างที่เอารถวิ่ง มีเรื่องโครงสร้างพื้นที่คือตัวราง อันที่สองรถสิ่งกับระบบสัญญาณ ฉะนั้นคิดว่าทำกันเองดีกว่า ผมคิดว่าคนไทยพร้อมร่วมมือ เป็นของเราเอง ภาคภูมิใจกว่า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเรื่องของรถไฟ ตนปล่อยเวลามา 2 ปี แล้ว และคิดว่าถึงเวลาและจำเป็นที่ต้องตัดสินใจแล้ว ขอร้องทุกคนให้เข้าใจ ยืนยันว่าไม่ต้องการประโยชน์ใดๆ แต่ต้องการให้ประโยชน์เกิดกับประชาชนทุกคน ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นได้ ประโยชน์จะเกิดต่อชาวอีสานก่อน และถ้ามีเงินมากกว่านี้ เศรษฐกิจดีขึ้นก็อาจจะเพิ่มในภาคตะวันตกอีกก็ได้ ถ้าเรามัวรอทั้งเส้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ มันยาวนานเกินไป เดี๋ยวจะตายก่อนหมด ไม่มีทางได้เห็น ตนกล้าว่าจะตายก่อนเหมือนกัน
เมื่อถามว่า แนวทางที่ไทยจะดำเนินการก่อสร้างเองจะทำเองทั้งหมดเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งสรุปเช่นนั้น ตนบอกเพียงว่าถ้าเรารวย วันนี้เอาแค่สายนี้ก่อนในความยาว 250 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ - โคราช เพราะเส้นทางที่จะก่อสร้างทั้งหมดมีความยาวถึง 800 กิโลเมตร ในส่วนของงบฯ นั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า เป็นลักษณะของรัฐลงทุนโดยใช้เงินกู้
“ส่วนที่ถามว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่ ถ้าหมายถึงคนขึ้น-ลง แล้วได้กำไรกลับ มาเท่ากับที่ลงทุน อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าการลงทุนเพื่ออนาคต ถ้าคิดแบบนี้ไปขึ้นรถเมล์เอาก็ได้ แต่โครงการดังกล่าวจะมีการต่อเพื่อเชื่อมโยงในวันข้างหน้า จากวันนี้ไปพื้นที่อีสาน วันข้างหน้าก็อาจต่อไปยังหนองคาย อาจเชื่อมโยงไปมาบตาพุด ลาว จีน ปากีสถาน อินเดีย ยุโรป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าคุ้มทุน เรียกว่ารถไฟสายอนาคต”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าที่จะ ให้เอกชนไทยร่วมลงทุนกับรัฐนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคนดูแลอยู่ ซึ่งเบื้องต้นเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเรามี PPP อยู่ แล้ว วันนี้จีนไม่เกี่ยวกับเรา จึงถือเป็นเรื่องของเราเองทั้งหมด ไปหารถมาวิ่ง ในส่วนของระบบสัญญาณ เราก็ต้องไปดูโดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน
“จีนไม่ได้ติดใจอะไรกับการตัดสินใจครั้งนี้ เขาโอเค เขาเข้าใจผม และจีนได้ขอบคุณไทยโดยระบุว่า อยากช่วย ไม่ได้ต้องการอะไรจริงๆ และอยากให้ผมช่วยอธิบายให้คนไทยเข้าใจด้วยว่า เพราะเขาได้ยินมาว่าเหมือนไทยไม่ไว้ใจคนจีน ซึ่งผมยืนยันว่าไม่มี เรื่องแบบนี้ยังไงเราก็หนีกันไม่พ้น เพียงแต่จะจัดระเบียบกันได้อย่างไร เพราะกฎหมายมีกันอยู่แล้ว กฎหมายจะเป็นตัวที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ถ้าเราปล่อยปละละเลย ก็จะเกิดความไม่เท่าเทียม แล้วจะไปโทษใคร เมื่อกฎหมายทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ อย่าโทษกันไปมา สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น ลดความหวาดระแวง และเกิดผลประโยชน์ที่เท่าเทียม โลกอยู่ได้ด้วย 3 ข้อ นี้ ถ้าถามว่าทำไมเรากำไรน้อย ก็ต้องมาดูว่าเราแข็งแรงพอหรือยัง ถ้าเราแข็งแรงและมีแต้มต่อมากว่านี้ ข้อเสนอเราก็คงมีเยอะ วันนี้เรายังไม่แข็งแรงเลย”นายกฯ กล่าว
ผลการศึกษากรุงเทพฯ-นครราชสีมา
รายงานข่าวเปิดเผยว่าผลศึกษารถไฟความเร็วสูงของสำนักงาน นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแล้วเสร็จและส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วในช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กม. ใช้เงินลงทุน 176,598 ล้านบาท มีค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” จะ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อผ่านดอนเมือง พระนครศรีอยุธยาถึงชุมทางบ้านภาชี แยกเข้าสู่เส้นทางรถไฟสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่ จ.สระบุรี ผ่านสถานีปากช่อง แล้วเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีปลายทางที่นครราชสีมา
ทางด้านที่ตั้งสถานีถัดจากสถานีกลาง บางซื่อ-ดอนเมือง-พระนครศรีอยุธยา-ภาชี จะสร้างอยู่ที่เดิม มาถึงสระบุรีจะสร้างอยู่ที่ใหม่ ห่างสถานีรถไฟเดิม 3 กม. เยื้องศูนย์การค้าเซ็นทรัล,สถานีปากช่องจะอยู่ที่ราชพัสดุหนองสาหร่าย ห่างสถานีเดิม 5 กม. และสถานีนครราชสีมาจะอยู่ที่เดิม มีเวนคืนที่ดิน 926 ไร่