คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร
ในการดำเนินการประหารชีวิตนั้น เดิมจะใช้วิธียิงเป้า ซึ่งหลังจากที่เรือนจำกลางบางขวางได้รับคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี หรือคำสั่งใดก็ตามที่มีอำนาจถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดที่ถูกศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต เรือนจำจะมอบหมายหน้าที่ให้ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขังทำการตรวจสอบหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนักโทษว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับคำสั่งที่ให้ดำเนินการประหารชีวิตหรือไม่ เพื่อป้องกันการประหารผิดคน และเรือนจำจะออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการประหารชีวิตได้แก่ หัวหน้าชุดผู้ให้สัญญานยิง 1 นาย พี่เลี้ยง 3 นาย เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพ 1 นาย เจ้าหน้าที่ทะเบียน 2 นาย หัวหน้าฝ่ายทัณฑปฏิบัติ 1 นาย หัวหน้างานทัณฑปฏิบัติ 1 นาย พลเล็งปืน 1 นาย เพชฌฆาต 2 นาย(เพชฌฆาตมือหนึ่งและเพชฌฆาตมือสอง)
โดยแจ้งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นทราบอย่างเป็นความลับที่สุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ สมัยที่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เกิดคดีข่มขืนฆ่าขึ้นที่จังหวัดอุดรธานีและสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ เป็นพลเรือน 2 คน ทหาร 1 คน ซึ่งประจำการอยู่ที่โคราช ศาลทหารได้ตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิต ทั้งหมดไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆทั้งสิ้น นักโทษที่เป็นทหารถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำทหารโคราช ได้ใช้ขวดตีเป็นปากฉลามแล้วแทงตัวเองฆ่าตัวตายเพื่อหนีโทษประหาร เรือนจำทหารจึงได้รีบนำตัวส่งเข้ารักษาเพื่อช่วยชีวิตเป็นการด่วน จากนั้นนำตัวขึ้นรถพยาบาลไปที่เรือนจำกลางอุดรธานีเพื่อทำการประหารชีวิตพร้อมคู่คดีอีก 2 คน(ทำผิดที่ไหนประหารที่นั้น)
ในความเป็นจริงถึงไม่นำตัวนักโทษที่พยายามฆ่าตัวตายไปประหาร นักโทษผู้นั้นก็ต้องตายอยู่ดี เนื่องจากบาดแผลฉกรรจ์และเสียเลือดมาก แต่กฎหมายได้ระบุไว้ว่า “ผู้ต้องโทษประหารชีวิตให้นำไปยิงเสียให้ตายซึ่งด้วยปืน” จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการประหารไปได้และจะใช้อาวุธชนิดอื่นใดมาทำการประหารชีวิตก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ปัจจุบันการดำเนินการประหารชีวิตเปลี่ยนแปลงมาเป็นวิธีฉีดสารพิษ ซึ่งมีทั้งเหมือนและต่างจากการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าบ้างในบางขั้นตอนคือ เจ้าหน้าที่ฉีดยาและสารพิษ 3 นาย แทนเพชฌฆาต 2 นาย มีตัวยาและสารพิษที่ใช้กับนักโทษประหาร นั่นก็คือสารโซเดียมเพนโททัล, สารแพนคูไรเนียมโบรไมด์, สารโพแทสเซียมคลอไรด์
การทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ของยุทธ บางขวางนั้น ได้นำนักโทษไปประหารชีวิตด้วยการยิงเป้ามาแล้วทั้งสิ้น 38 ราย เป็นนักโทษชาย 37 ราย เป็นนักโทษหญิง 1 ราย และได้นำนักโทษไปประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษจำนวน 2 ราย เป็นนักโทษชายทั้งคู่
ซึ่งการประหารชีวิตจะด้วยการยิงเป้าหรือฉีดสารพิษหรือจะด้วยวิธีไหนก็ตาม จุดมุ่งหมายก็คือ การจบชีวิตของบุคคลที่ถูกระบุว่ากระทำความผิดร้ายแรงและไม่สมควรมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อีกต่อไป นับเป็นการลงโทษขั้นรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักโทษแต่ละรายที่ยุทธ บางขวางเป็นพี่เลี้ยงนำไปสู่วาระสุดท้ายของชีวิตนั้น บางรายร้องไห้ฟูมฟาย บางรายต่อสู้ดิ้นรน บางรายเล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้ฟัง เป็นการสำนึกผิดให้ยุทธ บางขวางได้รับรู้ก่อนการประหารต่างๆกันไป เหตุการณ์และคำพูดของนักโทษประหารที่ยุทธ บางขวางเขียน ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่ดูหมิ่นผู้ใดหรือหน่ยงานใดๆทั้งสิ้น
เป็นเพียงการบอกเล่าและสารภาพบาป รวมทั้งระบายความรู้สึกของนักโทษประหารที่ใกล้เวลาตายในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า อาจเป็นเรื่องจริงตามคำบอกเล่า หรือเป็นการโกหกหลอกลวงครั้งสุดท้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ตนเกลียด
“ผมมันเป็นคนบาป การตายของผมในวันนี้ไม่รู้ว่าจะชดใช้กรรมเก่าได้หมดสิ้นหรือเปล่า”
“ไม่จริงครับ ลองคิดดูเถอะครับ ผมจะทำไปได้ยังไง ในเมื่อท่านพระครูมีบุญคุณกับผมมากและผมก็เป็นชาวพุทธเคยบวชเรียนมาแล้ว ถึงผมจะเคยเสพยาก็จริง แต่ผมไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร ผมเกลียดตำรวจครับ ที่ผมโดนมาเป็นอย่างนี้ก็เพราะตำรวจ พวกพี่ๆที่มาพิมพ์มือผมอย่าได้ไปทำกับใครนะครับ(หมายถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ)”
“หัวหน้าและพี่ๆทุกคน ผมจะถูกประหารในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าแล้ว ผมขอยืนยันให้ทุกคนได้รับรู้ไว้ ผมไม่ได้ทำน้องนุ่นลูกของผมจริงๆ ถึงจะไม่ใช่ลูกแท้ๆของผม แต่ผมเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะจนมีความรู้สึกว่าน้องนุ่นคือลูกของผมเองแล้วผมจะทำอย่างนั้นได้ยังไง พอน้องนุ่นตายตำรวจก็มาจับผมไป บีบคั้นให้ผมรับสารภาพ เมื่อผมปฏิเสธก็ซ้อมผมบ้าง ใช้กระบองไฟฟ้าจี้ผมบ้าง แล้วผมจะทนไปได้ยังไง ผมจึงจำต้องรับสารภาพออกมาทั้งๆที่ผมไม่ได้เป็นคนทำ ผมไม่เชื่อว่าความยุติธรรมจะมีเหลืออยู่ในโลก ผมยินยอมเข้าหลักประหารแต่โดยดี คิดเสียว่าเป็นกรรมเก่าของผมก็แล้วกัน”
“คนอย่างผม ใครจะมารังแกคนที่ผมรักไม่ได้อย่างเด็ดขาด มันต้องตายกันไปข้างหนึ่ง และคนอย่างผม ใครจะมาทำให้ผมโกรธแค้นก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน ในเมื่ออยากลองดีกับผม ผมก็ต้องทำให้จดจำผมไว้จนวันตาย ผมบอกว่าอย่าแจ้งความก็ไม่เชื่อ แล้วจะเอาไว้ทำไม”
“ตอนนั้นผมเมาไปหน่อยครับ เล่นยาม้าเข้าไปจนลืมตัว ยาเสพติดเป็นต้นเหตุของความชั่วทุกเรื่อง ยามเมาทำอะไรไปก็ได้ทั้งนั้น แต่พอหายเมาแล้วมารู้ตัวว่าทำผิดไป มันก็สายเกินไปซะแล้ว”
“ช่วยเร่งให้เสร็จเร็วๆหน่อยเถอะครับ จะได้ตายให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปสักที”
“บาปหน้าตาเป็นยังไงหรือครับ ผมเองก็นับถือพุทธแต่ผมไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์อะไรหรอกครับ คนตายไปแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด ที่จริงคนที่ผมฆ่าบางคนเลวยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น สิ่งไหนที่ผิดกฏหมายมันเอาหมด เวลาผมยิงกบาลมันเห็นสมองมันกระจาย ผมรู้สึกสะใจดีพิลึกครับ เวลาตายมันก็นอนตายเหมือนหมาไม่เห็นมันจะมีอะไรพิเศษเหนือคนอื่น ไม่เคยเห็นผีคนที่ผมฆ่ามาหาผมสักที ผมแค่ชีวิตเดียวเท่านั้นคุ้มเหลือเกินครับ”
“ไม่มีใครทำอะไรให้ผมเจ็บแค้นหรอกครับ วันนั้นผมเมามากไปหน่อย ปกติแถวละแวกหมู่บ้านที่ผมอยู่นั้น ไม่มีใครกล้ายุ่งหรือขึ้นเสียงกับผมได้หรอกครับ หมามันยังไม่กล้าเห่าผมเลยผมเตะกระเด็นหมด ใครพูดผิดหูหรือแปลกหน้าเข้ามาผมตบฟันร่วง จะเรียกว่าผมเป็นขาใหญ่คุมแถวนั้นก็ว่าได้”
“ผมยอมรับว่าเขาตายเพราะผม แต่ผมไม่ได้ฆ่าเขา เหตุการณ์ที่แท้จริงนั้นมันไม่ใช่อย่างที่ถูกสอบสวน ทีแรกผมเล่าให้ตำรวจฟังก็ไม่เชื่อผม พยานหลักฐานมันมัดจนผมดิ้นไม่หลุด ตอนนั้นมันคิดอะไรไม่ออกจริงๆครับ”
“หัวหน้าครับ พี่นิรันดร์เขามีบุญคุณกับผมมาก ช่วยเหลือผมมาตลอด เมื่อเขามาขอให้ผมทำงานให้ ผมจะปฏิเสธได้ยังไง ผมทำเพื่อทดแทนบุญคุณครับ เรื่องเงินค่าจ้างเป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้น”
“มือปืนอย่างพวกผม ศักดิ์ศรีเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อรับงานมาแล้วจะต้องทำให้เสร็จ แต่ถ้าใครคนใดคนหนึ่งพลาดท่าถูกจับได้ จะต้องไม่ซัดทอดถึงผู้ร่วมงานและผู้จ้างวานอย่างเด็ดขาด อย่างน้อยเวลาติดอยู่คุก คนจ้างส่วนใหญ่จะส่งเสียดูแลครอบครัวให้ ถ้าหากมีการซัดทอดถึงผู้จ้างวานใครจะเป็นผู้ส่งเสียดูแลผมและครอบครัว”
“กฎหมายเมืองไทยอยู่ที่พยานหลักฐาน ใครสร้างพยานเก่งกว่าก็ชนะ ผมไม่เชื่อหรอกว่าพยานที่ชี้ตัวผมจะจำได้จริง หัวหน้าลองคิดดูเถอะครับถ้าเป็นตัวหัวหน้าอยู่ในเหตุการณ์ หัวหน้าคิดว่าจะนั่งจ้องหน้าคนยิงเพื่อจำหน้าไว้ไหม เมื่อยิงเสร็จแล้วคงไม่มีมือปืนคนไหน ยืนเป็นนายแบบให้พยานจำหน้าได้หรอก”
“หัวหน้าครับจะซ้อมผมก่อนยิงหรือเปล่า ผมขอเถอะนะครับอย่าทำผมกันอีกเลย ตั้งแต่โดนจับตัวมาได้ ผมถูกซ้อมมาตลอด พอเข้าไปที่เรือนจำสีคิ้ว นักโทษด้วยกันก็รุมทำร้ายผมอีก อย่าซ้อมผมอีกเลยนะครับผมขอร้อง”
“เมื่อเราไปถึงจุดนัดหมายสายก็ทำเป็นว่าไปดูผู้มาติดต่อก่อน ตำรวจที่นัดกันไว้ก็จะกรูกันเข้ามาล้อมกรอบจับกุมเราทันที แถลงข่าวว่าตามมานานแล้วบ้าง รอดไปได้หลายครั้งแล้วบ้าง ได้ทั้งเงินรางวัลได้ทั้งผลงาน ผมยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ทำงานกันอย่างซื่อสัตย์ แต่ไอ้แกะดำพวกนี้แหละครับที่ทำให้คนอื่นต้องมัวหมองไปด้วย อย่างของผมนี่ผมยอมรับว่าทำจริงแต่ผมมันแค่พ่อค้ารายย่อย รายใหญ่จริงๆไม่เห็นจะโดนจับกันสักที นักการเมืองบางคนนั่นแหละตัวดี รู้ๆกันอยู่ พวกตัวใหญ่ๆในวงราชการบางคนก็ใช่ กล้าที่จะจับพวกนี้มาประหารกันบ้างหรือเปล่า แค่เอ่ยชื่อมาประกาศให้สังคมรับรู้ยังไม่กล้ากันเลย แล้วชาติไหนยาเสพติดจะหมดไปจากประเทศไทยได้หละครับ”
วิเคราะห์ :
คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหารเป็นวรรณกรรมประเภทประสบการณ์ชีวิตของสำนักพิมพ์คิงแรท ซึ่งฉบับที่นำมาวิเคราะห์นี้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 9 เขียนโดยยุทธ บางขวาง พี่เลี้ยงนักโทษประหาร
คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหารได้อธิบายหลักการ ขั้นตอน และวิธีการประหารชีวิต รวมไปถึงต้นเหตุที่ทำให้คนหนึ่งคนเปลี่ยนสถานะของตนมาเป็น”นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต” ภายในเล่มบรรยายเหตุการณ์ขณะที่นำตัวนักโทษไปประหารชีวิต ความรู้สึกก่อนถูกประหาร การพูดครั้งสุดท้ายของคนที่เดินไปสู่ความตาย ทั้งหมดอาจเป็นสิ่งที่คนในสังคมภายนอกไม่เคยรับรู้หรือไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นจริง ทั้งหมดนี้อาจเป็นการพูดเพื่อระบายหรือเพื่อโกหกหลอกลวงเป็นครั้งสุดท้ายจากมุมหนึ่งของสังคมที่น้อยคนจะได้สัมผัส
เรื่องราวประสบการณ์จริงของพี่เลี้ยงนักโทษประหารที่ได้พูดคุยและใกล้ชิดกับพวกเขาที่สุดก่อนตาย สิ่งที่พวกเขาพูดเป็นครั้งสุดท้ายอาจเป็นคำพูดที่ใครหลายๆคนไม่เคยคาดคิดมาก่อนและอาจเป็นเรื่องราวที่ต้องใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินให้มาก
“แพะรับบาป”เป็นสำนวนคุ้นหูของหลายคนที่เมื่อได้ยินแล้วจะเข้าใจโดยทันทีว่าคนนั้น”ขาวสะอาด” นักโทษหลายคนได้บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาพร้อมกับประโยคที่เหมือนจะเป็นการย้ำว่า”นั่นคือความจริง” แต่จากเนื้อหาทั้งหมดพวกเขาไม่มีความผิด แล้วที่พวกเขาต้องโทษประหารหมายความว่าอย่างไร กระบวนการยุติธรรมของบ้านเราไม่โปร่งใส เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องการผลงานและรางวัลตอบแทน หรือมีผู้บงการอยู่เบื้องหลังที่ต้องการ”แพะ”เพื่อทำให้เรื่องจบๆไป หากเรื่องราวเหล่านี้เป็นจริงจะพอมีความเป็นไปได้อยู่ไหมที่จะเรียกเรื่องเหล่านี้ว่าเป็น ความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากมุมมืดของสังคม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจับแพะเพื่อทำเสมือนว่าเขาได้เพิ่มสันติสุขให้แก่คนในสังคมมากขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วผู้ร้ายตัวจริงยังคงลอยนวลและแฝงอยู่ในเงาของฝูงชน นั่นก็หมายความว่าสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นสิ่ง “จอมปลอม”
“สำนึกผิด”เป็นคำพูดหรือความรู้สึกที่เมื่อเราได้รับรู้แล้วมักใจอ่อนและพร้อมให้อภัย แต่สำหรับพวกเขาเหล่านี้ที่ต้องโทษประหาร และหมดสิทธิ์ได้รับการลดหย่อนโทษ บางคนยอมรับสารภาพทุกข้อกล่าวหาแต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อโทษสูงสุดไม่ได้รับการผ่อนปรน บางคนยอมรับสารภาพและรู้สึกผิดบาปต่อการกระทำของตนเองและพร้อมที่จะรับโทษ บางคนยอมจำนนโดยหลักฐานและสำนึกผิดในช่วงสุดท้ายของชีวิต บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีความชั่วหรือเลวมาตั้งแต่กำเนิด การสำนึกในความผิดหรือรู้สึกผิดต่อการกระทำของตนเองนั้นอย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ในตัว แล้วอะไรที่เป็นเหตุให้พวกเขาทำผิดถึงขั้นได้รับโทษสูงสุดทางกฎหมาย ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการความสันติและสงบสุข อาจเป็นไปได้ที่พวกเขาถูกบีบคั้นจากสังคม หรือมีความจำเป็นในการทำแบบนั้น แต่สุดท้ายแม้ว่าเขาจะสำนึกผิดมากแค่ไหนกฎหมายที่เป็นตัวอักษรไร้ซึ่งความรู้สึกและจิตใจก็ตัดสินไปตามผลของการกระทำ
คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็น”นักฆ่า”แม้จะถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็ยังคงรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตได้คุ้มค่าที่สุดแล้ว พวกเขาถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร ชุมชนที่พวกเขาเติบโตขึ้นมามีตัวอย่างความรุนแรงที่ทำให้พวกเขาเห็นว่าการทำร้ายคนอื่น การฆ่าคนเป็นเรื่องธรรมดา ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนาหรือไม่ได้รับความสนใจจากสังคมแวดล้อมเลยอย่างนั้นหรือ ความเท่าเทียมของทุกคนทุกชุมชนในสังคมอยู่ที่ไหน แล้วสังคมจะมีความปลอดภัย สงบสุข และเกิดสันติได้อย่างไร ในเมื่อยังคงหลงเหลือจุดหนึ่งที่มืดมัวในโครงสร้างสังคมนั้นๆ
ไม่ว่าเรื่องเล่าเหล่านี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ไม่ว่าเขาจะเป็นแพะรับบาป เป็นผู้ที่สำนึกผิด หรือตั้งใจกระทำผิด สิ่งสำคัญคือเราควรจะแก้ไขความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคม ทั้งกระบวนการยุติธรรม สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมสมาชิกในสังคม เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน
รายการอ้างอิง :
ยุทธ บางขวาง. คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร. กรุงเทพฯ: คิงแรท. 2555.