ลูกจ้างเฮถ้วนหน้า !! “ประกันสังคม” เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่หลายกรณี เริ่ม 20 ต.ค.นี้ ..เช็คเลย!!
ลูกจ้างเช็คด่วน !! “ประกันสังคม” เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนหลายกรณี หลังพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ4 ปี2558 ประกาศลงราชกิจจาฯ แล้ว มีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.58 นี้เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.58 มีรายงานว่า สำนักงานประกันสังคม ได้ขยายและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ประกันสังคม เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศ (20 ต.ค.58) โดยได้เพิ่มและขยายขอบเขตการได้รับสิทธิ์ในผู้ประกันตนดังต่อไปนี้
กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ปัจจุบัน : มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย
ฉบับใหม่เพิ่ม : ค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์
กรณีคลอดบุตร
ปัจจุบัน : มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เหมาจ่าย ครั้งละ 13,000 บาท + เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน
ฉบับใหม่เพิ่ม : มีสิทธิได้รับไม่จำกัดจำนวนครั้ง
กรณีสงเคราะห์บุตร
ปัจจุบัน : ได้รับสำหรับบุตรอายุ 0 – 6 ปี คราวละ ไม่เกิน 2 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาท ต่อคน
ฉบับใหม่เพิ่ม : มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน
กรณีว่างงาน
ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออก
ฉบับใหม่เพิ่ม : ให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตน กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม
ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผู้ทุพพลภาพ
ปัจจุบัน : ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีตาย
ฉบับใหม่เพิ่ม : สิทธิประโยชน์กรณีตายแก่ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง/ ผู้ทุพพลภาพ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ
ผู้จงใจให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย
ปัจจุบัน : ไม่ได้รับความคุ้มครอง
ฉบับใหม่เพิ่ม : สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และตาย หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น
กรณีทุพพลภาพ
ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนต้องสูญเสียสมรรถภาพของร่างกายร้อยละ 50 ถึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ
ฉบับใหม่เพิ่ม : ผู้ประกันตนซึ่งสูญเสียสมรรถภาพ ไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกายมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพ
ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538
ปัจจุบัน : ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 15 ปี
ฉบับใหม่ : ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิต
กรณีตาย เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย
แก้ไข : ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่สามสิบหกเดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึงหนึ่งร้อยยี่สิบเดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้าง รายเดือน ที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วยสี่ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยยี่สิบเดือนขึ้นไปให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วยสิบสอง
ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม
ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท (บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส) ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน
ฉบับใหม่ : ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา )
ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน
ปัจจุบัน : ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี
ฉบับใหม่ : จาก 1 ปี เป็น 2 ปี
ความคุ้มครองลูกจ้างส่วนราชการ
ปัจจุบัน : คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
ฉบับใหม่ : ขยาย ความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ
ความคุ้มครองลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
ปัจจุบัน : ไม่คุ้มครอง
ฉบับใหม่ : ขยาย ความคุ้มครองให้กับลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีอีกสิทธิประโยชน์อีกหลายข้อที่ผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคมสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมHTTP://WWW.SSO.GO.TH/WPR/HOME.JSP หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วย 1506