ธนาคารโลกระบุ สิ้นปี 2015 นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงที่สุด มีจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 10
ธนาคารโลกใช้ตัวเลขรายได้ใหม่ คือ 1.90 ดอลลาร์สหหรัฐต่อวัน ซึ่งเพิ่มจากตัวเลขเดิมคือ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันในการกำหนดระดับความยากจนอย่างรุนแรงที่สุดนี้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสัดส่วนของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในความยากจนอย่างรุนแรงที่สุดจะลดลงจากร้อยละ 12.8 ในปี 2012 เป็นร้อยละ 9.6
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกยังมีความกังวลยิ่งต่อ “ความยากจนของโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตซับซาฮาราแอฟริกา (sub-Saharan Africa)”และแม้ว่ามีการวางแผนไว้ให้สัดส่วนของประชากรที่ยากไร้ในเขตซับซาฮาราลดลงจากร้อยละ 42.6 ในปี 2012 มาเป็นร้อยละ 35.2 ภายในสิ้นปี 2015 ก็ตาม แต่ตัวเลขนี้ยังคงแสดงถึงจำนวนผู้ยากจนประมาณครึ่งหนึ่งของโลก
ธนาคารโลกระบุว่าแนวโน้มตัวเลขที่ต่ำลงนี้มีสาเหตุจากอัตราการเติบโตอย่างเข้มแข็งของประเทศที่กำลังพัฒนา และการลงทุนในด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม
นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า “พวกเราจะเป็นคนรุ่นแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่สามารถยุติความยากจนอย่างรุนแรงที่สุดได้”
อย่างไรก็ตาม นายคิมเตือนว่าการต่อเนื่องของความก้าวหน้านี้จะ “ยากลำบากมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้ากว่านี้, ความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน, ความขัดแย้งต่างๆ , อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว และผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของภาวะโลกร้อน”และยังเตือนด้วยว่า ความยากจนได้ “ดิ่งลึกและรุกล้ำมากขึ้นทั้งในประเทศที่มีความขัดแย้ง หรือประเทศที่พึ่งพิงสินค้าส่งออกมากเกินไป”