ตำนานกิจกรรม “รับน้องใหม่” ครั้งแรกของไทย! ที่แตกต่างกับปัจจุบันแบบสุดขั้ว
“เมื่อก้าวเท้าเข้ามา เจ้ากับข้าพี่น้องกัน”
กิจกรรม “รับน้องใหม่” ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ศิริราช เมื่อพ.ศ.2475 และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีประเพณีนี้เกิดขึ้น หัวใจของงานรับน้องใหม่ คือ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้กับนักศึกษาแพทย์ โดย นักศึกษาแพทย์อวย เกตุสิงห์ เลขานุการสโมสรนักศึกษาแพทย์ในขณะนั้น เป็นผู้เสนอให้จัดงานขึ้น
โดยมีจุดประสงค์หลักก็คือ เพื่อต้อนรับนักเรียนแพทย์ที่สำเร็จเตรียมแพทย์ชั้นปีที่ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะข้ามฟากมาเรียนแพทยศาสตร์ต่ออีก4 ปีที่ศิริราช ให้มาพร้อมกันที่ท่าพระจันทร์ รุ่นพี่จะแจวเรือจ้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปรับมาขึ้นที่ท่าหอชาย รุ่นพี่จะรอต้อนรับ จากนั้นพากันไปกราบพระพุทธรูปที่อยู่หน้าหอพัก รุ่นน้องแนะนำตัวกับรุ่นพี่ จากนั้นร่วมรับประทานอาหาร
กิจกรรมรับน้องใหม่สร้างความประทับใจให้แก่ทุกคน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังสืบต่อประเพณีรับน้องใหม่มาทุกปี และปัจจุบันเรียกติดปากกันว่า “งานรับน้องข้ามฟาก” นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 จะนั่งเรือข้ามฟากมายังท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช คณบดีและอาจารย์ผู้ใหญ่จะรับน้องขึ้นจากเรือด้วยการดึงมือพร้อมรอยยิ้มแห่งไมตรี น้องใหม่จะไปกราบพระพุทธรูป ลอดซุ้มรับขวัญจากรุ่นพี่ จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงพิธีที่สำคัญยิ่งคือ การกล่าวปฏิญาณตนต่อหน้าพระรูปสมเด็จพระบรมราชชนก
ข้าพเจ้า จักไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว มีความเอ็นดู เป็นเบื้องหน้า บำเพ็ญประโยชน์ เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ซึ่งประสบทุกข์ ไม่สามารถนิ่งดูดายได้ เพราะกรุณา ข้าพเจ้า จะละกรรมอันชั่วร้าย และจักตั้งอยู่ในธรรม ของสัปบุรุษทุกเมื่อ ไม่เป็นผู้เห็นแก่อามิสมุ่งแต่จะเกื้อกูล ข้าพเจ้า จะศึกษาขนบธรรมเนียมและจรรยาแพทย์ และปฏิบัติตนตามแนวทางที่แพทย์จะต้องปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นแพทย์ที่ดีต่อไปในอนาคต (บางส่วนจากคำปฏิญาณตนของนักศึกษาแพทย์)
“เรียนร่วมสำนัก รักเหมือนร่วมแม่” ศ.นพ. อวย เกตุสิงห์ (ศิริราช รุ่น ๓๘) “ที่ศิริราช พี่จะคอยดึง เพื่อนจะประคอง น้องจะช่วยดัน” นพ.อดิศร รัตนโยธา (ศิริราชรุ่น 115)
และนี่ก็คือเรื่องราวการรับน้องดีๆที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนๆ เป็นการรับน้องด้วยความอบอุ่นเป็นพี่เป็นน้องจริงๆ ไม่ได้รับน้องเพื่อความสะใจ หรือเพื่อเอาคืนกับสิ่งที่รุ่นพี่เคยทำไว้ แล้วมาลงกับรุ่นน้องต่ออีกทอดหนึ่ง