ถอดบทเรียนความสำเร็จประมูล 4จี กสทช.ตอกย้ำภารกิจ "หนักแน่น-โปร่งใส"
นับถอยหลังจากนี้ไปอีกไม่ถึงสัปดาห์ “ปีมะแม 2558” ปีแห่งความยากลำบากของพี่น้องประชาชนคนไทยก็จะลาจากปฏิทิน ย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2559 ที่ถือเป็น “ปีแห่งความหวัง” ของประชาชนคนไทย อีกครั้ง! หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประชาชนคนไทยต้องสลดหดหู่ “ผิดหวัง” จากการที่รัฐบาลไม่สามารถจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ทะยานไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
อัตราการาขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศที่หลากสำนักตั้งเป้าหมายกันเอาไว้อย่างสวยหรูว่า เศรษฐกิจไทย หลังผ่านพ้นวิกฤตทางการเมืองในปี 57 และได้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศเดินหน้าปฏิรูปประเทศเต็มรูปแบบแล้ว จะขยายตัวไปถึง 4-5% ก่อนหน้านี้
วันนี้แค่จะผลักดันให้ทะยานไปให้ถึง 2.8-3% ก็ยังจ่อ “หืดจับ” กันอยู่เลย...
อย่างไรก็ตามในภาวะที่ประชาชนคนไทยยัง “หายใจไม่ทั่วท้อง” เรายังมี “ข่าวดี” อยู่บ้างจากผลการประมูล 4จี บนคลื่น 900 เมกกะเฮิร์ตส์ (MHz) ที่ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” จัดประมูลและเพิ่งสิ้นสุดลงไป เพราะไม่เพียงจะสามารถดึงเม็ดเงินค่าธรรมเนียมจากการประมูลเข้ารัฐไปได้ถึง 151,952 ล้านบาท ที่ถือเป็นการ “ทุบสถิติโลก” แล้ว
ที่สำคัญยังถือเป็น “ของขวัญชิ้นแรก” ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งมอบให้กับประชาชนคนไทย หลังจากที่ต้อง “หาวเรอ” รอการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 4จี กันมาข้ามปี ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการประมูลคลื่นความถี่ 4จี ข้างต้น ต้องถือเป็นผลงานความสำเร็จของ กสทช.และโดยเฉพาะบทบาทของ “นายฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.ที่ถือได้ว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันงดงามของการส่งมอบและคืนความสุขแก่พี่น้องประชาชนในครั้งนี้
ย้อนไปในช่วงที่ “หัวหน้าคณะรักษาคามสงแห่งชาติ (คสช.)” มีคำสั่งคสช.ที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 57 ให้ กสทช.ชะลอการประมูล 4จี เอาไว้ เพื่อต้องการให้ กสทช.ดำเนินการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูลนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เส้นทางการประมูล 4จี ที่สะดุดลงไปข้างต้น เกือบทำให้ประเทศไทยตกขบวนรถไฟไปตลอดศกแล้ว
จากการที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล คสช.ในอดีตมุ่งมั่นแต่จะ “ปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิทัล” และผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมาเสียก่อน ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารของรัฐคือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ต่างก็ออกโรงเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz นี้ไปให้หน่วยงานโดยตรง ด้วยข้ออ้างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประเทศชาติ จนทำเอานโยบายของรัฐบาลปั่นป่วนจ่อจะเป็น “ไม้หลักปักเลน”
แต่ด้วยบทบาทของเลขาธิการ กสทช.ที่ยืนหยัดต่อสู้ และชี้แจงให้รัฐบาลเห็นความจำเป็นที่ต้องนำคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้วกลับมาบริหารจัดการด้วยการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตเท่านั้น ทั้งยังชี้ให้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการประมูล 4จี ที่ว่านี้ โดยเฉพาะถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดมากที่สุด โดยที่รัฐไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสวงหาแหล่งเงินกู้ที่ไหนมาลงทุน เพราะบริษัทสื่อสารเอกชนพร้อมกระโจนเข้ามาลงทุนกันเต็มพิกัดอยู่แล้ว ขณะที่เม็ดเงินที่ได้จากการประมูลที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 65,000 ล้านบาทขึ้นไปนั้น จะทำให้รัฐสามารถนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้โดยตรงอีกด้วย!
กระทั่งนายกฯ และหัวน้า คสช.ยอม “ไฟเขียว” ให้ กสทช.เร่งรัดการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4จี โดยเร็ว
แต่กระนั้น กสทช.ยังคงต้องเผชิญแรงเสียดทานทั้งจากนักวิชาการ เครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่ยังคงมองว่า การประมูล 4จี ภายใต้หลักเกณฑ์ กระบวนการประมูลที่ กสทช.กำหนดไว้นี้ ยังคงเปิดช่องให้บริษัทสื่อสาร “ฮั้วประมูล”กันได้ แต่ก็ด้วยจุดยืนอันแน่วแน่ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) รวมทั้งบทบาทของเลขาธิการ กสทช.ที่ออกโรงยืนยัน นั่งยันว่า กสทช.มีกระบวนการตรวจสอบความโปร่งใสในการประมูล และวางหลักเกณฑ์ป้องกันการฮั้วประมูลเอาไว้อย่างเข้มงวด รัดกุม
ผลการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ กสทช.ประเดิมไปเมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ซึ่งนัยว่าสามารถดึงเม็ดเงินประมูลเข้ารัฐไปกว่า 80,788 ล้านบาท ถือเป็นบทพิสูจน์แรกที่ชี้ให้เห็น “ความโปร่งใส” ในกระบวนการจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาต 4จี ที่ว่านี้ ยิ่งเมื่อการประมูล 4จี บนคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่สิ้นสุดลงไปล่าสุดเช้าตรู่ของวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากบริษัทสื่อสาร 4 รายที่เข้าร่วมชิงดำขับเคี่ยวกันมาราทอน 5 วัน 4 คืนเต็มๆ ถึงได้ผู้ชนะประมูล เรียกได้ว่าสู้กันถึงชั้นฎีกาเลยจริงๆ นั้น
ผลการประมูลที่ได้จึงยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึง “ความโปร่งใสในการประมูล” ที่แม้แต่“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและหัวหน้า คสช.ยังเอ่ยปากชื่นชมว่า “เป็นการประมูลเพื่อชาติจริงๆ” เพราะในขณะที่รัฐบาลกำลังควานหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สั่งทุกหน่วยงานหาของขวัญปีใหม่เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยกันอยู่ ผลการประมูล 4จี ทั้งจากคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช.ประมูลไปก่อนหน้า และคลื่น900 MHz ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปที่สามารถดึงเม็ดเงินค่าธรรมเนียมจากการประมูลเบ็ดเสร็จ 2 ล็อต 4 ใบอนุญาตสูงกว่า 232,270 ล้านบาทนั้น
ถือเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่า สิ่งที่ กสทช.ยืนยันการประมูล 4จี คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดและตรงจุดที่สุดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้ไกลเกินความจริงไปแม้แต่น้อย และถือเป็นนโยบาย “ประชารัฐ” หรือ “ประชานิยม”ที่ตอบสนองตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุดก็ว่าได้