เตือนรัฐไล่เบี้ยสัมปทานเอไอเอส
เตือนรัฐไล่เบี้ยแก้สัมปทานทีโอที-เอไอเอส หวั่นลงเอยแบบค่าโง่คลองด่านอีก ผู้เชี่ยวชาญโทรคมนาคมชี้เหตุผลที่ “ไอซีที-ทีโอที” ไม่สามารถหักดิบฟ้องเรียกค่าเสียหายแก้ไขสัญญากับเอไอเอสกว่า 70,000 ล้านได้ เหตุมีมติคณะกรรมการกฤษฎีกาค้ำคออยู่ ชี้แม้กระบวนการแก้ไขสัญญาไม่ผ่าน ครม.แต่สัญญาแนบท้ายยังมีผลให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม เตือนรัฐระวังเสียค่าโง่ตามรอยบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านอีกระลอก
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ รมว.กระทรวงไอซีที และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เร่งรัดดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท แอดวาน์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กรณีมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานนับสิบครั้งในช่วงก่อนหน้าเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ประเด็นการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานนั้น ในส่วนของทีโอที มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ยังความเสียหายแก่รัฐนั้น ในส่วนของเอไอเอสที่มีการพูดถึงมากที่สุด คือการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 และ 7 ที่เปิดกว้างให้เอกชนนำโครงข่ายไปให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นร่วมใช้ (โรมมิ่ง) รวมทั้งยังแก้ไขสัญญาลดอัตราส่วนแบ่งรายได้สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน (พรีเพด) จาก 25-30% เหลือ 20% ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 77,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและกระทรวงไอซีทีเคยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ดำเนินการกับคู่สัญญาเอกชนนับ 10 ราย โดยมีการทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยบรรดาสัญญาสัมปทานสื่อสารต่างๆ ที่มีการแก้ไขกันจนปรุในระยะ 10-15 ปีที่ผ่านมา และผลจากการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎาดังกล่าวยังผลให้เส้นทางการไล่เบี้ยบอกเลิกสัญญาสัมปทานและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่เป็นไปตามที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐตั้งธงไว้ แต่กลับทำให้เรื่องคาราคาซังมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ทั้งนี้ เหตุผลที่ทำให้ทีโอทีไม่สามารถหักดิบฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ เพราะมีบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 0291/2550 และ 0292/2550 ลงวันที่ 18 พ.ค.50 ที่มีไปยัง รมว.ไอซีทีในขณะนั้นระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคมทำไว้กับคู่สัญญาเอกชนนั้น แม้จะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 ยังผลให้การแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาอันเป็นนิติกรรมทางการปกครองสามารถแยกออกจากข้อตกลงแนบท้ายสัญญาที่ทำได้ และข้อตกลงแนบท้ายที่ทำขึ้นยังคงมีผลอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน หรือสิ้นผลโดยเงื่อนเวลา หรือเหตุอื่น
“ผลการชี้ขาดของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าการเจรจาแก้ไขสัญญาที่กระทำระหว่างกันนั้นยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญา หาใช่จะไปตีความว่าทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ขาดรายได้จากค่าสัมปทาน เพราะสิ่งที่ชดเชยกันหลังการแก้ไขสัญญาดังกล่าวได้ทำให้รัฐเพิ่มโอปอเรเตอร์ผู้ให้บริการมือถือรายใหม่ และสามารถพัฒนาตลาดมือถือรูปแบบใหม่เพิ่มเข้ามาจนยังผลให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐเคยได้รับทะยานขึ้นจากอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำหลายเท่าตัว จึงไม่อาจจะชี้ขาดลงไปว่ารัฐสูญเสียประโยชน์ได้”
นอกจากนี้ หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็ไม่แน่ว่าผลที่ออกมาอาจทำให้รัฐอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบได้อีก เพราะหากถือว่าสัญญาแก้ไขเหล่านี้เป็นโมฆะต้องกลับไปสู่สถานะเดิมของทั้งสองฝ่าย หรือกลับไปใช้สัญญาหลักเดิม ผลที่จะตามมานั้นกลับจะทำให้ทีโอที และแคทต้องให้ความคุ้มครองสัมปทานมือถือเดิมที่กระทำกันเอาไว้ตั้งแต่แรก ไม่สามารถจะไปให้สัมปทานมือถือรายอื่นเพิ่มเติมได้เพราะอาจถูกฟ้องร้อง รวมทั้งหากจะมีการเลิกสัญญากันรัฐอาจต้องหาเงินนับแสนล้านคืนให้เอกชนเพื่อบอกเลิกสัญญาที่กระทำต่อกันตั้งแต่ต้นด้วย
“ที่สำคัญกระทรวงไอซีทีและทีโอทียังต้องตอบนักลงทุนไทยเทศด้วยว่าเหตุใดจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายแต่กับเอไอเอสเพียงรายเดียว ทั้งที่รัฐมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับคู่สัญญามือถือรายอื่นๆ อยู่ด้วยและทุกรายต่างก็มีการปรับลดค่าสัมปทานและให้บริการโรมมิ่งบนพื้นฐานเดียวกัน”
นอกจากนี้หากมีการนำเรื่องขึ้นฟ้องศาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย สุดท้ายก็ต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทข้างต้นนี้อยู่ดี ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า การนำเรื่องเข้าสู่การชี้ขาดในชั้นอนุญาโตตุลาการนั้น ผลจะออกมาอย่างไร แต่หากพิจารณาบทเรียนสัญญาสัมปทานโครงการรัฐอื่นๆ ที่เข้าสู่การชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วส่วนใหญ่ภาครัฐมีแต่พ่ายคดีอย่างกรณีค่าโง่คลองด่าน มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาทที่รัฐบาลในอดีตไปยกเลิกสัญญาเอกชนโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบนั้น น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีว่าหากรัฐบาลและไอซีทียังคงเดินหน้าฟ้องร้องคดีผลจะออกมาอย่างไร