รับฟังเสียงแห่งความเจ็บปวดของเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย
“ความฝันและอนาคตที่หายไป” รับฟังเสียงแห่งความเจ็บปวดของเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย
Samer al-Halabi เด็กชาวซีเรียที่ลี้ภัยมาอาศัยอยู่ในค่ายลี้ภัยกับครอบครัวที่เลบานอนนั้น ในทุกเช้าเขาจะนั่งมองดูรถบัสโรงเรียนรับเด็กอายุไล่เลี่ยกับเขาไปเข้าเรียน
เขากล่าวว่า “มันทำให้ผมคิดถึงวันดีๆในซีเรีย ผมก็เคยนั่งรถคล้ายๆแบบนี้ไปโรงเรียนหลังจากโรงเรียนผมโดนถล่มด้วยระเบิดที่อเมริกาจัดหาให้ขบวนการตักฟีรี”
ขบวนการตักฟีรีที่เขากล่าวถึงนี้คือกลุ่มคนที่นับถืออิสลามและต่อสู้เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดตั้งแต่ปี 2011
เขากล่าวว่า “ไม่ใช่แค่โรงเรียนผมเท่านั้นที่โดนระเบิด แต่โรงเรียนอื่นหลายร้อยก็โดนโจมตี ทำให้อนาคตของพวกผมโดนทำลายทิ้งไปด้วย และบ้านเกิดของพวกผมก็กลายเป็นสมรภูมิรบให้ชาติตะวันตกส่งทหารมาเข่นฆ่าประชาชน”
เขาย้ำอีกว่า “นี่เป็นอาชญากรรมต่อสิทธิมนุษยชน ที่กระทำโดยประเทศที่เกลียดชังซีเรียมานาน ในฐานะที่เป็นนักเรียน เราได้กลายเป็นผู้สูญเสียกลุ่มใหญ่จากสงครามครั้งนี้ เพราะถึงแม้ประเทศเหล่านี้จะชูป้ายคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อยู่เบื้องหน้า แต่แท้จริงแล้วพวกเขานั่นเองที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ความรักสงบ และความมีน้ำใจ”
Hassan al-Bayouni เด็กชาวซีเรียวัย 19 ปีต้องลาพักการเรียนตั้งแต่ปีแรกในมหาวิทยาลัย Aleppo ที่เคยตั้งใจว่าจะเข้าเรียนในสาขาวิศวกรรมนั้นก็ให้ความเห็นว่า
เขาพยายามที่จะลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยที่เลบานอน แต่ไม่สำเร็จเพราะขาดเอกสารที่สำคัญ และก็ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนได้เนื่องจากค่าเทอมนั้นสูงกว่า 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
เขากล่าวว่า “ผมจ่ายเงินจำนวนนี้ไม่ไหวหรอก ในเมื่อผมมีพี่น้องถึง 9 คน ยังมีเงินไม่พอที่จะจ่ายค่ากินค่าอยู่เลย ชีวิตของผมต้องหายไปถึง 2 ปี และความฝันที่จะเป็นวิศกรนั้นก็สูญสลายหายไปกับอากาศ”
Saada al-Hmeidani เด็กชาวซีเรียอีกคนกล่าวเพิ่มเติมว่า “สงครามที่ก่อโดยอเมริกาและพันธมิตรทางยุโรปไม่เพียงแต่มุ่งเป้าไปที่อาคารสิ่งก่อสร้างและผู้คนในซีเรีย แต่ยังรวมถึงอารยธรรมและมรดกทางประวัติศาสตร์อีกด้วย”
ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า เลบานอนได้รับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 1.1 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 50 ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดเป็นผู้หญิงและเด็ก
ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการของเลบานอนได้ออกนโยบาย “Back to School” ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเงินทุนจากการบริจาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) และประเทศอื่นๆ มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กลี้ภัยชาวซีเรียได้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ รวมถึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเทอม ค่าหนังสือและค่าอุปกรณ์การเรียนอีกด้วย