'มีชัย'ย้อนระบอบแม้ว'ไม่มีที่ไหนในโลกถ้าไม่เลือกพรรคตนจะไม่ให้งบประมาณ'ยกเว้นไทย!
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีข้อท้วงติงเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมเป็นการตัดตอนพรรคการเมืองขนาดใหญ่ว่า ขอชี้แจงดังนี้ 1.การจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ต้องเริ่มต้นว่า เราจะยอมเคารพเสียงของประชาชนมากน้อยเพียงใด ในการไม่ให้คะแนนประชาชนสูญเปล่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเราใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยบัตรเลือกตั้งใบหนึ่งนับคะแนนหมด แต่บัตรเลือกตั้งอีก 1 ใบนับส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคะแนนจะถูกทิ้ง 2.เวลาที่ กรธ.คิดประเด็นนี้ไม่ได้คิดถึงพรรคการเมืองใด และไม่คิดว่าจะเกิดประโยชน์หรือโทษใดกับพรรคการเมือง คิดแต่เพียงว่าจะทำอย่างไรให้คะแนนของประชาชนมีน้ำหนักนำไปใช้ในการออกเสียงเลือกตั้งใหม่มากที่สุด 3.วิธีนี้ กรธ.มองว่าเป็นวิธีการปรองดองอย่างหนึ่ง คือให้คะแนนเฉลี่ยกันไปทุกพรรค
นายมีชัยกล่าวต่อว่า 4.สำหรับนักวิชาการหรือสื่อมวลชนที่ชอบอ้างว่าไม่มีประเทศใดทำกัน ขอชี้แจงว่าคนไทยเรามีสติปัญญาที่จะคิดได้ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับบริบทของการเมืองไทย การไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศไม่ใช่ไปจำตำราของมาใช้อย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศของเรา
"5.ถ้าเราจะเอาโลกมาเป็นตัวอย่าง ก็ต้องถามว่าโลกนี้เคยมีรัฐบาลไหนที่ออกมาพูดในที่สาธารณะ ว่า คนภาคหรือจังหวัดนี้ไม่เลือกพรรคของตน จะไม่จัดสรรงบประมาณให้ หรือนำโครงการจากจังหวัดหนึ่งย้ายไปอีกจังหวัดหนึ่ง เพียงเพราะจังหวัดนั้นไม่ได้เลือกคนของรัฐบาล ที่อื่นมีหรือไม่-ไม่รู้ แต่ประเทศไทยมี" ประธาน กรธ.กล่าวและว่า กรธ.กำลังพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยระบบการเลือกตั้งใหม่ทุกจังหวัดจะมีคะแนนเสียงเอื้อต่อทุกพรรคการเมืองมากบ้างน้อยบ้าง จนสามารถพูดได้ว่าคนทั้งประเทศสนับสนุนทุกพรรค มากบ้างน้อยบ้างสุดแล้วแต่กำลังศรัทธาของแต่ละพรรค
นายมีชัย กล่าวว่า 6.พรรคจะต้องคัดเลือกคนดีที่สุดลงสมัคร แม้จะรู้ว่าคะแนนในเขตนั้นสู้พรรคการเมืองอื่นไม่ได้ แต่ก็ยังมีความหวังที่จะได้คะแนนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อนำไปคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 7.ในการเลือกตั้งปี 54 มีเขตเลือกตั้ง 375 เขต มีถึง 120 เขตที่คะแนนของผู้รับเลือกตั้งได้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับเลือก โดยยังไม่ได้มีการนับจำนวนโหวตโน ถ้านับด้วยจะมากกว่า 120 เขต ทั้งนี้หากเราใช้วิธีแบบเดิม คนที่ได้คะแนนสูงสุดไม่ว่าจะได้จำนวนเท่าใดก็ได้รับเลือกตั้ง แต่คนที่ไม่เอาคนนั้น ถึงแม้จะมีคะแนนเท่าไหร่เราก็ทิ้งไป ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม
ประธานกรธ. กล่าวว่าเมื่อทุกพรรคมุ่งมั่นว่าต้องฟังเสียงประชาชน เราก็ต้องใช้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องลดการคิดถึงประโยชน์ของพรรค แล้วหันมานึกถึงประโยชน์ของประชาชนให้มากขึ้น เพราะเวลาที่ กรธ.คิดเราไม่ได้คิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคเลย ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งนักวิชาการสามารถเสนอแนะมาได้ กรธ.ก็รับฟังและนำมาคิด ตรงไหนที่บอกว่าเป็นจุดอ่อนว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะเอากลับมาคิด ตรงไหนที่ทำให้พรรคได้เปรียบเสียเปรียบเราจะไม่เอากลับมาคิค" ประธาน กรธ.กล่าว
"ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน ตัวอย่างในครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 10 คน โดยแต่ละวันมีกับข้าวได้เพียงอย่างเดียว แล้วให้ลงคะแนนกันว่าจะกินอะไร โดย 4 คนลงคะแนนว่ากินแกงเผ็ด 3 คนลงคะแนนว่ากินแกงจืด 2 คนลงคะแนนว่าจะกินผัดผัก 1 คนไม่ลงคะแนน ถ้าใช้หลักการนี้ทุกคนก็ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์ ดังนั้น กรธ.จึงหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรใน 1 อาทิตย์จะมีแกงจืด 2 วัน ผัดผัก 1 วัน ที่เหลือจะกินแกงเผ็ดไปอีก 4 วันก็ไม่ว่ากัน แต่อย่างน้อยชีวิตในครอบครัวก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขมขื่นจนเกินไป ไม่ต้องกินแกงเผ็ดไปทั้งอาทิตย์" นายมีชัย กล่าว
นายมีชัยกล่าวต่อว่า กรธ.ไม่เคยคิดว่าระบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลอ่อนแอ เพราะต้องขึ้นอยู่กับประชนว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ดังนั้นไม่ต้องกังวลเพราะทุกพรรคก็จะปรับวิธีการของเขาได้ โดยต่อไปผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็ต้องลงไปหาเสียงด้วย เพราะพื้นที่นั้นต้องเป็นของเขาด้วย ซึ่งระบบนี้เป็นเรื่องของการกำหนดกติกาบ้านเมืองเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด.