ไทยกลับคืนสู่เวทีโลกอีกครั้ง: ปณิธาน วัฒนายากรชี้ผลที่ได้จากการไปร่วมประชุมยูเอ็นของไทยที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายปณิธาน นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ความเห็นถึงเรื่องผลของการที่ประเทศไทยไปร่วมการประชุมของสหประชาชาติที่จบลงเมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ในภาพรวมเป็นการนำตัวเองกลับเข้าสู่เวทีโลกอีกครั้ง จากการที่สหประชาชาติเปิดโอกาสให้ บวกกับการที่ไทยเองก็สามารถแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในอันที่จะแสดงบทบาทได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ไทยเปิดนำในที่ประชุมในเรื่องของการพัฒนาซึ่งเชื่อมโยงเอาเรื่องของความมั่นคงและด้านสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกันและเป็นการพัฒนาที่เน้นไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ด้อยโอกาสสร้างความขัดแย้ง เป็นการพัฒนาที่ใช้หลักใหญ่คือมีความสมดุลและไม่เพิ่มความขัดแย้ง อันเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกจำนวนมากหลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะในเวทีใหญ่ของสหประชาชาติที่ถือว่าเป็นเวทีของประเทศเล็กและที่กำลังพัฒนาด้วยกัน เพราะหลายประเทศต่างก็สนใจในประเด็นเรื่องของการพัฒนาที่สมดุล แต่ยังขาดหลักการ ในขณะที่สิ่งที่ไทยเสนอคือการพัฒนาโดยยึดหลักความพอเพียง รอบด้าน ซึ่งสำหรับไทยก็ยังถือว่าเป็นความท้าทายด้วย จึงเป็นเรื่องที่นานาชาติสนใจ รอดูตัวอย่างจากไทย
นายปณิธานกล่าวว่า การแสดงศักยภาพของไทยในเรื่องนี้ว่าไม่ได้เป็นผลสำเร็จของรัฐบาลใดรัฐบาลเดียว แต่เป็นของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา บวกกับการทำงานของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน ทุกภาคส่วน การที่พล.อ.ประยุทธ์นำเรื่องนี้ไปพูดในที่ประชุมของสหประชาชาติทำให้เป็นความสนใจร่วมของหลายประเทศที่อยู่ในสถานะประเทศยากจนที่ยกระดับขึ้นมามีรายได้ปานกลางแบบไทย การได้รับความสนใจในกลุ่มประเทศจี 77 จะทำให้ไทยได้เป็นผู้ประสานงาน มีหลายเรื่องที่จะต้องผลักดันที่เป็นประเด็นร่วม ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างสมดุล จะทำอย่างไรจึงจะไม่กระทบผู้ด้อยโอกาส และไทยจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและมหาอำนาจ รวมทั้งประเทศที่ยังต้องคิดในเรื่องเสถียรภาพและความมั่นคง ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการอุดหนุนเกษตรกรจะทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้ขัดกติกาโลก ดังนั้นเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องทำงานหนักสานต่องานในประเด็นต่างๆที่ทำงานร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นได้โดยที่ไม่ไปเผชิญหน้ากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นักวิชาการรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า ในเวลานี้แม้ว่าไทยจะยังไม่กลับสู่สภาพปกติแต่ก็มีโรดแมปชัดเจน ในด้านความมั่นคงนั้น แม้ว่าเมื่อปีที่แล้วหลายฝ่ายอาจจะกริ่งเกรง แต่ในปีนี้เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์ของไทยกระเตื้องขึ้น และแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีสามารถบริหารจัดการได้ เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ทั้งหมดนี้เหนือความคาดหมายของหลายฝ่ายที่ประเมินไว้ต่ำว่าไทยไปร่วมประชุมหนนี้จะไม่ได้อะไรหรือแม้กระทั่งจะไม่สามารถหยิบยกอะไรขึ้นพูดได้
นายปณิธานบอกว่า นอกเหนือจากที่พูดเรื่องของการพัฒนาที่ยึดหลักไม่สร้างความขัดแย้งแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เปิดประเด็นเรื่องจะนำทหารไปช่วยในปฏิบัติการรักษาสันติภาพซึ่งเป็นเรื่องที่ยูเอ็นเองต้องการความช่วยเหลือเพราะระยะหลังมีความจำเป็นจะต้องใช้กำลังในการรักษาสันติภาพมากขึ้น ไทยก็สามารถแสดงบทบาทในเรื่องนี้ได้ ส่วนในเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็ยึดโยงเอาไว้กับโรดแมปของการปฏิรูป ถือว่าทั้งหมดที่ไปพูดไว้กับสหประชาชาติเป็นเสมือนสัญญาประชาคมกับนานาชาติที่เมื่อกลับมาจะต้องผลักดันอย่างจริงจัง ส่วนสหประชาชาติเองก็คงอยากให้ไทยมีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้ง ซึ่งจากการไปร่วมประชุมหนนี้เห็นได้ชัดว่า ไทยยังมีศักยภาพ
“สหประชาชาติไม่ใช่เวทีของมหาอำนาจ มันเป็นเวทีประเทศกำลังพัฒนา เมื่อพูดเรื่องการพัฒนาคนที่เขาได้ยินเขาก็ตั้งใจฟังกันมาก กระแสต่อต้านก็น้อยกว่าที่คาด แต่ที่มีคนไปแสดงจุดยืนต่างๆก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกับนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำจะได้เห็นความเห็นที่แตกต่าง ส่วนคนที่เห็นต่างก็อาจจะมองว่า ที่พูดนี้จะจริงมั้ย ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่การประเมินของแต่ละฝ่ายที่ต่างกัน”
“ไทยกลับมาแล้ว กลับมาแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศอีก” พร้อมกับระบุว่ายูเอ็นก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องประชาธิปไตยขึ้นมาพูด สิ่งที่พูดคือเรื่องสิทธิมนุษยชน และการที่ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องประชาธิปไตยนั้นก็เข้าใจได้ เพราะว่าที่ประชุมยูเอ็นเป็นเวทีของประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้มีประชาธิปไตยในความหมายแบบตะวันตก ประเทศเหล่านี้สนใจประเด็นเรื่องของการพัฒนา มหาอำนาจเองอาจจะคุมในเรื่องเวทีความมั่นคง แต่เวทีใหญ่ของยูเอ็นเป็นเวทีของประเทศขนาดเล็ก
กับคำถามที่ว่าไทยได้พบหารือกับผู้นำจีนแต่พบกับผู้นำสหรัฐฯเพียงสั้นๆเท่านั้น ภาพของไทยยังคงไม่สมดุลในเรื่องของการสมาคมกับมหาอำนาจหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า การทูตของไทยเป็นการทูตที่ยึดความสมดุลมาโดยตลอด แต่เรื่องความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แต่ละรายมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันออกไป กับสหรัฐฯแม้ว่าจะดูลดลงไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงยังแนบแน่นกันอยู่ รวมทั้งในด้านความมั่นคง เพียงแต่ว่าในเรื่องการค้านั้นความสัมพันธ์ด้านการค้ากับญี่ปุ่นและจีนดูโดดเด่นกว่าในระยะหลังเพราะการติดต่อในเรื่องการค้ากับสองประเทศนี้มีมากกว่ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะกับจีนซึ่งเน้นหนักในเรื่องการค้าขาย ขณะที่กับญี่ปุ่นเป็นประเด็นในเรื่องการลงทุน ส่วนอินเดียและรัสเซียเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากเกินล้าน ขณะที่นักท่องเที่ยวสหรัฐฯนั้นไม่ถึง “คนอาจจะคิดว่าเราเลือกข้าง แต่เราไม่ได้เลือก การทูตของเราก็ไม่เคยเลือกฝ่าย เราทำไม่ได้อันตรายมาก แต่จีนมีการทูตที่ฉลาดเป็นมิตร เราเปิดกว้าง เพราะฉะนั้นโอกาสที่เวลานายกรัฐมนตรีไปไหนจะได้พบปะเพราะสนิทกันก็มีมาก ถือเป็นเรื่องปกติ”