อวสานโลกสวย 2 จี ผลงานชิ้นโบว์ดำ กสทช.
อาวสานโลกสวย 2 จี ผลงานโบว์ดำ กสทช.? จ่อจะเรียกแขกให้งานเข้า.... กับมติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ให้ยุติมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดสัญญาการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มาตรการเยียวยา) บนคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ (MHz) หลังจากบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด 1 ในบริษัทสื่อสารที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมประมูล และวางหนังสือค้ำประกันทางการเงินตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ซึ่งเมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกใบอนุญาต 4 จี ให้แล้ว ก็จะยังผลให้มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการต้องสิ้นสุดลงไปในทันที
แปลให้ง่ายก็คือปล่อยให้"ซิมดับ"นั่นเอง! เล่นเอาประชาชนผู้ใช้บริการมือถือระบบ 2 จีกว่า 8.8 ล้านเลขหมายช็อคตาตั้ง! แม้บอร์ดกทค.จะอ้างว่า ไม่มีหนทางออกอื่น เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขประมูล และประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯที่กำหนดไว้ และถึงแม้ก่อนหน้านี้ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ"เอไอเอส" ผู้ให้บริการรายเดิมจะยื่นข้อเรียกร้องให้ กสทช.ขยายมาตรการเยียวยาออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนมิถุนายน เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่ยังคงค้างอยู่ในระบบเร่งดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการอื่นๆได้หมดหรือเหลือน้อยที่สุด
โดยขอใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ในส่วนที่ บริษัท แจส โมบายบรอดแบนด์ ที่เป็นผู้ประมูลได้อีกราย แต่ยังไม่มีการส่งสัญญาณกลับมายัง กสทช.ว่าจะเข้ามาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมประมูลเมื่อไหร่ แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกกทค.ตัดบทไล่ให้ไปเจรจาขอใช้คลื่นจากทรูมูฟแทน ด้วยข้ออ้าง กสทช.ไม่ได้เป็น Operator ไม่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นเยียวยาให้และไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติให้ เอากะพ่อซิ !
ทั้งทีก่อนหน้าเมื่อครั้งที่ผู้ใช้บริการมือถือระบบ 1800 MHz เผชิญปัญหาซิมดับในลักษณะเดียวกัน กสทช.กลับกุลีกุจอแสวงหาทางออกชนิดที่ทำเอาวงการโทรคมนาคมมึนไปสิบตลบ เพราะเล่นขยายมาตรการเยียวยาครั้งแล้วครั้งเล่า เอาชนิดไม่ยอมให้ผู้ใช้บริการในระบบเก่าหลงเหลืออยู่แม้แต่รายเดียว และดูเหมือนบอร์ด กทค.-กสทช.จะหาเหตุผลรองรับการขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ว่านี้ ชนิดที่แม้แต่การอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. (หรือ ม.44) มาใช้ผ่าทางตันก็ยังดำเนินการมาแล้ว
โดยกสทช.ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ช่วงแรกวันที่ 16 กันยายน 2556-15 กรกฎาคม 2557 ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน หลังจากนั้นได้ขยายมาตรการคุ้มครองฯระยะที่ 2 หลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีคำสั่ง คสช.ที่ 94/2557 ให้ กสทช.ชะลอการประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ออกไปอีก 1 ปี พร้อมให้กสทช.ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ได้รับผลกระทบ ก่อนที่กสทช.จะขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นคำรบ 3 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ภายหลังมาตรการคุ้มครองเดิมสิ้นสุดลง แต่กสทช.ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ทำให้มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาซิมดับขึ้น
สำนักงานกสทช.จึงนำเรื่องรายงานเพื่อขอรับนโยบายจาก คสช.ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้มีหนังสือสั่งการให้ กสทช.ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการมือถือบนคลื่น 1800 MHz ออกไปจนกว่าจะมีการประมูลและได้ผู้ให้บริการรายใหม่ รวมแล้วมีการขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการดังกล่าวออกไปกว่า 2 ปีด้วยกัน แล้วเหตุใด เมื่อเกิดปัญหาซิมดับในครั้งนี้ กสทช.กลับไม่คิดนำพาที่จะรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่กลับเลือกที่จะปล่อยให้เกิดปัญหา "ซิมดับ" และหันไปแสวงหาทางออกด้วยการบีบให้ผู้ให้บริการรายเดิมไปเช่าใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จากบริษัทสื่อสารที่ได้รับใบอนุญาตแทน
ทั้งที่บริษัทเอกชนรายดังกล่าว ยังไม่มีโครงข่ายให้บริการ และยังต้องไปเจรจาขอเช่าใช้โครงข่ายจากบริษัททีโอทีอีกทอด พฤติกรรมของ กทค.และกสทช.ข้างต้นจึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากเป็นความพยายามที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทสื่อสารบางรายที่ใครต่อใครก็รู้อยู่เต็มอกว่า มีสายสัมพันธ์แนบแน่น จนถึงขนาดใช้กำลังภายในกดดันให้คสช.มีคำสั่งระงับและเลื่อนการประมูล 3 จี บนคลื่นความถี่ 1800MHz มากว่า 1 ปีมาแล้ว
แต่กระนั้น กทค.ก็ใช่จะใจไม้ไส้ระกำที่จะไปล่อยให้ผู้ใช้บริการ 2 จี กว่า 8 ล้านเลขหมายเดือดร้อนซับได้ เพราะยังมีมาตรการเอื้ออาทร ด้วยการให้สำนักงาน กสทช.ไปแสวงหาทางออกตามข้อเสนอของบริษัท ทรูมูฟ เอช ที่เสนอให้ กสทช.นำเอาคลื่นความถี่ 900 MHz ที่บริษัทเพิ่งได้รับใบอนุญาตไปให้บริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการรายเดิมเช่าใช้ โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 450 ล้านบาทแก่บริษัท
เล่นเอาผู้คนในวงการโทรคมนาคมต่าง "อึ้งกิมกี่" ตกลงใครเป็นผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศกันแน่ "กสทช."หรือบริษัท “ทรูมฟ เอช”