ตัวประกันมือถือ 2 จี 9 ล้านเลขหมาย
ในที่สุดลูกค้าผู้ใช้บริการมือถือ 2 จีบนคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ร่วม 9 ล้านเลขหมาย ก็ถูกจับเป็น “ตัวประกัน” บนสงครามช่วงชิงคลื่นความถี่ใต้จมูก กสทช.หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทราคมนาคมแห่งชาติจนได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีการส่งสัญญาณมาจากหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทยที่จ้องจะ “ลอยแพ” ปล่อยให้ผู้ใช้บริการ 2 จีกลุ่มนี้ที่มีอยู่กว่า 18 ล้านเลขหมาย ให้เผชิญปัญหา “ซิมดับ” มาตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำ!
โดยหากย้อนรอยไปพิจารณาในช่วงก่อนหน้าภายหลังสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จี 900 MHz ที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสมีอยู่กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 กสทช.ได้ให้เอไอเอส ยื่นแผนการคุ้มครองผู้ใช้บริการ (ตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ) ก่อนที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ใน กสทช.จะเห็นชอบให้กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 และกำหนดวันสิ้นสุดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 MHz ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2558
ทั้งที่ กสทช.ยังไม่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะ กสทช.กำหนดจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เอาไว้ครั้งแรกวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ก่อนจะมาสรุปลงตัวในวันที่ 15 ธันวาคม 2558
เมื่อบริษัททักท้วงไปยัง กสทช.และขอให้พิจารณาขยายมาตรการคุ้มครองฯออกไป พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 MHz ที่กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่าระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการระบบ 1800 MHz ก่อนหน้านี้ที่ กสทช.มีการกำหนดและขยายเวลาคุ้มครองไปนานกว่า 2 ปี ทั้งที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 MHz มีผู้ใช้บริการมากกว่า 1800 MHz (ที่เหลือคงค้างในระบบเมื่อสิ้นสุดสัมปทานราว 17 ล้านเลขหมาย) การกำหนดระยะเวลาคุ้มครองที่สั้นมากดังกล่าว ย่อมกระทบผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถเร่งดำเนินการโอนย้ายไปยังเครือข่ายผู้ใช้บริการรายอื่นได้ทัน
ก่อนที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และ กสทช.จะยอมขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการดังกล่าวออกไป จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ซึ่งก็ยังมีปัญหาตามมาอีกเพราะเป็นการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองที่ให้มีผลทันทีภายหลังจาก กสทช.เสร็จสิ้นการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz โดยไม่พิจารณาไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้ใช้บริการที่ยังมีคงค้างอยู่ในระบบ ซึ่งในเวลานั้นยังคงมีมากกว่า 12 ล้านเลขหมาย และกทค.-กสทช.เองก็รู้อยู่เต็มว่า แม้จะได้ผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว แต่กว่าที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะดำเนินการลงทุนติดตั้งและขยายเครือข่ายเพื่อรองรับผู้ใช้บริการรายเดิมนับสิบล้านเลขหมายได้นี้ ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3-6 เดือนหรือเป็นปี
ถึงจุดนี้ บอร์ด กทค.จึงมอบหมายให้ กสทช.หารือไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอรับนโยบายการแก้ไขปัญหา “ซิมดับ” ที่จะเกิดขึ้น (ทั้งที่เป็นความบกพร่องของตนเอง) ด้วยข้ออ้างที่ว่าไม่มีอำนาจจะขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการใดๆ เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการให้บริการเอาไว้ ก่อนที่หัวหน้า คสช. จะให้นโยบายให้ชะลอการสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 900 MHz ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยจากหัวหน้า คสช.หรือจนกว่า กสทช.จะจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เสร็จสิ้นและออกใบอนุญาต 4 จีแก่ผู้ประมูลได้
ช่างเป็นการขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2 จีที่แสนโกลาหล เพราะต้องลุ้นกันทุกลมหายใจว่าซิม 2 จีจะดับลงวันไหน ผิดกับกรณีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 1800 MHz จำนวน 17 ล้านเลขหมายที่เคยเผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ราว “ฟ้ากับดิน” เพราะในครั้งนั้น กสทช.ยืนยันที่จะไม่ยอมปล่อยให้เกิดปัญหา “ซิมดับ” ลอยแพผู้ใช้บริการเกิดขึ้น จนเป็นที่มาของการออกประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 (ประกาศมาตรการเยียวยา) ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการรายเดิมยังคงต้องให้บริการในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้งามือถือต่อไปได้ ทั้งยัง มีคำสั่งทางปกครองห้ามหน่วยงานรัฐคือ “แคทเทเลคอม” ขัดขวางกระบวนการแก้ไขปัญหาซิมดับที่ว่านี้ พร้อมกับเร่งรัดการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ใช้บริการเร่งดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการรายอื่น
มีการขยายมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการในระบบดังกล่าวมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งหลงเหลือผู้ใช้บริการในชั้นสุดท้ายอยู่ไม่ถึง 30,000 รายจากที่เคยมีอยู่กว่า 17 ล้านเลขหมาย ก่อนที่บริษัทผู้ให้บริการรายเดิมจะดำเนินการโอนย้ายผู้ใช้บริการล็อตสุดท้ายนี้แบบยกล็อตเข้าค่ายไป
แต่กับกรณีผู้ใช้บริการ 2 จีบนคลื่น 900 MHz ที่มีอยู่กว่า 18 ล้านเลขหมายมากกว่าระบบ 1800 MHzนั้นกลับจ้องแต่จะลอยแพให้ซิมดับเป็นรายวัน!
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ กสทช.ยังไม่ได้ไขความกระจ่างให้แก่สังคมก็คือ ผลพวงจากการประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีมือถือระบบ 1800 NMHz ที่ กสทช.ประเคนไปให้บริษัทสื่อสารผู้ให้บริการรายเดิม จะต้องดำเนินการเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับในอดีต โดยกำหนดให้บริษัทต้องนำรายได้ภายหลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกค้าคงค้างในระบบส่งเข้ารัฐ ที่กินเวลาร่วม 2 ปี ซึ่งนัยว่างมีมูลค่านับ 10,000 ล้านนั้น จนถึง ขณะนี้ กสทช.ก็ยังคงเคลียร์หน้าเสื่อไม่แล้วเสร็จ เพราะยังไม่ได้รับเม็ดเงินเยียวยาดังกล่าวเข้ารัฐแต่อย่างใด
และในทันทีที่ กสทช.เสร็จสิ้นการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในค่ำวันที่ 21 ธันวาคม 2558 โดยมีบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือทรูคอร์ป และ บริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัดในเครือจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็จัดประชุม และมีมติรองรับผลการประมูลทันที พร้อมกำหนดให้ระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการฯสิ้นสุดลงในวันที่ กสทช.ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะประมูลรายหนึ่งรายใดในทันที
ทั้งๆ ที่ กทค.และ กสทช.รู้อยู่เต็มอก การกำหนดให้มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการสิ้นสุดลงในทันทีที่ กสทช.ออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างในระบบร่วม 9 ล้านเลขหมายในขณะนั้นต้องเผชิญกับปัญหา “ซิมดับ” ในทันที และการดำเนินการดังกล่าวหาได้สอดคล้องกับนโยบายของ คสช.ที่ขอให้ชะลอการสิ้นสุดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของหัวหน้า คสช.
เป็นการลอยแพผู้ใช้บริการ เป็นการจับเอาผู้ใช้บริการเป็นตัวประกันหรือไม่
แม้ก่อนหน้านี้บริษัทเอไอเอสผู้ให้บริการรายเดิม จะร้องขอให้ กทค.พิจารณาขยายมาตรการทบทวน ไปถึง 5 ฉบับเพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยฉบับสุดท้ายนั้น มีขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2558 นั้นได้ขอใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 5 เมกกะเฮิร์ตซ์ในชุดที่ 1 ที่เป็นคลื่นความถี่ในส่วนที่บริษัทแจส โมบาย บรอดแบนซ์ ที่เป็นผู้ชนะประมูลไปแต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมประมูลเพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. พร้อมกับยืนยันว่า ยินดีจ่ายเงินรายได้ที่เกิดขึ้นเข้ารัฐคือ กสทช.
แต่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็มีมติบอกปัดข้อเสนอดังกล่าวและยืนยันให้มาตรการาคุ้มครองผู้ใช้บริการฯมือถือระบบ 2 จี 900 MHz จะต้องสิ้นสุดลงในวันที่ กสทช.ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทสื่อสารผู้ชนะประมูลรายหนึ่งรายใดที่เข้ามาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้วเช่นเดิม พร้อมกับเสนอหนทางออก เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการเดิมไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ โดยให้บริษัทเอไอเอสต้องไปเช่าคลื่นความถี่ 900 MHz จากทรูมูฟ เอช ที่ได้รับสิทธิ์ใช้คลื่นดังกล่าวแทน โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้คลื่นแก่บริษัทที่เรียกมาเดือนละ 450 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ และไม่ถือว่าเป็นการขยายมาตรการคุ้มครองตามประกาศ กสทช.แต่อย่างใด
ในขณะที่เอไอเอสก็ยืนยัน ไม่สามารถจะดำเนินการตามมติบอร์ด กทค.ได้ เพราะคลื่นความถี่ที่บริษัทร้องขอใช้เป็นการชั่วคราวเพื่อเยียวยาและคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ระหว่างการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้เร่งโอนไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการรายอื่นนั้น เป็นคลื่นความถี่ ชุดที่ 1 ในส่วนที่ กสทช.ยังไม่ได้จัดสรรให้แก่บริษัทเอกชนรายใด และบริษัทไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่ในชุด ที่ 2 ที่บริษัททรูมูฟ เอช ได้ใบอนุญาตไปด้วย จึงยังผลให้การเจรจาเพื่อ “ผ่าทางตัน” ปัญหา “ซิม 2 จี 900 MHz” ไร้หนทางออก
จนถึงวันนี้บอร์ด กทค.และ กสทช.ยังคงยืนยันส่าไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้เอไอเอสนำเอาคลื่นความถี่จำนวน 5 MHz ที่อยู่ในมือออกไปให้บริการเป็นการชั่วคราวระหว่างเปลี่ยนผ่านให้ลูกค้าในระบบ 2 จี 900 เดิมเร่งดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการรายอื่นได้ เพราะยังไม่ได้จัดสรรออกใบอนุญาตให้แก่ใคร หนทางเดียวที่จะทำได้ก็คือจะต้องให้เอไอเอสไปขอใช้คลื่นความถี่ จากทรูมูฟที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปแล้วเท่านั้น คำถามที่บอร์ด กทค และกสทช.เองต้องตอบสังคมก็คือ ในกรณีปัญหาทีวีดิจิตอลที่กำลังหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการต่างออกมาร้องแรกแหกกระเชอที่จะขอคืนไลเซ่นส์ และขอให้ กสทช.แสวงหาหนทางออกให้นั้น
ล่าสุด กสทช.มีมติเมื่อ 10 มีนาคม 2559 เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯเพื่อเปิดทางให้มีการโอนเปลี่ยนมือไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอลได้ โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาเปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ในวาระพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอลว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 มาตรา 43 ที่ระบุใบอนุญาตถือเป็นสิทธิเฉพาะไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ ไปเป็นสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ เพื่อเปิดช่องให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้ผ่อนคลายสถานการณ์ โดยมี 2 แนวทางในการแก้ไขคือเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือเสนอให้นายกฯและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 ผ่านทางตันปัญหาดังกล่าวที่สามารถทำได้เร็วกว่า
ก็ไหนว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ แล้วเหตุใดเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับกิจการทีวีดิจิตอล กสทช.กลับแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาถึงขั้นให้มีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งคือ พ.ร.บ.คลื่นความถี่ พ.ศ.2553 ได้ กสทช.คงจะลืมไปว่าตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสทช.เอาไว้ใน (23) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการดำเนินการอื่นๆ ที่ เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งก็คือสิ่งที่ กสทช.กำลังดำเนินการผ่าทางตันให้กับกับกิจการโทรทัศน์อยู่ในเวลานี้
แล้วเหตุใด กสทช.ไม่คิดจะรายงานสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอรับนโยบายการแก้ไขปัญหา แต่กลับเลือกที่จะปล่อยให้เกิดปัญหา “ซิมดับ” และหันไปแสวงหาทางออกด้วยการบีบให้ผู้ให้บริการไปเช่าใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จากบริษัทสื่อสารที่ได้รับใบอนุญาตไปแทน ทั้งที่คลื่นความถี่ที่บริษัทสื่อสารผู้ให้บริการเดิมขอใช้นั้น เป็นคนละส่วนกับคลื่นความถี่ที่บริษัทได้รับอนุญาตจัดสรรไป และบริษัทเอกชนรายดังกล่าวยังไม่มีโครงข่ายให้บริการ และยังต้องไปเจรจาขอเช่าใช้โครงข่ายจากบริษัททีโอทีอีกทอด
มันจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นความพยายามที่จะประเคนผลประโยชน์ออกไปให้บริษัทสื่อสารบางราย โดยอาศัย “ตัวประกัน” ซึ่งก็คือผู้ใช้บริการมือถือร่วม 9 ล้านเลขหมายนี้ เป็นเครื่องมือในการต่อรอง หากบริษัทไม่ดำเนินการไปตามมติ กทค. และ กสทช.วางไลน์ไว้ ก็ต้องปล่อยให้ “ซิมดับ” เท่านั้น!
หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?!!!