4จี กับวิถีชีวิตประจำวัน "ยุคดิจิทัล"
พลันที่ประกาศิตของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการเดินหน้าเปิดประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz โดยตอกย้ำความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติที่จะต้องไม่สูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศอีกนั้น
ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน นับจากนี้เป็นต้นไปวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยจะเข้าสู่โหมดของโลกยุคใหม่บนวิถีดิจิทัลอย่างแท้จริง และน่าจะถือเป็นนโยบายคืนความสุขแก่พี่น้องประชาชนที่ทุกฝ่ายเพรียกหาอย่างแท้จริง
อย่างที่ นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการ กสทช.ยืนยันก่อนหน้านี้ การประมูล 4จี ที่จะมีขึ้นนั้นจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่ประเทศชาติ เฉพาะค่าธรรมเนียมการประมูล 4 จีบนคลื่น 1800 MHz 2 ใบอนุญาตและ 900 MHz 2 ใบอนุญาตรวม 4 ใบอนุญาตนั้น ก็คาดว่าจะดึงเม็ดเงินประมูลเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 73,000 ล้านบาท ไม่รวมในส่วนที่บริษัทสื่อสารเอกชนที่จะต้องลงทุนวางเครือข่าย 4 จีเพื่อให้บริการอีกไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ประจำสำนักงาน กสทช.ยังได้ประเมินผลทางเศรษฐกิจจากโรดแม็พ 4จีนี้ว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญเบื้องต้นคาดว่าหลังเปิดบริการ 4จี เต็มรูปแบบจะเกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจประเทศโดยรวม 648,568 ล้านบาทคิดเป็น 1.49% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) รวม 3 ปี (ปี 2559-2561) แบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มทางตรงจากรายได้การประมูล 4จี ราว 65,258 ล้านบาท การลงทุนโครงข่าย อุปกรณ์ และระบบที่เกี่ยวข้อง 150,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มทางอ้อมจากการใช้งานบริการต่างๆ บนเทคโนโลยี 4จี อีกราว 433,310 ล้านบาท
ขณะที่ประโยชน์ที่จะเกิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนนั้น การเปิดให้บริการมือถือระบบ 3จี และ 4จี จะพลิกโฉมหน้ากิจการโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตของประเทศจากปัจจุบัน ไล่มาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่เราคุ้นเคย เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำกาแฟ นาฬิกาข้อมือ ไปจนถึงอุปกรณ์และระบบการทำงานต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน เช่น รถยนต์ ระบบความปลอดภัย ระบบเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและอาคาร ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการเติบโตของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์และ “แอพพลิเคชั่น” ใหม่ๆ ที่อาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการทำงานออกมาอยู่ตลอดเวลา
“ความหมายของ Internet of Things ก็คือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ใดๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้น “ฉลาด” ขึ้น สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ และรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า smart devices หรืออุปกรณ์อัจฉริยะนั่นเอง”
ตัวอย่างการใช้งานอุปกรณ์ Internet of Things ในด้านต่างๆ ผ่านโครงข่าย 3จี และ 4จี
1.เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและอาคารที่มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบต่างๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถสื่อสารกันเองได้ ทำให้เราสามารถควบคุมระบบต่างๆ ตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ จะสั่งให้แอร์ เครื่องซักผ้า แอลอีดี ทีวี เครื่องเสียง หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ทำงานเมื่อจะกลับถึงบ้านหรือเชื่อมต่อกับระบบจีพีเอสในรถยนต์โดยอัตโนมัติ
2.ยานยนต์และการจราจรการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับรถยนต์ ยานพาหนะบนท้องถนนเพื่อให้รถเหล่านี้สามารถ “คุย” กันเอง หรือ “คุย” กับระบบควบคุมไฟจราจร การออกแบบระบบที่จอดรถอัจฉริยะ ผู้ขับรถที่เข้ามาก็สามารถใช้เปิดแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหาตำแหน่งที่จอด หรือจองตำแหน่งที่จอดรถได้เป็นต้น
3.เชื่อมต่อระบบสาธารณูปโภคเข้ากับอินเทอร์เน็ตสามารถตรวจวัดและปรับระดับการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดโดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดพลังงานตัวอย่างเช่น ระบบไฟฟ้าหรือน้ำประปาที่ปิดการทำงานเองเมื่อรู้ว่าคุณไม่อยู่บ้านหรือไม่ได้ใช้อุปกรณ์บางอย่าง ระบบตรวจจับระดับมลพิษในน้ำหรืออากาศ หรือตรวจวัดคุณภาพของน้ำประปาน้ำในสระว่ายน้ำ เป็นต้น แม้แต่การใช้แอพในมือถือตรวจจับว่าถนนมีหลุมบ่อที่เป็นอันตรายต่อการขับขี่หรือไม่ก็สามารถรายงานข้อมูลโดยอัตโนมัติไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง
4.อุปกรณ์สวมใส่ (Wearable) และเทคโนโลยีการแพทย์ ปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่หรือที่เรียกว่า wearable ซึ่งมีความสามารถในการวัดผลได้มากมายอาทิวัดการออกกำลังกาย การเผาผลาญพลังงาน วัดอัตราการเต้นของหัวใจและตรวจจับการเต้นที่ผิดปกติ หรือวัดจำนวนชั่วโมงการนอนในแต่ละคืนเป็นต้น สามารถแสดง Indicator ด้านต่างๆ ที่ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไรอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะกลายเป็นเหมือนแพทย์ประจำตัว
5. การทำงานของหน่วยงานราชการ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นจะทำให้ทุกหน่วยงานสามารถพัฒนาคุณภาพ บริการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด เช่น วางแผนระบบจราจร ระบายการจราจร ให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนเส้นทางเลี่ยงทางแยกต่างๆ การรับมือกับภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดคิวในการติดต่อขอรับบริการทางราชการ หรือในโรงพยาบาลต่างๆ เทคโนโลยี Internet of Things จะสามารถช่วยให้หน่วยงานของภาครัฐได้รับข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการออกแบบนโยบายแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตรงจุด
“อุปกรณ์อัจฉริยะ Internet of Things เหล่านี้ จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเช่นระบบ 3G และ 4G ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นมีคุณภาพของการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น มีการเชื่อมต่อแบบ “always-on” หรือการเชื่อมต่อแบบ 24 ชั่วโมง เหตุผลเหล่านี้ทำให้เทคโนโลยี smart devices เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น”
โดยมีการประมาณการณ์ว่าในปี 2558 นั้น มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (connected devices) ประมาณ 13,400 ล้านเครื่อง และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 38,500 ล้านเครื่องภายในปี 2563