ภาคียางใต้ รับสภาพหลังราคาแตะ 6 กิโลร้อย สอนเรื่องดินให้ชาวสวนไว้เปลี่ยนอาชีพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศโดยทั่วไปของการซื้อขายยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 พบว่า ราคาซื้อขายยางก้นถ้วยในตลาดท้องถิ่น อยู่ที่ กก.ละ 16.50-20 บาท ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ขณะที่พ่อค้ารับซื้อยางในพื้นที่ อ.นบพิตำ รายหนึ่ง กล่าวว่า ตอนนี้ตนรับซื้อยางก้นถ้วยที่ราคา กก.ละ 20 บาท ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 30-33.50 บาท แล้วแต่คุณภาพของยาง ขณะที่ราคายางพารา ณ ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ราคายางแผ่นดิบ 38.17 บาท/กก. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.28 บาท/กก. ยางความชื้น 37.80 บาท/กก. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.41 บาท/กก. ยางแผ่นรมควัน 40.69 บาท/กก. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.54 บาท/กก. ราคายางแผ่นดิบท้องถิ่น 36.20 บาท/กก. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.30 บาท/กก. ราคาน้ำยางสด 35.40 บาท/กก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.15 บาท/กก.
นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ระดับผู้นำอย่างตนก็ต้องพึงสังวรสังขารตัวเอง ไม่มียางพาราที่จะขายได้ ทราบว่าวันนี้ ยาง 6 โล 100 บาทแล้ว ตนเรียกร้องช่วยเหลือมาตลอด แต่ก็ไม่มีผู้ใดเห็นความสำคัญ จึงตระหนักว่า ในเมื่อตนออกมาเรียกร้องให้ชาวสวนยาง แล้วทำไมตนไม่หันมาช่วยสอนชาวสวนยางให้รู้จักกับดินซึ่งเป็นทรัพย์ที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุด เพื่อจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีอาชีพของชาวสวนยาง
“ประกอบกับตนเป็นหมอดิน ได้เรียนรู้และอบรม จนเข้าใจว่าดินที่อยู่กับเรานั้นมีสภาพเป็นอย่างไร และความแก้ปัญหาอย่างไร ตนจึงขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ฯ ชมรม หรือ อปท. จัดกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม เพื่อเพิ่มความรู้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ หันมาแก้ปัญหาที่ตัวเอง ด้วยการเริ่มต้นปรับปรุงดิน เพื่อพลิกพื้นที่ทำการเกษตรใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจัดการตนเองและครอบครัวให้อยู่ได้” นายทศพล กล่าว
นายทศพล กล่าวอีกว่า เริ่มต้นตนได้รับการอบรมหมอดินอาสาประจำปี 58 ที่ อ. จุฬาภรณ์ โดยเป้าหมายหลักก็คือการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต หัวใจหลักก็คือการเก็บตัวอย่างดินเพื่อทำการวิเคราะห์ให้รู้ค่า pH ของดิน และค่าของ NPK ว่าอยู่ในระดับใด ความเป็นกรดเป็นด่าง มีค่าเฉลี่ยอยู่ระดับไหน เพื่อนำไปสู่การปรับดิน เป็นหัวใจหลักของปัญหา ถ้าดินดีมันก็ส่งผลให้เราประหยัดต้นทุน ผลการวิเคราะห์ดินสามารถบอกได้ว่าพืชใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดใด
“ก่อนที่จะสอนคนอื่นได้ ต้องลองปฏิบัติกับสวนยางของตนเองก่อน สวนยางของตนจะเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนอาชีพได้เป็นอย่างดีแก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม” นายทศพล กล่าว