ไหนว่าคนโกงต้องไม่มีที่ยืน?
ยังคงเป็น Talk of the town กับเรื่องที่นายกฯและหัวหน้า คสช.สั่งให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการเรียกค่าเสียหายนักการเมืองผู้เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวที่นัยว่าทำให้รัฐเสียหายไปกว่า 5.1 แสนล้าน!
โดยให้กระทรวงการคลังใช้อำนาจตามมาตรา 12 ของ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 สั่งให้กลุ่มบุคคลที่ทำให้รัฐเสียหายร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่ว่านี้ หาไม่แล้วก็จะใช้กฎหมายยึดทรัพย์รูปแบบเดียวกับกรณีความเสียหายจากการปกป้องค่าเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยฟ้องอดีตผู้ว่าการธปท.คือนายเริงชัย มะระกานน์ เรียกค่าเสียหายกว่า 150,000 ล้านบาทมาแล้ว
ฟังแล้วก็ให้ระทึกไปกับการเอาจริงเอาจังของรัฐบาล คสช.ชุดนี้ หลังจากก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติให้กระทรวงไอซีทีไล่เบี้ยให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องเรียกความเสียหายจากบริษัทเอไอเอสร่วมแสนล้าน จากการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่นัยว่าทำให้รัฐเสียหายเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ชี้ได้มูลความผิดอดีตผู้บริหารทีโอทีต่อกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ว่า
ทั้งที่กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมที่ว่านั้น ทุกค่ายมือถือหรือแม้กระทั่งโทรพื้นฐานต่างมีการแก้ไขกันจนปรุแก้ไขกันจนพรุน แต่ "หวยล็อก" กลับมาลงเอาที่ค่ายเอไอเอสเพียงลำพัง ซึ่งคงต้องว่ากันเป็นมหากาพย์เพราะอย่างไรเสียท้ายที่สุดของการไล่เบี้ยก็ต้องไปจบลงที่ "อนุญาโตตุลาการ" ที่จะเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดกรณีพิพาทที่ว่านี้
จะออกหัว-ออกก้อยกันอย่างไร คงได้ลุ้นระทึกกันอีกหลายๆ ๆ เฮือก
เห็นความขยันขันแข็งเอาจริงเอาจริงของ ป.ป.ช.ที่กำลัง “ตีปี๊บ” ไล่บี้อดีตผู้บริหารหน่วยงานรัฐทีโอทีข้างต้นแล้ว เลยอยากฝาก “ท่านประธานปานเทพ” ที่เพิ่งได้รับการตอบแทนคุณความดีจากหัวหน้า คสช.ให้นั่งเป็นประธาน ป.ป.ช.ต่อไปไหนๆ อยากจะพิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติแล้ว ช่วยกรุณาไปค้นหา “แฟ้มไต่สวน” สัญญาทำการตลาดมือถือ 3 จี“กสท.-ทรูมูฟ” เพื่อให้บริการมือถือ 3 จีด้วยเทคโนโลยี HSPA ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนที่มี ศ.เมธี ครองแก้ว กรรมการป.ป.ช.เป็นประธานเมื่อปี 2555 ดูที
จะได้ไม่ถูกครหา กับการทำงานแบบ “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด” เอาได้!!!
เพราะนัยว่าผลสอบของอนุกรรมการไต่สวนที่แถลงกันใหญ่โตเป็นวรรคเป็นเวรเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นั้นเขามีมติเอกฉันท์ว่า โครงการนี้กระทำผิดกฎระเบียบ กฎหมายหลายต่อหลายฉบับพร้อมกับชี้มูลความผิดอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกรรมการบอร์ด กสท.ในขณะนั้นอีกนับสิบคน ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ตัวอดีตผู้บริหารแคทที่ว่านั้นยังออกมายอมรับด้วยว่าถูกบีบให้ต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยภาระจำยอม จากเดิมที่แคทจะเป็นผู้ซื้อกิจการฮัทชิสันซีเอทีไวร์เลส ที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่าย 3 จี แต่ก็มาถูกรัฐบาลและกระทรวงไอซีทีในเวลานั้นสั่งฉีกสัญญาทิ้งเพื่อประเคนโครงการไปให้เอกชนดำเนินการแทน
แต่ล่วงเข้ามาวันนี้กว่า 3 ปีเข้าไปแล้ว ผลไต่สวนของอนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ว่าหายไปไหน ทำไมแฟ้มไต่สวนเจ้ากรรมที่ว่าถึง “หายเข้ากลีบเมฆ” จนป่านนี้ยังส่งไปไม่ถึงมือคณะ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จนทำเอาวงการโทรคมนาคมและต่อใคร “อึ้งกิมกี่” ตกลงแฟ้มเจ้ากรรมที่ว่าหายไปไหน
หนักข้อเข้าอดีตผู้บริหารบริษัทกสท.โทรคมนาคมที่ว่า ยังได้รับการปูนบำเหน็จแต่งตั้งจากรัฐบาล คสช.ชุดนี้ให้เป็นที่ปรึกษา รมต.คมนาคมเสียอีก
อ้าว!ก็ไหนนายกฯและหัวหน้า คสช.ประกาศกร้าวรัฐบาล คสช.ชุดนี้ยึดมั่นในนโยบายขจัดทุจริตคอร์รัปชั่นที่จะต้องไม่มีให้เห็นในรัฐบาลชุดนี้ คนโกงจะต้องไม่มีที่ยืนในสังคม แล้วไหง รมต.คมนาคมดอดไปตั้งอดีตผู้บริหารที่ยังมีคดีความอยู่ใน ป.ป.ช.เข้ามานั่งเป็นที่ปรึกษาเต็มตัวได้
ท่านนายกฯและหัวหน้า คสช.อย่าบอกว่าไม่เห็นนะ เพราะ ครม.ของท่านเพิ่งอนุมัติไปเมื่อวันที่ 8 กันยาที่ผ่านมานี่เอง!!!
ยิ่งเมื่อย้อนรอยไปพิจารณามติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก่อนหน้า (16 กรกฎาคม 2558) ที่ชี้มูลความผิดอดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีทีต่อกรณีมีส่วนอนุมัติแก้ไขสัมปทานดาวเทียมที่เปิดทางให้บริษัทชินคอร์ป ปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 51% เหลือ 40% ซึ่งก็ถูกศาลฎีกาชี้ขาดว่า เอื้อประโยชน์แก่บริษัทจนทำให้รัฐเสียหายด้วยเช่นกันนั้น
เมื่อสืบสาวราวเรื่องลงไปกลับพบว่า กระบวนการแก้ไขสัญญาที่ว่า หน่วยงานรัฐ และองค์กรตรวจสอบทุกหน่วยงานเท่าที่มีอยู่ในประเทศนี้ต่างก็รับทราบ เพราะรมต.ไอซีทีในเวลานั้นมีหนังสือตอบโต้กันไปมาหลายระลอก ก่อนจะไปสิ้นสุดลงที่สำนักงานเลขาธิการครม. (ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ที่มีหนังสือยับยั้งและส่งเรื่องกลับไปยังกระทรวงไอซีทีบอกว่า “ไม่อยู่ในเกณฑ์” ที่ต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.
แต่ไหงบทสรุปของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับมาลงเอยเอาที่อดีต รมต.ไอซีทีและขรก.ไอซีทีที่มีส่วนชงเรื่องนี้ซะงั้น แถมเมื่อตรวจสอบลึกลงไปยิ่ง “อึ้งกิมกี่” เพราะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบตรวจสอบสำนวนคดีนี้มีมติยืนยันว่ากรณีแก้ไขสัมปทานดาวเทียมนี้ ไม่ได้ทำหรือสร้างความเสียหายให้แก่รัฐ สอดรับกับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงไอซีที
แต่ก็กลับมาพลิก “ตาลปัตร” เมื่อบอร์ดใหญ่ ป.ป.ช.กลับฟันฉับไปคนละทิศ ทำเอามึนกันไปทั้งบาง ไม่รู้จะตั้งอนุกรรมการไต่สวนมาทำสวรรค์วิมารอะไรหากจะตั้งธงบี้กันแบบนี้ แถมตัวอดีตเลขาธิการ ครม.ในเวลานั้น กลับได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นประธานยกร่าง รธน. "ฉบับเศษกระดาษเปื้อนขี้"ที่ไม่มีมลทินแปดเปื้อนใดๆ
เรื่องแบบนี้ต้องถึงหู "ครูนราพร" แน่ครับท่านนายกฯ !!!