ไทยแชมป์! ร้อนสุดในอาเซียน 17-19 มี.ค. กรุงเทพอุณหภูมิสูง เหตุเพราะแบบนี้
(15 มี.ค.) นาย จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าปีนี้จะยิ่งร้อนกว่าปีก่อน เพราะมีมวลอากาศร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติในรอบ 50 ปี พัดเข้ามาปกคลุม โดยในแผนที่มวลอากาศพบว่า ประเทศไทยจะร้อนที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงวันที่ 17-19 มีนาคม นี้
และสิ่งที่น่ากังวลคือ คือมวลอากาศดังกล่าวมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นคลื่นความร้อน หรือ "ฮีตเวฟ" (Heat wave)ได้ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้นและร้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เลยทีเดียว ทั้งนี้ คลื่นความร้อนจะเกิดได้เมื่อมีองค์ประกอบ คือ อากาศมีอุณหภูมิร้อนเกิน 42 องศาเซลเซียสติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง มีความชื้นสัมพัทธ์ หรือหน่วยวัดระดับความชื้นในอากาศที่ใช้คำนวณมวลของไอน้ำใน มีค่าเกิน 70%
นายจิรพล กล่าวว่า คลื่นความร้อนจะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับอากาศในพื้นที่ นั้นหรือบริเวณนั้นนิ่งหรือมีการถ่ายเทหรือไม่ โดยกลุ่มที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน คือ เด็กที่ต่ำกว่า 5 ขวบซึ่งระบบระบายความร้อนในร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 70 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวและโรคบางชนิดที่ระบบระบายความร้อนในร่างกายทำงานบกพร่อง
"ปีที่แล้วเคยเกิดคลื่นความร้อนขึ้นที่อินเดียประชาชนเสียชีวิตจากคลื่น ความร้อนทั่วประเทศกว่า 2,500 คน จนต้องมีการประกาศมาตรการรับมือด้วยการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน จัดเตรียมน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเพิ่มเติม จัดเตรียมที่ พักติดเครื่องปรับอากาศตามสถานที่ต่าง ๆ อนุญาตให้คนงานหยุดพักในช่วงเวลาบ่าย ให้ความรู้แก่เด็กเกี่ยวกับอันตรายของคลื่นความร้อน จัดเตรียมถุงน้ำแข็งและน้ำสำหรับโรงพยาบาล รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญแม่นยำในการสังเกตและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการภาวะ เครียด จากความร้อน ภาวะร่างกายขาดน้ำ ประเทศไทยเองก็ควรมีการประกาศข้อพึงปฏิบัติที่เป็นการทำงานเชิงรุกและวางแผน ล่วงหน้าเพื่อป้องกันการสูญเสียและควรดำเนินการทันที" นายจิรพลกล่าว
ด้านนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อนุกรรมการวิชาการ ในกรรมการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบเมืองหลวงของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว พบว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแทบทุกปี กรุงเทพมหานคร ครองแชมป์อากาศร้อนที่สุดมาตลอด เพราะสภาพโดยรวม แม้ว่าจะเป็นเมืองกลางทุ่ง ไม่มีภูเขา และอยู่ติดทะเลก็จริง แต่มีปัจจัยอื่นที่ที่ทำให้มีอากาศร้อนกว่าประเทศอื่นๆ เช่นเรื่องของจำนวนสิ่งก่อสร้าง และปริมาณต้นไม้ เช่นเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งอยู่ในละติจูดที่ใกล้เคียงกัน แต่ฤดูร้อนของทุกปี เมืองหลวงของสิงคโปร์ จะมีอุณหภูมิต่ำกว่า กรุงเทพมหานครประมาณ 2-3 องศาเซลเซียสเสมอ ประเด็นนี้มีปัจจัยที่สำคัญคือ ประเทศสิงคโปร์ เป็นเกาะเปิด มีลมจากรอบทิศ และมีต้นไม้มากกว่ากรุงเทพมหานครมาก
เมื่อถามว่า ปีนี้ กรุงเทพจะมีอากาศร้อนที่สุด และร้อนกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมาหรือไม่ นายอานนท์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่ากรุงเทพฯจะมีอากาศร้อนกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีสัญญาณอะไรบอกมากมายนัก อุณหภูมิน้ำทะเลก็ร้อนประมาณนี้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
"38-39 องศาเซลเซียส สำหรับกรุงเทพ ผมถือ ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่น่าจะถึง 40 องศาเซลเซียส เพราะปัจจัยแวดล้อม ไม่ได้บ่งบอกว่าจะร้อนถึงขั้นนั้น อีกอย่างกรุงเทพฯอยู่ติดทะเล ยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม และมีเมฆ ที่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้อากาศไม่ร้อนมากเกินไป โดยสถิติอากาศในกรุงเทพนั้นสูงสุดอยู่ที่ 43.3 องศาเซลเซียสเท่านั้น ไม่ถึง 44 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม พื้นที่อื่นๆ เช่น จ.กำแพงเพชร ตาก หรือ กาญจนบุรี อากาศน่าจะร้อนถึง 44 องศา" นายอานนท์ กล่าว