ไทยภายใต้เกมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ VS ปรับสมดุลสู่เอเชีย
เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้เมื่อสื่อของทางการจีนได้นำเสนอว่ารัฐบาลจีนเตรียมที่จะทุ่มงบประมาณกว่า 1 ล้าน ๆ บาทเรื่องการขุดคลองคอดกระให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเส้นทางสายไหมยุคใหม่
ขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่ได้เข้ามาทาบทามให้ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือที่เรียกว่า ทีพีพี อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐที่เรียกว่าปรับสมดุลสู่เอเชีย
ซึ่งนั่นก็หมายความว่าวินาทีนี้ไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างแท้จริง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าว ถึงกรณีที่จีนสนับสนุนให้ไทยขุดคอคอดกระ โดยนายกรัฐมนตรีได้ถามย้อนกลับว่า ใครเป็นคนเสนอ ตนเห็นเพียงแต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ก็รอให้รัฐบาลเขาเสนอเข้ามาก่อน วันนี้ยังไม่เห็นรัฐบาลจีนเสนออะไรเข้ามา
เมื่อถามย้ำว่า หากรัฐบาลจีนเสนอเข้ามาก็จะมีการพิจารณาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องมาพูดคุยกัน แล้วมันดีหรือไม่ ต้องดูเรื่องความมั่นคงด้วยไหม ถ้ามองเพียงประโยชน์อย่างเดียว แล้วโทษมันมีหรือเปล่า
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าต้องดูเรื่องความมั่นคงด้วยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องดู ถ้าแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 2 ตอน มันคุ้มหรือไม่และจะดูแลไหวไหม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ไทยยังไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(TPP) ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความพยายามของประเทศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะแสวงหาความร่วมมือทางการค้า
ซึ่งในประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรออกมา มันมีเรื่องของยา เวชภัณฑ์ การเข้าถึง การถูกควบคุม และผลที่จะได้รับมีอะไรบ้าง ก็มีเรื่องเงินทุน วันนี้ก็มีหลายกอง มีหลายส่วน เราก็ต้องพิจารณา ต้องไม่สร้างภาระให้ประเทศ ไม่ใช่ต้องยอมทุกอย่าง
วกกลับมาติดตามยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่เรียกว่าปรับสมดุลสู่เอเชียซึ่งส่วนหนึ่งของแผนการก็คือข้อตกลงหุ้นส่วน ทีพีพี โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐก็สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเพิ่มอีก 12 ประเทศในคาบมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งนับรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย สิงคโปร และเวียดนาม
ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกานั้นกำลังเขยิบเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยก็ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น
รัฐมนตรีพาณิชย์ของ 12 ประเทศบรรลุผลการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) กันได้แล้วในการเจรจาอย่างมาราธอนที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจียของสหรัฐ ที่ล่วงเลยกำหนดเข้าสู่วันที่ 5 และรูดม่านปิดลงได้ในเวลา 05.00 น. วันจันทร์ ซึ่งตรงกับช่วงค่ำวันเดียวกันของไทย
ความตกลงเอฟทีเอ ซึ่งผลักดันโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และใช้เวลาเจรจาต่อรองกันอย่างเคร่งเครียดนาน 5 ปี จะครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจโลกถึง 40% ฝ่ายสนับสนุนทีพีพีกล่าวว่า เขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลลาร์ในหมู่ชาติสมาชิก แต่ฝ่ายวิจารณ์โต้แย้งว่าการเจรจาต่อรองกระทำกันอย่างลับๆ และเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทใหญ่เป็นสำคัญ
ข้อตกลงนี้รวมถึงการลดภาษีศุลกากรสินค้านับหมื่นชนิด, การเปิดตลาด และการกำหนดมาตรฐานร่วมกันในการปกป้องการค้าการลงทุนใน 12 ประเทศ ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้กล่าวยกย่องการบรรลุข้อตกลงทีพีพีว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ ที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐกับหุ้นส่วนและพันธมิตรในภูมิภาค ซึ่งจะสำคัญอย่างยิ่งต่อศตวรรษที่ 21
บารัค โอบามา ยังกล่าวอีกว่า "เมื่อผู้ที่อาจเป็นลูกค้าของเรามากกว่า 95% อยู่นอกพรมแดนของเรา เราไม่อาจปล่อยให้ประเทศอย่างจีน ตรากฎเศรษฐกิจโลก"
"เราควรเป็นผู้ร่างตรากฎเหล่านี้ เปิดตลาดใหม่ๆ แก่ผลิตภัณฑ์จากอเมริกา ในขณะเดียวกันก็ตั้งมาตรฐานระดับสูงเพื่อปกป้องแรงงานและรักษาสิ่งแวดล้อมของเรา"
จีนซึ่งเป็นประเทศเอเชียแปซิฟิกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ ไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี
ซึ่งภายหลังข่าวการบรรลุข้อตกลง กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้กล่าวถึง "ข้อตกลงการค้าเสรีหนึ่งในฉบับสำคัญของเอเชีย-แปซิฟิก" นี้ว่า จีนหวังว่าทีพีพีและการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอื่นๆ ในภูมิภาคนี้จะสามารถเสริมส่งกันและกัน และมีส่วนช่วยการค้า, การลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก"
ผู้นำหลายประเทศในกลุ่มทีพีพีต่างยกย่องข้อตกลงนี้เช่นกัน นายกฯ สตีเฟน ฮาร์เปอร์ กล่าวว่า เป็นข้อตกลง "ประวัติศาสตร์" เปิดทางให้เกษตรกรและภาคพลังงานแคนาดาเข้าถึงตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น ส่วนนายกฯ ชินโซ อาเบะ กล่าวว่า ทีพีพีแสดงถึง "ศตวรรษใหม่ของเอเชีย-แปซิฟิก" แต่เขตการค้าเสรีนี้จะมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น หากจีนเข้าร่วมด้วยในอนาคต
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ยอมผ่อนปรนอย่างมาก โดยยอมเปิดตลาดรับผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ เช่น ออสเตรเลีย, สหรัฐ และนิวซีแลนด์ ส่วนสหรัฐยอมลดภาษีศุลกากรชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศนอกกลุ่มทีพีพี เช่น ในจีนและไทย
ต่อจากนี้ไป รัฐบาลต่างๆ ต้องนำข้อตกลงนี้ไปนำเสนอต่อประชาชนและต่อรัฐสภาเพื่อให้ลงสัตยาบัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าหลายประเทศจะเผชิญการคัดค้านอย่างแรงกล้า รวมถึงสหรัฐ สมาชิกสภาคองเกรสคนสำคัญ
หลังจากที่เมื่อวานนี้นั้นทางสำนักข่าวทีนิวส์ได้นำเสนอยุทธศาสตร์เส้นทางสายใหม่ยุคใหม่ของจีนไปเป็นเรียบร้อย เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักยุทธ์ศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่าการปรับสมดุลสู่เอเชีย ซึ่งได้มีการใช้ ทีพีพี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
TPP ถือเป็นหนึ่งในสองปัจจัยที่เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” หรือที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียแปซิฟิก และถือเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐในทางเศรษฐกิจ ส่วนอีกปัจจัยที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือในด้านการทหาร โดยสหรัฐพยายามกีดกันจีนให้อยู่นอกวง หวังจะโดดเดี่ยวจีน แต่แผนการอันนี้ยังไม่ได้ผล ประเทศที่เข้าร่วมก็ยังไม่มาก เจรจากันมาหลายปีแล้วก็ยังตกลงกันไม่ลงตัว
ขณะที่ ในที่ประชุมเอเปกเมื่อปีกลาย จีนได้เสนอให้บรรดาสมาชิกเอเปกร่วมกันจัดตั้ง ธนาคาร AIIB เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บนเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก และในทวีปอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง รวม 57 ประเทศ บรรดาชาติที่เตรียมจัดตั้ง TPP เกือบทั้งหมดก็ได้เข้าร่วม นอกจาก สหรัฐและญี่ปุ่น แผนการกีดกันจีนในการจัดตั้ง TPP จึงไม่ได้ผล
ทั้งนี้ จากกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุเรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement – TPP ของประเทศไทย ว่า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบของ TPP ในฐานะเป็นหนึ่งในความตกลงแม่บทสำหรับการจัดทำความตกลงด้านการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก
ทั้งนี้ น่าจะมีหลายประเด็นที่อ่อนไหวต่อไทย อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน การระงับข้อพิพาท นอกจากนี้ ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้เคยให้ข้อสังเกตกับกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2553 เนื่องในโอกาสเข้าพบรองปลัดกระทรวงฯ ว่า ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความกังวลเกี่ยวกับ TPP เพราะจะทำให้การแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นมาก และจะทำให้มาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนไทยแข่งขันได้ยาก
ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือTPP ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เพื่อก้าวเข้าไปสู่การปรับสมดุลสู่เอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเป็นแผนที่สหรัฐวางเอาไว้ เพื่อนำมาต่อกรกับแผนยุทธศาสตร์ เส้นทางสายไหมของจีน โดยมีหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญคือการเข้ามาแทรกแซงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อต่อการเดินทางทั้งระดับประเทศและระดับทวีป
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2558 แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ กล่าว ว่า วอชิงตันกำลังเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุล” สู่เอเชีย-แปซิฟิก โดยที่มีการลงทุนในอาวุธเทคโนโลยีระดับไฮ-เอนด์ เป็นต้นว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลใช้เทคโนโลยีสเตลธ์, การกระชับความร่วมมือทางการทหารกับญี่ปุ่น, และการขยายความเป็นหุ้นส่วนทางการค้ากับชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ระบุว่า มีความมุ่งมั่นผูกพันเป็นการส่วนตัว ที่จะดำเนินการกำกับดูแลขั้นตอนใหม่ของยุทธศาสตร์การปรับสมดุลนี้ ซึ่งจะทำให้อเมริกามีปฏิสัมพันธ์ในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นและแตกแขนงกว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้ ในแอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ยังกระตุ้นรัฐสภาสหรัฐฯ ให้อำนาจประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อเร่งรัดการเจรจาทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ครอบคลุม 12 ชาติ โดยเขาระบุว่า ช้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อการจ้างงานและการเติบโตในอเมริกา และคาดว่า จะหนุนให้การส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้น 123,500 ล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า
ซึ่งทีพีพีคือหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดของความพยายามของคณะบริหารชุดนี้ในการถ่ายโอนความสนใจไปยังเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากมุ่งเน้นสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานมากว่าสิบปี
ทั้งจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ประกอบกับข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวทีนิวส์ ได้นำเสนอว่าสหรัฐมีความตั้งใจจริงที่จะ หาผลประโยชน์ของประเทศไทย ตามแผนการปรับสมดุลสู่เอเชียแปซิฟิก