เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา นายรียาด ข่าน วัย 21 ปี และนายรูฮุล อะมิน วัย 26 ปี ซึ่งเป็นพลเมืองอังกฤษทั้งคู่ ถูกกองทัพอากาศอังกฤษเจาะจงใช้โดรนโจมตีจนเสียชีวิตที่เมืองรัคคาในซีเรีย รัฐบาลอังกฤษระบุว่านายข่านซึ่งเป็นนักรบของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส วางแผนโจมตีอังกฤษ อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าได้สังหารพลเมืองของตนเอง โดยไม่มีความชัดเจนว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกกฎหมายหรือไม่
รัฐบาลอังกฤษระบุว่า การตัดสินใจสังหารนายข่านเป็นไปตามมาตรา 51 ในกฎบัตรสหประชาชาติที่กำหนดว่าชาติสมาชิกมี “สิทธิในการป้องกันตนเองตามธรรมชาติ” ตัวนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเองยืนกรานว่า อัยการสูงสุดระบุชัดว่าการตั้งใจสังหารนายข่านนั้น “ชัดเจนว่าอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย” โดยรัฐบาลอังกฤษมีหลักฐานว่า นายข่านเตรียมลงมือโจมตีก่อการร้ายในอังกฤษ ขณะที่ รมว.กลาโหมอังกฤษก็ร่วมประสานเสียงว่า เป็นการป้องกันตนเองโดยถูกกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม บรรดานักการเมืองอาวุโสและกลุ่มสิทธิมนุษยชนยังมีข้อเป็นห่วง โดยนายโดมินิค กรีฟ อดีตอัยการสูงสุด เรียกร้องให้ทบทวนตรวจสอบแง่มุมทางกฎหมายเกี่ยวกับการตัดสินของรัฐบาลในเรื่องนี้ ขณะที่นายเดวิด เดวิส ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวถีฟเองระบุว่า กรณีนี้ถือได้ว่ารัฐบาล “วิสามัญฆาตกรรม” พลเมืองตนเองโดยไม่มีการตรวจสอบเสียก่อน
ขณะที่ นายโจชัว โรเซนเบิร์ก นักวิจารณ์ด้านกฎหมาย เขียนบทความลงใน นสพ.การ์เดียน ชี้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ “ดูจะเป็นไปภายใต้หลักกฎหมาย” เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ต่างจากกฎหมายอังกฤษ ไม่ได้กำหนดให้ต้องรอจนกระทั่งฝ่ายผู้บุกรุกลงมือก่อเหตุก่อนแล้วจึงค่อยตอบโต้ ตราบใดที่เป็นการกระทำที่พอเหมาะพอควรและจำเป็น แต่ในเวลาเดียวกันภายใต้มาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ กำหนดให้ต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การโจมตีกำลังเกิดขึ้นหรือจวนเจียนจะเกิดขึ้นแล้ว
ด้าน ศ.ฟิลิป แซนด์ส นักวิชาการด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่าการที่รัฐบาลอังกฤษใช้มาตรา 51 ประกอบการตัดสินใจโจมตีครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็น “แนวทางใหม่” เพราะที่ผ่านมา อังกฤษจะใช้กฎหมายอาญาเข้ามาดูแลในกรณีทำนองเดียวกันนี้ ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ เขาเห็นว่าอังกฤษกำลังนำ “แนวปฏิบัติแบบภาวะสงคราม” ตามอย่างสหรัฐมาใช้ ศ.แซนด์ส เห็นว่า การนำข้ออ้างเรื่องการป้องกันตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ มาใช้กับการวางแผนโจมตีซึ่งยังไม่เกิดในพื้นที่ห่างไกลนั้น ไม่ถือว่ามีเหตุผลเพียงพอ เพราะจะต้องเป็นการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง ๆ และต้องมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ เขาเรียกร้องให้อัยการสูงสุดออกแถลงการณ์ชี้แจงสถานะทางกฎหมายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ในเวลาเดียวกันทั้งพรรคเลเบอร์ และลิเบอรัล เดโมแครต เรียกร้องให้รัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลทางกฎหมายที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ แต่รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธ ซึ่ง แคท เครก แห่ง Reprieve กลุ่มสิทธิมนุษยชนทางกฎหมายระบุว่า สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ “มอบอำนาจลับที่ไม่อาจตรวจสอบได้ให้แก่ตนเอง” ในการสังหารใครก็ได้ เมื่อใด และ ณ ที่ใดก็ได้ในโลก
มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษต้องขอความเห็นชอบจากสภาก่อนจะลงปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาสามัญชนเคยลงมติไม่ยอมรับการโจมตีทางอากาศในซีเรียมาแล้ว อย่างไรก็ดี นายโรเซนเบิร์ก นักวิจารณ์ด้านกฎหมายเห็นว่า แม้จะมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ต้องนำเรื่องนี้เข้าหารือในสภา แต่แท้จริงแล้วไม่มีข้อกฎหมายใด ๆ บังคับให้ต้องทำเช่นนั้น
อ่านเพิ่มเติมที่ : บีบีซีไทย – BBC Thai
www.bbc.co.uk/thai/index.shtml